“หมู” เป็นสินค้าควบคุม ภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

“หมู” เป็นสินค้าควบคุม ภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

โดย...สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

 

          ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา “หมูไทย” กับกระแสข่าว “หมูแพง” ได้รับความสนใจจากสื่อทุกสำนักที่ต้องการคำอธิบาย... แต่สิ่งที่จะนำเสนอคงไม่ใช่การอธิบายให้เห็นอก...เห็นใจ...เกษตรกร เพราะเรื่องนี้ดูเหมือนจะแก้ง่าย แต่กลายเป็นเรื่องยากไปแล้ว เสมือนกับดักทางเศรษฐกิจตลอดกาลที่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญรอบด้านตัวจริงๆ มาแก้ไข ซึ่งจะโยงใยไปถึงเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศด้วย กับการจัดการด้านราคาตลอดห่วงโซ่อาหารต้นน้ำ...กลางน้ำ... ปลายน้ำ ที่ดูแล้วมีความต่างทางบรรทัดฐานของมาตรการการใช้กำกับดูแลราคาตลอดห่วงโซ่ ซึ่งมีหลายเหตุผลที่ต้องดูแล ทั้งพืชอาหารสัตว์ และค่าครองชีพของประชาชนผู้บริโภคภายในประเทศ 

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ครั้งที่ 1/2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานการประชุม เมื่อ 20 สิงหาคม 2563 กล่าวในที่ประชุมด้านเสถียรภาพราคาสุกร ประเด็นการศึกษาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร ที่กระทรวงพาณิชย์ หยิบยกแนวทางมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้สูงเกินไปนั้น ในฝั่งเกษตรกรก็ต้องมีเครื่องมือคุ้มครองให้ไม่ขายต่ำกว่าต้นทุน ต้องมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ ป้องกันไม่ให้เกษตรถูกกดราคาและต้องมีกำไร ซึ่งเป็นประเด็นที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ต้องนำไปขยายผลเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีเครื่องมือคุ้มครองไม่ให้ขายสุกรมีชีวิตต่ำกว่าต้นทุน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2560-2561 คือต้องมีมาตรการกำหนดราคาขั้นต่ำ ป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกกดราคาและต้องมีกำไร ซึ่งจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องร่วมกันหารือต่อไป

          ปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ การผลิตอุตสาหกรรม การใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคประชาชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยว และที่ขาดไม่ได้ คือ ราคาผลผลิตทางการเกษตรที่โยงกับรายได้เกษตรกร  เมื่อพูดถึงรายได้เกษตรกรกับจีดีพีภาคเกษตร สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องคำนึงให้มาก คือ ราคาและปริมาณ เมื่อนำมาคูณกันจะเท่ากับผลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อาจได้ผลลัพธ์เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ด้วยเหตุผลของราคาที่ผันผวนนั่นเอง ผลผลิตทางการเกษตร กับ ความผันผวนของราคา ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งจะเห็นได้จากมาตรการต่างๆ เช่น การประกันรายได้ การให้เงินอุดหนุน การให้ความช่วยเหลือทางการตลาด เป็นต้น ดังนั้นถ้าจีดีพีภาคเกษตรกรรมติดบวกจากรอบเวลาก่อน เช่น ปีก่อน ไตรมาสก่อน เราต้องไปดูราคาหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้ด้วยว่าเกินกว่าต้นทุนหรือไม่ การวิเคราะห์ตัวเลขจึงจะนำมาประเมินผลได้ชัดเจนมากขึ้น  เพราะรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาขายผลผลิตทางการเกษตรที่สูงกว่าต้นทุนการผลิต จึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายที่จะไปเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

 

          อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 18 พ.ศ.2563 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม เพื่อประกาศบังคับใช้ทดแทนประกาศฉบับที่ 53 พ.ศ.2562 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ที่มีผลใช้บังคับเพียงหนึ่งปี โดยประกาศฉบับที่ 18 พ.ศ.2563 ในหมวดอาหาร ลำดับที่ 42 สุกร เนื้อสุกร

          ประกาศเรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม จะเป็นการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (1) “ให้ กกร.มีอำนาจหน้าที่ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (1) ประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมตามมาตรา 24” และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ตามบัญญัติดังนี้ “มาตรา 24 เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม กกร. ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมได้ ให้ กกร. พิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจหรือข้อเท็จจริงที่อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาใช้อำนาจของ กกร. เปลี่ยนแปลงไปหรือสิ้นสุดลง ให้ กกร. ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการใช้อำนาจนั้นโดยไม่ชักช้า ประกาศ กกร. ให้มีอายุตามที่กำหนด แต่จะกำหนดเกินหนึ่งปีไม่ได้ เว้นแต่จะมีการออกประกาศใหม่

          “หมู” กับ สิ่งต้องรู้ กับการเป็นสินค้าควบคุมภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ คือ ควบคุมความผิดปกติของการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม ไม่ใช่มีอำนาจมาคุมราคา แต่เนื่องจากภารกิจหลักของกรมการค้าภายในจะมี 2 บทบาทหลักๆ ในด้านราคาสินค้าเกษตร คือ ดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร และดูแลค่าครองชีพของพลเมือง ซึ่งชาวหมูจะเห็นได้จากมาตรการที่ใช้กับสินค้าสุกร คือ การเข้าแทรกแซงราคาสุกรในช่วงที่ราคาสุกรขยับตัวสูง เพื่อดูแลค่าครองชีพของพลเมือง ในลักษณะการขอความร่วมมือตรึงราคาจำหน่าย เพราะบทบัญญัติของกฎหมายยังไม่มีอำนาจมาคุมราคา ต้องใช้อำนาจ กกร. คือจะต้องมีประกาศออกมาก่อน อย่างที่นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ชี้แจงในการประชุม 8 ห้างค้าปลีกค้าส่ง ฟาร์มครบวงจร และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ในวาระการประชุมแก้ปัญหาหมูแพงที่กระทรวงพาณิชย์

          สรุป คือ สุกรและเนื้อสุกรเป็นสินค้าควบคุม ที่อยู่ในประกาศ กกร. ในกรณีมีเหตุการณ์กำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม เท่านั้น มิใช่เข้ามาคุมราคาซื้อขายได้ตลอดเวลา ต้องมีเหตุดังกล่าวจึงจะทำได้ และต้องมีประกาศ กกร. ฉบับใหม่เฉพาะเรื่องก่อน พร้อมระบุราคาซื้อขายที่บังคับเท่านั้นจึงจะสามารถให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ได้  ซึ่งประเด็นดังกล่าวท่านอธิบดีกรมการค้าภายในได้ทำความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุม เมื่อ 20 กรกฎาคม 2563 ที่กระทรวงพาณิชย์ ในการประชุมร่วมกรมการค้าภายใน ห้างค้าปลีก ฟาร์มครบวงจร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาราคาเนื้อสุกรสูงในขณะนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 20 กรกฎาคม 2563 กรมการค้าภายในเคาะหมู 80/150 กำชับ 2-3 สัปดาห์ ต้องคุมให้ได้

Visitors: 438,186