Pig Production Cost Q4 2565

ต้นทุนหมูไตรมาส 4 เกินร้อยทุกเดือน เฉลี่ย 101.01 บาทต่อกิโลกรัม แนะชาวหมูกำหนดราคาเป้าหมายกันเอง

10 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร - คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร คาดการณ์ต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาส 4 ปี 2565 สูงขึ้นกว่าไตรมาส 3 ทั้งๆ ที่ลดอัตราการสูญเสียจาก 15% เหลือ 12%

              การประชุมของคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกรได้ทำการคาดการณ์ต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาสที่ 4/2565 โดยมีค่าพันธุ์สุกร ค่าอาหารสัตว์ ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ค่า FT หรือ Float time ที่เป็นค่าไฟฟ้าผันเเปรที่เปลี่ยนเเปลงไปจากค่าเชื้อเพลิงที่กำหนดไว้ปรับสูงขึ้นจาก 24.77 สตางค์ต่อหน่วยเป็น              93.43 สตางค์ต่อหน่วยตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 โดยใช้อัตราเดียวกันนี้ทั้งไตรมาสที่ 4

              ค่าลูกสุกรพันธุ์ทรงตัวที่ 3,600 บาท บวกลบ 100 บาท ค่าอาหารสัตว์ทรงตัวอยู่ในระดับสูงโดยมี

  • กากถั่วเหลืองอยู่ที่ 23.25 บาท ค่าเฉลี่ยสูงกว่าไตรมาสที่ 3 เล็กน้อย
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยับขึ้นเหนือระดับ 12 บาทอีกครั้งที่ 12.25-12.35 บาทต่อกิโลกรัม

สรุปการคำนวนต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาสที่ 1-3  และคาดการณ์ไตรมาสที่ 4 ปี 2565

              อัตราการสูญเสียจากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมีอัตราที่ต่ำลง โดยจะมีการกลับมาใช้ที่ 8% แต่น.สพ.เกียรติภูมิ พฤกษะวัน เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ให้ข้อมูลตัวเลขที่ต่ำลงส่วนหนึ่งมาจากการเร่งขายก่อนกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงของฟาร์มที่ได้รับผลกระทบบางส่วนทำให้ตัวเลขอัตราการสูญเสียออกมาต่ำ ซึ่งต้องชดเชยด้วยค่าเสียโอกาสในส่วนที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้สำหรับกรณีดังกล่าว คณะกรรมการจึงมีมติลดลงจากไตรมาส 3 ที่ 15% ลงเหลือ 12% สำหรับไตรมาสที่ 4  

              โดยก่อนหน้าจากการประชุมประจำไตรมาสที่ 3 มติคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ผลิตเห็นชอบการปรับลดอัตราสูญเสียลงมาอยู่ที่ 15% ในการคำนวนคาดการณ์ต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาส 3 จากอัตราความสูญเสียเดิมในการคำนวณต้นทุนไตรมาสที่ 2 ใช้ที่ 20%

               อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าราคาขอความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบันที่ 100 บาทต่อกิโลกรัมไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วไป จึงมีแนวทางที่น่าจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมสุกร ให้ใช้แนวทางกำหนดราคาเป้าหมายเป็น 110% 115% และ 120% ซึ่งจะเป็นพารามิเตอร์เพื่อความยั่งยืนที่มีเป้าหมาย และมีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงให้กับผู้เลี้ยงสุกรได้ดี เพราะมีรายย่อยเริ่มนำสุกรเข้าขุนมากขึ้น ในขณะที่เชื้อ ASF ยังคงวนเวียนเป็นความเสี่ยงต่อเนื่องในฟาร์ม 

              อย่างไรก็ตามสินค้าสุกรราคาขึ้นลงตามกลไกของตลาด ไม่สามารถมีอำนาจเหนือตลาดได้  แต่เพื่อสนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรชาติยั่งยืน” โดยต่อยอดความมั่นคงยั่งยืนทางการตลาดของอุตสาหกรรมสุกรของไทย ซึ่งจะทำให้การต่อยอดจากประมาณการต้นทุนการผลิตสุกรโดยคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ที่เป็นคณะกรรมการชุดเล็กของ Pig Board ให้เป็นประโยชน์ ต่อการแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตรกร ที่เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินภาคครัวเรือน ที่เป็นปัญหาใหญ่และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยบริหารจัดการลดความเสี่ยงให้เกษตรกรมีโอกาสได้รับผลกำไรจากการประกอบอาชีพได้อย่างเสมอภาคกันในทุกแขนง

              กรณีหนี้สินภาคครัวเรือน  นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปี 2565 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เคยทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2550 ส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากภาวะค่าครองชีพสูง และอีกส่วนหนึ่งคือรายได้เพิ่มไม่ทันกับรายจ่าย หนี้ครัวเรือนไทยลดได้หากจีดีพีโตไม่ต่ำ 6.2% ใน 5 ปี

              แนวทางนี้ประสงค์ให้มีกระจายแนวทางตั้งเป้าหมาย GDP ให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทุกชนิด โดยเฉพาะที่เป็นห่วงโซ่การผลิตสุกรและสินค้าปศุสัตว์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในอัตรากำไรส่วนเกิน ไม่ให้มีการกดดันเฉพาะบางสินค้าที่รับภาระต้นทุนจากกำไรส่วนเกินที่มากเกินควรของสินค้าต้นทางที่เป็นปัจจัยการผลิต และเพื่อการรับรู้และเข้าใจจากผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้สังคมมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น

Visitors: 397,110