เคล็ด (ไม่ลับ) การสร้างฟาร์ม ขยายฟาร์มอย่างมืออาชีพ

เคล็ด (ไม่ลับ) การสร้างฟาร์ม

ขยายฟาร์มอย่างมืออาชีพ

 

          ในภาวการณ์ปัจจุบันที่สุกรมีราคาดีมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเกษตรกรหลายราย เริ่มสนใจอยากขยับขยายฟาร์มเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด และเงื่อนไขราคาที่ดึงดูดให้ลงทุน จึงอยากจะหยิบยกประเด็นเรื่องการขยายฟาร์มมาเล่าสู่กันฟัง เพราะว่าสิ่งที่เกษตรกรควรจะต้องคำนึงเป็นปัจจัยแรกนั่นก็คือการเลือกทำเลการเลี้ยง หรือ การเตรียมสถานที่เลี้ยงนั่นเอง เนื่องจากหากมีการเตรียมการไว้ไม่ดีแล้ว ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและก่อปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนโดยรอบฟาร์ม โดยเฉพาะถ้าฟาร์มสุกรเองขาดการวางแผนด้านการจัดการของเสียที่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเสีย มีกลิ่นเหม็นและแมลงวันรบกวนชุมชนใกล้เคียง อาจทำให้คุณภาพแหล่งน้ำเสื่อมโทรมลงจนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และในท้ายที่สุดก็นำมาซึ่งปัญหาการร้องเรียน การฟ้องร้องจนเกิดเป็นคดีความตามที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ

          ผลสุดท้ายการขยับขยายฟาร์ม แทนที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ กลับกลายเป็นการก่อปัญหารบกวน เกษตรกรเอง เพราะขาดการวางแผนที่ดีนั่นเอง

          ในบทนี้จึงอยากเสนอข้อแนะนำเบื้องต้น สำหรับเกษตรที่มีความประสงค์จะก่อสร้างโรงเรือนแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้เกษตรกร นำไปเป็นแนวคิดประกอบการพิจารณาตั้งฟาร์มสุกรดังนี้

  1. การพิจารณาทำเลที่ตั้งของฟาร์มที่เหมาะสม

          1.1  ไม่ควรอยู่ในพื้นที่ที่จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่คุ้มครอง หรือเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 35 เป็นต้น

          1.2  อยู่ในพื้นที่เขตเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงสัตว์ของกรมปศุสัตว์

          1.3  ไม่ขัดกับข้อกำหนดของผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการ และผังเมืองได้ประกาศเขตผังเมืองไว้ในรายงานเพื่อการศึกษาจัดฐานข้อมูล และวิเคราะห์เพื่อการวางผังอนุภาคกลุ่มจังหวัด

          1.4  ฟาร์มอยู่ห่างจากชุมชน แหล่งน้ำสาธารณะ โรงฆ่าสัตว์ และตลาดนัดค้าสัตว์ระยะทางมากกว่า 5 กิโลเมตร

  1. เกษตรกรต้องขออนุญาตประกอบกิจการเลี้ยงสุกร

ตามที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้กำหนดประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาตรา 31 (1) ภายใต้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 กับเจ้าพนักงานท้องถิ่นในพื้นที่ รวมทั้งควรมีประชาคมในการตั้งฟาร์ม (หากท้องถิ่นกำหนด) เพื่อลดข้อขัดแย้งต่างๆ โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานราชการ ส่วนภูมิภาค หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข ปศุสัตว์ รัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมภาคผังเมือง และประชาชนในรัศมีตั้งฟาร์ม 1 กิโลเมตร เข้าร่วมด้วย

  1. เกษตรกรควรกำหนดสัดส่วนพื้นที่การเลี้ยงสุกรให้เหมาะสม

          ตรงตามเกณฑ์คำแนะนำสัดส่วนพื้นที่ต่างๆ ขององค์ประกอบฟาร์ม เพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและเหตุเดือดร้อนรำคาญที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการเลี้ยงสุกร โดยองค์ประกอบของฟาร์มสุกร ประกอบด้วย

          3.1  พื้นที่โรงเรือนเลี้ยงสุกร พิจารณาจากสัดส่วนพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกรเปรียบเทียบกับจำนวนสุกรที่เลี้ยงแต่ละชนิดภายในฟาร์มทั้งหมด

          3.2  พื้นที่กันชน พิจารณาจากสัดส่วนพื้นที่ตามขนาดของฟาร์มสุกรเทียบกับพื้นที่ของโรงเรือนเลี้ยงสุกรทั้งหมด

          3.3  พื้นที่ระหว่างโรงเรือนเลี้ยงสุกรพิจารณาจากสัดส่วนพื้นที่ตามประเภทของโรงเรือนที่เลี้ยงและขนาดของฟาร์มสุกรเทียบกับพื้นที่ของโรงเรือนเลี้ยงสุกรทั้งหมด

          3.4  เกษตรกรต้องจัดให้มีระบบน้ำบำบัดน้ำเสีย (ตามมาตรา 69 แห่ง พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535) โดยในการออกแบบและกำหนดขนาด หรือพื้นที่ของระบบน้ำบำบัดน้ำเสียแบบต่างๆ นั้นจะพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน เช่น ชนิดและจำนวนสุกรที่เลี้ยง ความยากง่ายในการติดตั้งระบบ การบำรุงรักษาระบบ ขนาดของพื้นที่ รวมไปถึงงบประมาณที่ต้องใช้ในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแต่ละแบบด้วย

  1. ควรมีการจัดทำมาตรการ สำหรับลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงสุกร ได้แก่

          4.1  การลดและป้องกันการแพร่กระจายของกลิ่น โดยต้องมีการควบคุมกลิ่นจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทั้งบริเวณโรงเรือน ลานตากและโรงเก็บมูล ระบบบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนบริเวณที่นำมูลสุกรไปใช้ประโยชน์ และควรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดกลิ่นและบำบัดกลิ่น เช่น ระบบม่านกระจายน้ำหลังพัดลมท้ายโรงเรือน ระบบดักฝุ่นละอองการทำแนวกันชนสีเขียว เป็นต้น

          4.2  ต้องมีมาตรการในการจัดการน้ำเสียที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

                   1.  ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียตามแบบมาตรฐาน โดยแบบต้องมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด หรือใช้ระบบที่เป็นแบบมาตรฐาน ซึ่งผ่านการพิสูจน์และรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่าสามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

                   2.  ระบบบำบัดน้ำเสีย ต้องสามารถรองรับน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงสุกรได้ทั้งหมดและต้องไม่ระบายน้ำทิ้งออกไปภายนอกฟาร์ม หรือปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ ในกรณีที่มีการระบายน้ำทิ้งออกภายนอกฟาร์ม จะต้องทำการบำบัดน้ำเสียให้ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานการระบายน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกรที่กำหนดไว้

                    3.  หากมีการนำน้ำเสียไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ คุณภาพน้ำเสียจะต้องมีค่าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด และต้องมีหลักฐานแสดงตำแหน่งของพื้นที่ที่นำน้ำเสียไปใช้ประโยชน์ด้วย รวมไปถึงลักษณะและปริมาณที่นำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำเสียที่ถูกนำไปใช้นั้นจะต้องไม่ถูกระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดผลกระทบตามมา ทั้งนี้กรณีผู้ที่นำน้ำเสียไปใช้ประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่เจ้าของฟาร์ม ต้องมีหลักฐานแจ้งความประสงค์ของผู้นำน้ำเสียไปใช้ประโยชน์ด้วย

          4.3  ต้องมีวิธีการจัดการเพื่อควบคุมแมลงและพาหะนำโรคต่างๆ ทั่วทั่งบริเวณฟาร์ม เพื่อป้องกันเหตุรำคาญและยังเป็นการช่วยควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ด้วย

          4.4  ควรมีการคัดแยกและกำจัดขยะที่เหมาะสม ถูกต้องตามแต่ละประเภทของขยะ เช่น ขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดการซากสุกรที่เหมาะสม

          ปัจจัยต่างๆ ข้างต้นเป็นเพียงรายละเอียดส่วนหนึ่งที่รวบรวมมานำเสนอเท่านั้น เพราะในแต่ละหัวข้อก็จะมีรายละเอียดและเกณฑ์กำหนดระบุไว้อีกเบื้องต้นหากเกษตรกรนำข้อแนะนำดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการพิจารณาก่อนตั้งฟาร์ม ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบและบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และลดเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้รายละเอียดอื่นๆ จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป หรือหากมีเกษตรกรท่านใดสนใจ อยากได้คำแนะนำและแนวทางในการเริ่มต้นวางแผนผังฟาร์มโดยละเอียด ทางเครือ เวทโปรดักส์กรุ๊ป ก็ยินดีที่จะเข้าไปให้คำแนะนำครับ

 

เอกสารอ้างอิง

          1)  ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงสัตว์ ลงวันที่ 7 มีนาคม 2556

          2)  คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ 3/2549 เรื่องการควบคุมกิจการเลี้ยงสุกร

          3)  ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกรของประเทศไทย พ.ศ.2542 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542

          4)  พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

          5)  ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพสุกร ณ สถานที่เลี้ยง พ.ศ.2544

          6)  (ร่าง) คู่มือหลักเกณฑ์การอนุญาตและต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทฟาร์มสุกร, กรมปศุสัตว์.2554

          7)  คู่มือแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมฟาร์มสุกร, กรมควบคุมมลพิษ.2552

          8) พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535

ที่มา :  หนังสือสัตว์บก ปี 23 ฉบับ 282 ตุลาคม 2559 (หน้า 112-113)

Visitors: 427,893