ชำแหละเบื้องหลังอุตสาหกรรมหมูมะกัน USTR บังคับไทยซื้อเนื้อสุกร Made in USA

ชำแหละเบื้องหลังอุตสาหกรรมหมูมะกัน USTR บังคับไทยซื้อเนื้อสุกร Made in USA

13 ตุลาคม 2560 ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR ในการกดดันประเทศไทยและอีกหลายประเทศ ให้ต้องยอมรับซื้อเนื้อหมูและชิ้นส่วนหมูแปรรูปจากเมืองลุงแซม กลายเป็นหนึ่งใน “ประเด็นร้อน” ในรอบสัปดาห์ โดยเฉพาะหลังจากที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรไทยออกมารวมตัวแสดงจุดยืนต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

        ความพยายามของ USTR ในการกดดันไทยในเรื่องนี้ เกิดขึ้นเป็นระลอกอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกทั้งทางการทูตและการค้า  โดยประเทศไทยจะมีการกดดันผ่านการประชุม TIFA JC หรือ คณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council) ที่มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง โดย USTR มีการทวงกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทยในการประชุมปี 2559 ซึ่งปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยในปี 2559 การค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่า 36,551 ล้านเหรียญสหรัฐฯ    

          โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญลำดับต้นๆ ที่รัฐบาลอเมริกันต้องเดินหน้าบีบบังคับประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกให้ต้องยอมนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหมูจากสหรัฐฯนั้น สืบเนื่องมาจากการที่สหรัฐอเมริกามีสถานะเป็นประเทศผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของโลก รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่เกษตรกรอเมริกันกลับขายผลผลิตของตนไม่ออก เพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่นิยมรับประทานหมู ดังนั้น หนทางเดียวที่สหรัฐฯจะระบายเนื้อหมูที่ “ขายไม่ออก” จากภายในประเทศของตัวเอง ก็คือต้องใช้การกดดันบีบบังคับรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ให้รับซื้อไว้แทน และหากประเทศใดไม่ตอบรับก็จะต้องเผชิญกับสารพัดมาตรการตอบโต้ทั้งด้านการค้าและด้านอื่นๆ

        รายงานซึ่งอ้างฐานข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุในแต่ละปีสหรัฐฯมีการเลี้ยงหมูไม่ต่ำกว่า 125 ล้านตัว ถือเป็นดินแดนที่มีการเลี้ยงสุกรรายใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากจีน ซึ่งมีการเลี้ยงหมูไม่ต่ำกว่าปีละ 425.6 ล้านตัว จากจำนวนสุกรประมาณ 920 ล้านตัวที่เลี้ยงกันทั่วโลก แต่สหรัฐฯกลับครองแชมป์ในฐานะประเทศผู้ “ส่งออกเนื้อหมู” ได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก

        เมื่อเกษตรกรอเมริกันทำการเลี้ยงหมูไว้ไม่ต่ำกว่าปีละ 125 ล้านตัว จึงมิใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลสหรัฐฯจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาตลาดในต่างประเทศสำหรับรับซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูของตนให้ได้ เพราะกลุ่มเกษตรกรถือเป็นกลุ่มอาชีพที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อเวทีการเมืองในสหรัฐฯ และปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคตทางการเมืองของบรรดา ส.ส.และ ส.ว.อเมริกันจำนวนไม่น้อย ยังคงต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากฐานเสียงที่เป็นเกษตรกรเหล่านี้

        ด้านข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า แม้จีนจะเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงหมูมากที่สุดของโลก ไม่ต่ำกว่าปีละ 425.6 ล้านตัว แต่ด้วยจำนวนประชากรอันมหาศาลของจีนที่มีอยู่กว่า 1,353 ล้านคน จีนจึงยังจำเป็นต้องนำเข้าเนื้อหมูเพิ่มเติมอีกในแต่ละปี รวมถึงนำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศของตน

        รายงานข่าวระบุว่า เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯในการผลักดันเนื้อหมู “Made in USA” ออกนอกประเทศจึงหนีไม่พ้นจีน และตลาดอื่นๆ ในทวีปเอเชีย รวมถึงไทย เพราะภูมิภาคนี้ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีการบริโภคเนื้อหมูมากที่สุดของโลก

        ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย ต่างถูกรัฐบาลวอชิงตันกดดันอย่างหนักให้ต้องรับซื้อเนื้อหมูที่แปรรูปจากสุกรสายพันธุ์ซึ่งเกษตรกรอเมริกันนิยมเลี้ยง เช่น สายพันธุ์ Red Wattle, Poland China, Hereford, Guinea Hog, Duroc, Choctaw Hog, Chester White, American Yorkshire และสายพันธุ์ American Landrace

        หนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไปกดดันประเทศไทย และประเทศต่างๆ ให้ต้องรับซื้อเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องคือ บริษัท “สมิธฟีลด์ ฟูดส์ อิงค์” ที่ได้ชื่อว่า เป็นบริษัทผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของโลก (world's largest pork producer and processor) ซึ่งมีฐานอยู่ที่เมืองสมิธฟีลด์ ในมลรัฐเวอร์จิเนีย และมีฟาร์มหมูใน 26 มลรัฐทั่วประเทศ รวมถึงในเม็กซิโกและอีก 10 ประเทศในยุโรป

        ข้อมูลระบุว่า บริษัท สมิธฟีลด์ ฟูดส์ อิงค์ ซึ่งก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ปี 1936 มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 402,495 ล้านบาท) จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสุกรราว 27 ล้านตัวต่อปี

        อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่ามีการใช้สารเคมีหลายชนิดในอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูของสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของสุกรในรูปแบบต่างๆ โดยที่ผ่านมา สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐฯ (EPA) เคยตรวจพบร่องรอยของสารพิษนานาชนิดในฟาร์มหมูทั่วสหรัฐฯ รวมถึงฟาร์มของบริษัท “สมิธฟีลด์ ฟูดส์ อิงค์” ไม่ว่าจะเป็น สารแอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไซยาไนด์ ฟอสฟอรัส สารจำพวกไนเตรทและสารโลหะหนัก รวมถึงการให้ “ยาปฏิชีวนะ” เกินขนาด ด้วยข้ออ้างในการรักษาอาการป่วยและติดเชื้อของสุกร

        นอกจากการพบสารพิษปนเปื้อนในฟาร์มสุกรทั่วสหรัฐฯ ยังมีรายงานจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มที่ยืนยันว่า ปริมาณของเสียซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ที่มีที่มาจากฟาร์มเลี้ยงหมูของบริษัท “สมิธฟีลด์ ฟูดส์ อิงค์” เพียงแห่งเดียวก็มีปริมาณสูงถึง 26 ล้านตันต่อปีแล้ว ซึ่งปริมาณของเสียที่เป็นพิษดังกล่าวมากพอที่จะนำไปถมใส่สนามกีฬาชื่อดังอย่าง “แยงกีส์ สเตเดียม” ในมหานครนิวยอร์กได้ถึง 4 สนามทีเดียว (สนามของทีมเบสบอล “นิวยอร์ก แยงกีส์” แห่งนี้สามารถจุผู้ชมได้ถึง 54,251 คน)

        จากเบื้องลึกเบื้องหลังที่กล่าวมาของอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูในสหรัฐฯ จึงไม่น่าแปลกใจนักหากกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในไทยจะออกมาแสดงพลังต่อต้านเพื่อค้านการอนุมัตินำเข้าเนื้อสุกร และชิ้นส่วนจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความกังวลว่าการนำเข้าเนื้อหมูจากเมืองลุงแซม จะเป็นการทำลายอาชีพผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทย และความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคจากสารพิษนานาชนิดที่พบในฟาร์มหมูทั่วสหรัฐฯ

Visitors: 396,770