Pig Supply Cut 9900

โครงการตัดวงจรภาคสมัครใจใกล้ทะลุ 10,000 ตัว ประธานการประชุมรักษาเสถียรภาพสุกร หวังกรมการค้าภายใน ดันขายหมูหน้าฟาร์มตามโครงสร้างต้นทุน เพื่อแก้วิกฤต หลังหมูขาดทุนกว่า 1 ปี

20 มีนาคม 2567 กรมปศุสัตว์ - รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธานการประชุมทำความเข้าใจโครงการตัดวงจรลูกสุกร หลังเอกชนเดินหน้าตั้งแต่ 11 มีนาคมยอดสะสมร่วม 10,000 ตัว ทั้งที่ดำเนินการตัดวงจรไปแล้ว และสมทบตัดวงจรในช่วงสัปดาห์ถัดไป

นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรครั้งที่ 2/2567  โดยหัวข้อการประชุมจะเป็นในเรื่องของการซักซ้อมความเข้าใจกระบวนการในการตัดวงจรลูกสุกร ซึ่งมีการประชุมร่วมภาครัฐมาหลายครั้ง โดยงบประมาณจากกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรยังรอการอนุมัติ

โดยภาคเอกชนได้เริ่มรณรงค์ร่วมตัดวงจรลูกสุกรตั้งแต่ 11 มีนาคมจนถึงปัจจุบันมียอดรวมสะสมอยู่ที่ 9,900 ตัว โดยภาคเอกชนยังคงมีการส่งตารางในการตัดวงจรกระจายตัวไปทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการร่วมมือที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ต้องการให้ระดับราคาสุกรมีการยกระดับให้สูงขึ้น เพราะระดับราคาปัจจุบันสร้างความเสียหายต่อเนื่องยาวนานกับกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรทั้งระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ วอน Pork Shop ยกระดับราคา เน้นการให้บริการมากกว่าการแข่งขันด้านราคา เพราะธุรกิจ Food Service มีอัตราเติบโตสูง โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติรายงานในที่ประชุมว่าตัวเลขเข้าเชือด 55,000-60,000 ตัวต่อวันเป็นตัวเลข Demand Side ของกรมปศุสัตว์ สะท้อนความต้องการบริโภคที่สูง ในขณะที่ตัวเลข Supply Side ภาคเอกชน ที่ประเมินว่า Supply ล้นเกินความต้องการ ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงปริมาณที่เกินความต้องการ ภาคเอกชนจำเป็นต้องให้ภาครัฐนำมาตรการทางการบริหาร และมาตรการทางกฎหมายที่จำเป็นมาพยุง และยกระดับราคาสุกรหน้าฟาร์ม เพื่อใช้ร่วมแก้วิกฤตราคาสุกรในครั้งนี้

 

โดยกรมปศุสัตว์สามารถกำกับดูแลผู้ค้าสุกรหน้าฟาร์มที่ขึ้นทะเบียน กับ กรมปศุสัตว์ เพื่อช่วยยกระดับราคาสุกร โดยใช้มาตรการการเคลื่อนย้ายเข้าดำเนินการกำกับดูแลผู้ค้าสุกรหน้าฟาร์ม ซึ่งจะทำให้ทราบว่าแหล่งที่มา จัดซื้อมาจากฟาร์มแห่งใดทำไมจึงซื้อมาในราคาต่ำกว่าต้นทุน เพราะการประชุมเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 กรมปศุสัตว์สร้างความมั่นใจให้ผู้เลี้ยงว่าจะลงพื้นที่เข้มงวด แต่ยังขาดความต่อเนื่อง ซึ่งถ้าทุกมาตรการมีการใช้อย่างจริงจัง ร่วมกับการตัดวงจร ปัญหาราคาสุกรตกต่ำจะมีทิศทางในการแก้ไขมากขึ้น   

 

สำหรับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติขอให้ใช้มาตรการทางกฎหมายในเชิงการบริหาร หรือทางกฎหมายถ้าจำเป็น เพื่อช่วยปรามผู้ค้าสุกรหน้าฟาร์มให้ช่วยยกระดับราคาไม่ให้ซื้อในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน และผู้จำหน่ายเนื้อสุกร ที่เป็นสินค้าควบคุม กำกับดูแลด้านราคาไม่ให้มีการแข่งขัน ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสุกรหน้าฟาร์ม

รองอธิบดีบุญญกฤชได้รายงานที่ประชุมว่า การยอมขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงมีแรงกดดันจากปัญหากระแสเงินสดที่รัดตัว ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการขายต่ำกว่าต้นทุนเป็นระยะเวลานาน  อย่างไรก็ตามนายสัตวแพทย์บุญญกฤชมั่นใจว่าปัจจุบันสุกรลักลอบเข้ามาในประเทศน่าจะหมดไปแล้ว โดยโครงการตัดวงจรลูกสุกรปัจจุบันยังคงรอการอนุมัติกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรจากภาครัฐ แต่การที่ภาคเอกชนออกมาให้ความร่วมมือในการสนับสนุนลูกสุกรในการตัดวงจรถือเป็นสัญญาณที่ดีที่น่าจะมีการผลักดันให้ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มขยับขึ้นในเวลาอันสั้น

ก่อนปิดการประชุมนายสัตวแพทย์บุญญกฤชได้กล่าวว่าถ้ากรมการค้าภายในมีการกำหนดมาตรการขายตามโครงสร้างต้นทุนก็จะเป็นการจบวิกฤตในครั้งนี้อย่างทันที ซึ่งสอดคล้องกับการให้ข้อมูลของนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่ขอให้กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์นำกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามาบังคับใช้ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างถูกจุดและแก้ได้ในทันที

 

ตลอดปี 2566 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ยื่นเรื่องให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามากำกับดูแลทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ และราคาสุกรหน้าฟาร์มตั้งแต่ต้นปีในช่วงกุมภาพันธ์ 2566 และมีการยื่นอีกครั้งทั้งถึงกรมปศุสัตว์และกรมการค้าภายในให้มีการนำอำนาจทางกฎหมายเข้ามากำหนดราคารับซื้อสุกรหน้าฟาร์มเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีการประชุมต่อเนื่องซึ่งอำนาจดังกล่าวสามารถที่จะบังคับใช้ได้ทันที แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงมาตลอด

สัปดาห์หน้านายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะทำหนังสือให้กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง ให้นำกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามาบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าเรื่องดังกล่าวสังคมจะมีความรับรู้มากขึ้นเพราะเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติในเรื่องของการดูแลการกำหนดราคาซื้อราคาขายและเงื่อนไขทางการค้าอันไม่เป็นธรรม ซึ่งวิกฤตการณ์ของราคาสุกรที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เข้าองค์ประกอบของบทบัญญัติดังกล่าวตลอดช่วงเวลาวิกฤตสุกร ทั้งการกำหนดราคารับซื้อหน้าฟาร์มอันไม่เป็นธรรมและการกำหนดราคาขายโดยไม่เป็นธรรมของกลุ่มค้าส่ง ค้าปลีก ซึ่งทุกฝ่ายทราบดีว่าเกษตรกรต้นทางขาดทุน ซึ่งกรมการค้าภายในเป็นหนึ่งในคณะอนุฯต้นทุนการผลิตสุกร แต่ไม่ทราบด้วยเหตุผลอันใดจึงมีการบ่ายเบี่ยงมาตลอด เพราะการแก้ปัญหาปากท้องของพลเมืองที่เป็นนโยบายเร่งด่วนแทบทุกรัฐบาล มักมากดดันภาคการผลิต แทนที่จะให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสุกรที่เกษตรกรรายย่อยทะยอยออกจากอาชีพการเลี้ยงไปทุกวัน เพราะทนต่อการขาดทุน ที่ต้นตอมาจากการปล่อยปละละเลยให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมายอย่างยาวนาน

Visitors: 397,142