Swine Reborn Seminar Udonthani 11062022
ผู้เลี้ยงสุกร 20 อำเภอในอุดรเข้าร่วม “เตรียมความพร้อมหลังเว้นวรรค” อย่างหนาแน่น
11 มิถุนายน 2565 อุดรธานี – ปศุสัตว์จังหวัด นายกหมูอีสานเห็นพร้อง “ถ้ารายย่อยป่วยรายใหญ่ก็ลำบาก” บุญทะพานฟาร์มบอก “การช่วยเหลือกันแบบไทยๆ หาไม่ได้อีกแล้วในอาเซียน”
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการจัดสัมมนาสัญจรเพื่อผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เป็นครั้งที่ 7 ที่จังหวัดอุดรธานี โดยการประสานงานของกรรมการสมาคมฯ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยเข้าร่วมสัมมนาครบทั้ง 20 อำเภอ
นายสัตวแพทย์สุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี ประธานเปิดงานได้กล่าวชื่นชมสมาคมหมูอีสาน บริษัท ห้างร้านจำนวนมาก ที่ให้ความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง โดยวันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมาครบทุกอำเภอจำนวน 20 อำเภอโดยที่ผ่านมา 14 อำเภอในจังหวัดอุดรธานีได้รับผลกระทบจากโรคร้ายแรงในสุกรทั้ง PRRS และ ASF ได้รับการชดเชยไป 17,677,580 บาทโดยท่านปศุสัตว์จังหวัดได้กล่าวถึง แผนระยะสั้นระยะกลาง ระยะยาวในการบรรยายพิเศษ นโยบายกรมปศุสัตว์กับการพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสุกร ปี 2565 โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโรค ASF ในสุกร กรมปศุสัตว์วางแผนรับมือไว้ดังนี้
ระยะสั้น 1 ปี พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค จัดหาแหล่งเงินทุน กำหนดแนวทางเลี้ยงสุกรใหม่ ลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยกระดับมาตรฐานฟาร์ม เร่งเพิ่มปริมาณผลผลิตสุกรในประเทศ การสร้างเขตพื้นที่พิเศษ (Sandbox) ชี้แจงทำความเข้าใจกับองค์กรระหว่างประเทศและประเทศคู่ค้า
ระยะกลาง 2-3 ปี กำหนดพื้นที่เลี้ยงสุกร(Zoning) เปิดตลาดเจรจาการค้ากับต่างประเทศ กำหนดแผนสร้างความมั่นใจด้านอาหารอย่างยั่งยืน
ระยะยาว 4 ปี ประกาศสถานภาพปลอดโรค
คุณสมทัด บุญทะพาน บริษัท บุญทะพาน จำกัด จังหวัดนครพนม มีการประกอบการฟาร์มทั้งไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ได้บรรยายในหัวข้อแนวโน้มสถานการณ์ ASF ในอาเซียนโดยมีการสรุปสถานการณ์ในลาวกับไทยที่เริ่มผ่อนคลายลง ส่วนหนึ่งมาจากประชากรหมูรายย่อยน้อยลง ฟาร์มใหญ่มีระบบการป้องกันที่ดี ในขณะที่เวียดนามตอนเหนือเริ่มมีการระบาดหนักอีกครั้ง เป็นข้อสังเกตว่าถ้ายังไม่เข้มงวดพอก็จะมีโอกาสระบาดซ้ำ การบริหารจัดการของบุญทะพานฟาร์ม เน้นในเรื่องของการพบโรคเร็วจบเร็วโดยเน้นหัวใจหลักอยู่ที่การบล็อกคนที่เป็นส่วนสำคัญที่สามารถเป็นพาหะนำโรคมาสู่ฟาร์มได้ตลอดเวลา เอาใจใส่คนงานทั้งระดับหัวหน้าและลูกน้อง ย้ำเรื่องการสังเกตหมูถ้ามีอาการเบื่ออาหารให้คัดออกทันที การใช้รางยาวมีโอกาสติดเชื้อยกเล้า ที่ฟาร์มทำรางบล็อก 5 เว้น 1 โดยเฉพาะเล้าอุ้มท้องให้กินเฉพาะตัว กรณีติดเชื้อห้ามฉีดล้างพื้นเด็ดขาดเพราะเชื้อมันจะกระจาย
มีข้อสงสัยว่าหมูที่ผ่านการระบาดและอยู่รอด จะมีการสร้างภูมิเองในฟาร์ม กรณีเชื้อเริ่มอ่อนแรงคุณสมทัดมีการเปรียบเทียบกับโควิด 19 ที่มีการกลายพันธุ์ และลดความรุนแรงจาก DELTA เป็น OMICRON ทำให้เชื้อที่เคยรุนแรงอ่อนแรงลงซึ่งไม่แตกต่างกับ ASF
เกี่ยวกับวัคซีนเวียดนาม (NAVETCO) ยังเป็นการจำหน่ายแบบมีเงื่อนไข จากประสบการณ์คุณสมทัดไม่แนะนำให้ฉีดในแม่อุ้มท้อง เพราะลูกหมูตายเกือบ 100% ถ้าเป็นหมูขุนยังพอจะใช้ได้บ้าง
ปัจจุบันการขออนุญาตทำฟาร์มในเวียดนามมีความเข้มงวดมากขึ้น การสนับสนุนระหว่างกันไม่ค่อยมี ไม่เหมือนประเทศไทยที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ยังดูแลรายย่อย โดยแนะนำว่าถ้าผู้เลี้ยงรายย่อยมีศักยภาพในการขยายฟาร์มให้รีบทำ เพราะในอนาคตจะทำได้ยากขึ้นด้วยข้อจำกัดหลายประการ
ผศ.ดร.อภิชาติ อาจนาเสียว คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหัวข้อ การเลี้ยงสุกรรายย่อยวิถีใหม่ (NEW NORMAL) ได้นำเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยีง่ายๆ กับการเลี้ยงสุกร ตั้งแต่การติดเซ็นเซอร์ควบคุมคนเข้าฟาร์ม การตั้งเวลาปิด-เปิดไฟควบคุมอุณหภูมิสูงต่ำในเล้าอนุบาล การตั้งเวลาเปิดปิดพัดลมอัตโนมัติระบายแก๊สในฟาร์ม ระบบการให้อาหารอัตโนมัติ การติดตั้งวงจรปิดเชื่อมสัญญาณ WIFI เปิดดูหมูในแต่ละเล้าได้ตลอดเวลาบนมือถือ ซึ่งทั้งหมดเป็นการติดตั้งเองทั้งหมด โดยเงินลงทุนที่ไม่สูง ซึ่งอาจารย์อภิชาติสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย และเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริม แต่สามารถทำรายได้หลักมากกว่างานประจำ โดยผู้เลี้ยงสามารถติดตามแบบการติดตั้งต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube ในชื่อ Apichart Artnaseaw หรือ ขอคำปรึกษาระบบได้ที่ HP 081-266-7120
คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต ที่เพิ่งได้รับรางวัลเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ดีเด่น เขต 3 ระดับประเทศ ปี 2565 ชนิดสุกร คุณอุดมศักดิ์มุ่งเน้นไปในเรื่องของความเสี่ยงในฟาร์มเกษตรกรรายย่อยโดยมี 5 จุดอ่อน จุดตายของรายย่อย
จุดอ่อนที่ 1 รายย่อยขายหมูในฟาร์ม ไม่มีอุปกรณ์การขาย ปล่อยให้พ่อค้าเป็นคนดำเนินการเอง
จุดอ่อนที่ 2 รายย่อยซื้อหมูทดแทน ไม่มีคอกกักระยะฟักตัวยาว จะเป็นปัญหาในการทดแทนหมู
จุดอ่อนที่ 3 รายย่อยต้องพึ่งพาหมอรักษาหมูป่วยจากคนภายนอก มีโอกาสนำเชื้อมาสัมผัสหมูสูง
จุดอ่อนที่ 4 รายย่อยไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีคนเฝ้า คนนอก พ่อค้า เข้ามาคอกหมูได้ตลอดเวลา
จุดอ่อนที่ 5 รายย่อยมักขาดความตระหนักเข้าใจอย่างจริงจังว่าต้องทำ BioSecurity ขนาดไหนอย่างไรจึงจะ รอดพ้นจาก ASF
ประเด็นที่เป็นประโยชน์กับผู้เลี้ยงรายย่อย ที่สามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ จากการบรรยายของคุณอุดมศักดิ์ก็คือ ในเรื่องของการจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เหมาะกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เช่น รองเท้า 3 คู่สู้ ASFที่หน้าฟาร์มนอกพิกโซน คู่ที่ 2 รองเท้าในบริเวณฟาร์มจุ่มยาฆ่าเชื้อใส่เฉพาะในบริเวณฟาร์ม คู่ที่ 3 รองเท้าเฉพาะในโรงเรือนใส่ทำงานภายในโรงเรือนเท่านั้น ทำงานเสร็จจะกลับบ้านถอดรองเท้า ย้อนกลับคู่ที่ 3 ถึงคู่ที่ 1
อีกส่วนหนึ่งก็เป็นในเรื่องของฟาร์มเปิดในระบบปิด ซึ่งมีการใช้มุ้งเขียวกั้นป้องกันแมลงและสัตว์ที่เคลื่อนย้ายตัวจากที่อื่น เพื่อไม่ให้มีการเข้ามาในฟาร์มที่จะเป็นสาเหตุของการนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์ม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในเล้า เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดก็จะต่อด้ามให้ยาว โดยเน้นให้คนห่างจากตัวหมูมากที่สุดไม่ให้สัมผัสตัวหมู
ผช.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ให้มุมมอง 3 ด้าน ที่ประกอบด้วย 1) การใช้วัคซีน 2) การใช้สูตรผสมของสารเสริมต่างๆ เช่น วาโลซิน ที่สามารถต้านไวรัสได้ โดยผสมผสานกับ Fatty Acid และโมโนกลีเซอไรด์ 3) Bio Security หลังวัคซีนของ NAVETCO เวียดนามมีการเปิดตัว ซึ่งยังต้องรอการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาของไทยก่อน ซึ่งยังถือว่าวัคซีนยังเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น โดยระบบ Bio Security ยังคงเป็นทางรอดหลัก
สัมมนาสัญจรครั้งที่ 8 ครั้งต่อไปกำหนดจัดที่บุรีรัมย์ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 คาดว่าจะมีผู้เลี้ยงสุกรอีสานใต้มาเข้าร่วมจำนวนมาก เช่นกัน