ผู้เลี้ยงสุกรได้อะไร ถ้ารัฐลดอากรนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็น 0%

ผู้เลี้ยงสุกรได้อะไร ถ้ารัฐลดอากรนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็น 0%

14 กันยายน 2564  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ – นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติทวงถามกรมการค้าภายในลดภาษีกากถั่วเหลือง 0% แม้ไม่มาก แต่ก็จะเป็นกำลังใจให้ผู้เลี้ยงยามต้นทุนการเลี้ยงสุกรไตรมาส 3/2564 แตะ 80.03 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับเกษตรกรซื้อลูกหมูเข้าเลี้ยง  ในขณะที่กำลังการบริโภคลดลงมากช่วงการระบาดของโควิด-19

          นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้กล่าวถึงปัจจุบันต้นทุนในการดูแลส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางชีวภาพสูงขึ้นมากในระดับฟาร์ม  และต้นทุนอาหารสัตว์ที่พูดกันอยู่เสมอๆ ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงประสงค์ดูแลพืชอาหารสัตว์ที่เป็นผลผลิตจากเกษตรกรไทย  โดยล่าสุดคณะอนุกรรมการต้นทุนของ Pig Board ประเมินต้นทุนการเลี้ยงสุกรประจำไตรมาสที่ 3/2564 แยกเป็น 2 กรณี

          1) กรณีซื้อลูกสุกรมาเลี้ยงขุน เดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 ที่ 78.31 บาทต่อกิโลกรัม และประมาณการไตรมาส 3 เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 ที่ 80.03 บาทต่อกิโลกรัม

          2) ต้นทุนการผลิตสุกรขุน แบบที่ 2 กรณีผลิตลูกสุกรเอง ของเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 เฉลี่ยที่ ละ 70.13 บาทกิโลกรัม และประมาณการของเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.55 บาทต่อกิโลกรัม

         

          คุณสุรชัยได้กล่าวในเชิงการบริหารราคา ต้นทุนการเลี้ยงสุกร เป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงเข้าใจปัญหาของอุตสาหกรรมดี ทั้งการเป็นอาหารโปรตีนที่ต้องดูแลการบริโภคของพลเมืองของประเทศ การเป็นห่วงโซ่อาหารที่ต้องรองรับพืชผลทางการเกษตร การลดอากรนำเข้ากากถั่วเหลืองอาจไม่มาก อย่างน้อยก็สะท้อนว่ารัฐบาลได้ทำอะไรบ้างให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร

          การลดภาษี 2% ของกากถั่วเหลือง(การนำเข้าภายใต้ WTO ในโควตา อัตราภาษีร้อยละ 2) จะส่งผลต่อต้นทุนกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั้งระบบ เพราะจะมีการส่งผ่านต้นทุนไปต่อๆกัน โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย

  1. ผู้นำเข้าที่ผ่านหน่วยงานที่มีสิทธิ์นำเข้าทั้ง 11 ราย รวมทั้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยสมาชิกสมาคมจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการนำเข้าตามจำนวนอากรขาเข้าที่คำนวณตามจำนวนนำเข้าตามสิทธิ์ที่รับโอนจากสมาคมฯ ที่นำไปเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์
  2. ผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากการรับโอนสิทธิ์ โดยประโยชน์ที่ได้สำหรับอากรขาเข้าที่ลดลง จะไปลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ ที่จะไปเป็นส่วนลดราคาอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่จำหน่ายให้กับเกษตรกร  
  3. เมื่อราคาขายกากถั่วเหลืองนำเข้าลดลง จะส่งผลให้กากถั่วเหลืองจากผู้ประกอบการนำเข้าถั่วเหลือง(เพื่อนำน้ำมันออก) จะต้องปรับราคาลงตามกากถั่วเหลืองนำเข้า

ตารางที่ 1 การประเมินจำนวนภาษี

ปริมาณกากถั่วเหลืองที่ใช้ในภาคปศุสัตว์และภาคการประมง(บางส่วน) ประมาณ 5.0 ล้านตันต่อปี  เป็นภาคการเลี้ยงสุกรเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1.5 ล้านตัน คิดเป็นส่วนแบ่งจากประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมในการลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรประมาณ 390 ล้านบาทต่อปี

  1. การประเมินประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นการประเมินเชิงปริมาณ ซึ่งการเข้าถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับหรือไม่ หรือเกรงว่าประโยชน์จะไปกระจุกตัวกับกลุ่มใดนั้น เป็นการประเมินเชิงคุณภาพที่ไม่สามารถแจงออกให้ชัดเจนได้ โดยเมื่อมีการลดอากรนำเข้าลงตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรร้องขอ การกระจายตัวของประโยชน์จะเป็นไปตามหัวข้อที่แจกแจงเชิงปริมาณ

       2. กรณีการตั้งข้อกังวลว่าเกษตรกรทั้งหมดจะไม่ได้รับประโยชน์ ที่จะทำให้เป็นเหตุให้กรมการค้าภายในไม่พิจารณานั้น ขอเปรียบเทียบกับการให้ความร่วมมือ                 ของภาคผู้เลี้ยงสุกรในการจำหน่ายสุกรขุน เช่น ไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท การจะประเมินว่าผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม ได้ประโยชน์เท่าไร อย่างไร ไม่สามารถ                   แจกแจงเชิงคุณภาพได้เช่นกัน ถึงแม้การวิเคราะห์เชิงปริมาณจะสามารถพึงกระทำเชิงสมมติฐานราคาต้นทางสุกรขุนสู่ปลายทางราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกร            ได้ก็ตาม โดยธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานจากเนื้อสุกรไปไกลมากกว่าราคาเนื้อสุกรนานแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าภาครัฐจะเข้าไปจัดการอะไรได้

  1. กรณีถ้ามีการขอความร่วมมือคุมราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ซึ่งเป็นไปได้ยากมากที่กรมการค้าภายในจะใช้มาตรการขอความร่วมมือคุมราคา ทั้งๆ ที่มักขอความร่วมมือกับภาคปศุสัตว์เสมอมา โดยที่ทุกฝ่ายขอให้ปล่อยราคาให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งจะลดปัญหาการถูกมองจากภาคปศุสัตว์ถึงการเลือกปฏิบัติ ซึ่งในความเป็นจริงภาคปศุสัตว์สามารถเลือกที่จะยืนกรานให้กลไกตลาดทำงานจะดีกว่า และไม่รับนโยบายการขอความร่วมมือก็สามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมาภาคปศุสัตว์จะมีความรับผิดชอบสูงกับการช่วยลดภาระของผู้บริโภคในยามราคาตลาดสุกรขุนขยับสูงขึ้น และจะบริหารจัดการกันเองเป็นส่วนใหญ่ในช่วงราคาตกต่ำ  
  2. การประเมินราคาที่ลดลงกิโลกรัมละ 1 บาทของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากการใช้ปีละประมาณ 1.5 ล้านตัน ของภาคการเลี้ยงสุกรจะทำให้ลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรได้เท่ากับ 1,500 ล้านบาทต่อ 1 บาทต้นทุนข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ประหยัดได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม   

 

สรุปประโยชน์ที่จะได้รับสำหรับการลดต้นทุนอาหารสัตว์ 2 กรณี

  1. ลดอากรขาเข้าลงเหลือ 0% จำนวนประมาณ 390 ล้านบาทต่อปี
  2. กรณีมีการคุมราคาสูงสุดข้าวโพดเกรดอาหารสัตว์(ถ้าทำได้) จะได้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่สามารถลดลงได้ จำนวนประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี ที่คำนวณ ณ ลดได้ 1 บาทต่อกิโลกรัม
  3. รวมข้อ 1,2 เท่ากับ 1,890 ล้านบาท จากผลผลิต 22 ล้านตัว ลดได้ 1,890/22 เท่ากับ 85.91 บาทต่อตัว หรือ ลดลงเพียงกิโลกรัมละ 0.85 บาท

 

ในขณะที่ภาคปศุสัตว์ต้องแบกภาระต้นทุนในทุกสปีชี่ส์ เสียงส่วนใหญ่ต่างพร้องกันคือ ไม่เรียกร้องอะไรมาก ถ้ากรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ปล่อยให้ราคาสินค้าภาคเกษตรทุกชนิดทั้งพืชไร่ ปศุสัตว์ ประมง ให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีบทบัญญัติที่ถูกต้องเป็นธรรมอยู่แล้ว ไม่ควรใช้นโยบายใดๆ ที่นอกเหนือกฎหมายบัญญัติ เลิกตระหนกกับข่าวช่วงหมูแพงไข่แพง เพราะทุกสถานการณ์มันมีคำตอบและระยะเวลาของมัน โดยกลไกตลาดจะทำงานเข้าสู่สมดุลเองเสมอ  

 

Visitors: 397,158