สรุปการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ASF บูรณาการเฝ้าระวัง หลังประชุมนัดแรก คืบหน้า 2 วงเงิน ส.หมูยื่นใหม่อีก 1 วงเงิน

สรุปการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ASF บูรณาการเฝ้าระวัง หลังประชุมนัดแรก คืบหน้า 2 วงเงิน ส.หมูยื่นใหม่อีก 1 วงเงิน

15 พฤศจิกายน 2562 กระทรวงเกษตร – ประชุมนัดแรกคณะกรรมการอำนวยการ ASF ระดมความร่วมมือหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พาณิชย์แจ้ง คชก.ผ่านกรอบวงเงินหมุนเวียนไม่มีดอกเบี้ย  ตามที่สมาคมฯ ยื่นขอร่วมกับกรมปศุสัตว์

          นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเฝ้าระวังป้องกันโรค ASF ในสุกร โดยกรมปศุสัตว์ได้รายงานสถานการณ์การระบาดพร้อมทั้งการปฏิบัติหน้าของกรมปศุสัตว์ และภาคเอกชน ในลักษณะ Public Private Partnership(PPP) ประกอบด้วย

  1. ร่วมจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(Contingency Plan) ทำให้มาตรการต่างๆ ในการป้องกันโรคสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  2. จัดทำโรงพ่นยาฆ่าเชื้อทาลายเชื้อโรค ที่ด่านชายแดนที่สำคัญ 6 แห่ง
  3. ร่วมสนับสนุนเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ และยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ในการพ่นยาฆ่าเชื้อให้กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันโรค
  4. ร่วมสนับสนุนการจัดงานสัมมนาให้ความรู้เรื่องโรคและการป้องกันโรคให้กับเกษตรกรรายย่อย
  5. เข้มงวดในการส่งออกสุกร ลดความเสี่ยงจากการส่งออกสุกร โดยรถขนส่งสุกรมีชีวิตที่ใช้ภายในประเทศห้ามไม่ให้ข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรค ASF ซึ่งมีการเปลี่ยนถ่ายสุกรบริเวณชายแดน และให้รถขนส่งสุกร ที่ใช้เฉพาะไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (ห้ามมาใช้ขนส่งสุกรภายในประเทศ)
  6. ร่วมมือกับภาครัฐรับซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยที่มีความเสี่ยง ในราคาตลาดที่เป็นธรรมนำมาเชือดเพื่อแปรรูปปรุงสุกหรือฝังทำลาย ขึ้นกับผลการประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นความงดงามที่ผู้ประกอบรายใหญ่ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้มีรายได้ ป้องกันความสูญต่อเกษตรกรรายย่อย
  7. ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาภาครัฐได้รับความร่วมมือด้วยดีจากภาคเอกชน จนทำให้ประเทศไทยยังคงปลอดจากโรค ASF มาจนถึงปัจจุบัน


          กรมปศุสัตว์ของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน (เร่งด่วน) จำนวน 950 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรค ASF ได้แก่

  • ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย เพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคในพื้นที่เสี่ยงสูง
  • รถกำจัดซากสัตว์ติดเชื้อเพื่อควบคุมโรคระบาด
  • เครื่องตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมในสภาพจริงแบบเคลื่อนที่

          ตลอดจนดำเนินมาตรการป้องกัน คือ การประกาศระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรจากประเทศที่มีการระบาดของโรค และบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสุกร ผลิตภัณฑ์สุกรเข้ามาในประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการ ขึ้นทะเบียนและประเมินความเสี่ยงด้วยแอพลิเคชั่น E-SmartPlus พร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกันเป็นต้น ซึ่งจะต้องเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบการของบประมาณดังกล่าว เพราะเป็นส่วนที่จะต้องเบิกจากงบกลางของนายกรัฐมนตรี

          ปัจจุบันจังหวัดที่ประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวังโรค ASF ในสุกรมีทั้งหมด 27 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี ตราด สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ บึงกาฬ หนองคาย เลย นครพนม มุกดาหาร เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก ราชบุรี กาญจนบุรี

เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง

          คณะกรรมการอำนวยการป้องกันควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติชุดนี้ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ โดยตำแหน่ง มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รองประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ โดยมีผู้บริหารสูงสุดกระทรวง กรมต่างๆ เข้าร่วมดังนี้

  1. กระทรวงมหาดไทย
  2. กระทรวงการคลัง
  3. กระทรวงกลาโหม
  4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  6. กระทรวงพาณิชย์
  7. กระทรวงสาธารณสุข
  8. กระทรวงคมนาคม
  9. สำนักงบประมาณ
  10. กรมการปกครอง
  11. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
  12. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  13. กรมประชาสัมพันธ์
  14. สัตวแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  15. สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย
  16. สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
  17. สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก
  18. ศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช

          โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยในการประชุมผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความประสงค์ที่จะให้การช่วยเหลือวาระแห่งชาติในครั้งนี้ ประกอบด้วย

          หลังจากกรมปศุสัตว์ได้บรรยายสรุปรายงานให้ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลปัจจุบัน ประธานการประชุมกล่าวขอบคุณภาคเอกชน เพราะการทำงานโดยกระทรวงเกษตรฯ อย่างเดียวไม่พอต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งทราบว่าทางการของประเทศอื่นๆ มีค่าปรับสูงและเข้มงวดต่อเรื่องนี้ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น  ห่วงเรื่องการท่องเที่ยวถ้าตรวจเข้มงวด การประชุมครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นในการผลึกกำลังเต็มที่ งบประมาณถ้ารอสภาจะไม่ทัน ใช้งบกลางของท่านนายกรัฐมนตรี ถ้าเราสามารถควบคุมได้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยประธานมองว่าถ้ามีการระบาด ความเสียหายจะมากกว่าที่กรมปศุสัตว์ประมาณการไว้ที่ 150,000 ล้านบาท

          นอกจากนั้นจะเป็นสรุปจากหน่วยงานในกระทรวงต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ

  • กระทรวงสาธารณสุขเสนอตัวให้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปช่วยเฝ้าระวังดูแลฟาร์มที่มีความเสี่ยงพร้อมประเมินและควบคุมต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจจะถูกซ้ำเติมหากมีการระบาดและประกาศเป็นทางการ
  • ศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวชได้ให้ข้อเสนอแนะประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อน

o   คือ นักท่องเที่ยวมีการนำผลิตภัณฑ์จากสุกรติดตัวเข้ามา โดยยกกรณีที่มีการระบาดในประเทศติมอร์-เลสเต และอินโดนีเซีย เป็นการติดเชื้อจากเศษอาหารจากนักท่องเที่ยว เช่นกัน 

o   การใช้เศษอาหารจึงเป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไข เพราะตอนนี้รอบบ้านเราไฟไหม้ โดยฟาร์มรายย่อยที่ขาดระบบการจัดการฟาร์มที่ดีจะเป็นเสมือนเชื้อไฟ ถ้าคุมรายย่อยไม่อยู่ เชื้อจะลามถึงรายใหญ่ที่มีระบบการจัดการที่ดี ที่จะทำความเสียหายกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

o   โดยเรื่องประชาสัมพันธ์เป็นการทั่วไปมีความสำคัญมาก ที่จะสร้างให้นักท่องเที่ยวตระหนักที่จะไม่นำผลิตภัณฑ์สุกรติดตัวเข้ามา

o   ขอให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น สอดส่องการจัดการฟาร์มรอบพื้นที่ แม้ยังไม่เกิดความเสี่ยงใดๆ ให้นำไปฆ่าโรงเชือดในกรณีเพื่อเป็นอาหาร โดยประธานให้กรมปศุสัตว์ประสานงานเรื่องนี้ และให้รายงานประธานทราบด้วย

  • กระทรวงคมนาคมที่ดูแลการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.)ขอให้กรมปศุสัตว์ประสานเกี่ยวกับรายละเอียดที่จะให้ทำการประชาสัมพันธ์กับผู้เดินทางระหว่างประเทศ ยินดีรับไปดำเนินการ ประธานสั่งการให้กรมปศุสัตว์ประสานกระทรวงคมนาคมเรื่องการประชาสัมพันธ์
  • สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากมีสัตว์แพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรตลอดชายแดนที่เป็นเขตจังหวัดเฝ้าระวัง ที่มีความยาวประมาณ 5,000-6,000 กิโลเมตร

o   ตามระยะทาง 5,000-6,000 กิโลเมตร ที่ยาวมาก แนะนำให้กองกำลังตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เข้ามาช่วยดูแล

o   การระบาดที่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ติมอร์-เลสเต   ล้วนมาจากเศษอาหาร ฝากเทศบาลคุมเศษอาหารจากโรงแรม ภัตตาคาร เพื่อลดความเสี่ยง โดยเรื่องเศษอาหาร

  • สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย แสดงความห่วงใยผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศจีน ผักผลไม้ต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ใช้มูลสัตว์มาเป็นปุ๋ย  ผลิตภัณฑ์ปุ๋ย ให้ช่วยกันดูแลฟาร์มรายกลางถึงรายใหญ่ด้วย เป็นโอกาสที่ดีที่จะกำหนดฟาร์มมาตรฐานเป็นภาคบังคับ เพื่อความยั่งยืน ลดพาหะนำโรคเข้าสู่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร

o   กองควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ รายงานว่าวัตถุดิบที่มาจากกระดูกป่นมีการตรวจโรงงานต้นทาง ที่ผ่านมายังไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อ

o   กรณีเนื้อกระดูกป่นเกรดปุ๋ยแล้วมาทำเป็นอาหารสัตว์ ปัจจุบันมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดประเภท ชนิด และคุณสมบัติของอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ.2562 ที่ประกาศเมื่อ 17 ตุลาคม 2562 เข้ามาควบคุมอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียนควบคุมเฉพาะแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์

o   ข้าวโพด มันสำปะหลัง มีการตรวจตัวอย่างตามโรงงานที่จัดเก็บยังไม่พบเชื้อ ASF โดยมีเป้าหมายตรวจให้ครบ 400-500 โรงงานภายในปีนี้

  • สัตวแพทยสภา ขอบคุณกรมปศุสัตว์ที่ช่วยกันป้องกัน ASF จนถึงวันนี้ โดยสัตวแพทยสภา มีการให้บริการงานวิจัยเชื้อไวรัส ASF รวดเร็วและราคาถูก
  • กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยพร้อมให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเน้นสื่อสารว่าประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของ ASF
  • สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติโดยนายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวขอบพระคุณทุกภาคส่วน โดยหลังการประกาศให้การเฝ้าระวังป้องกัน ASF เป็นวาระแห่งชาติ ก็รอวันนี้ที่จะมีการประชุมมานานมาก โดยตอนนี้ ASF เป็นวิกฤตโลกไปแล้ว ถ้าไทยผ่านวิกฤตนี้ไปได้รายย่อยกว่า 150,000 ราย จะยังคงอยู่ ซึ่งถ้ามีเชื้อเข้า ก็จะเสี่ยงที่จะมีเชื้อในดินไปอีก 2 ปี

o   12 กรกฎาคม 2562 เอกชนตั้งกองทุน ASF เพื่อบริหารจัดการจุดเสี่ยง ใช้เงินไปแล้ว 62 ล้านบาท รอบบ้านมีการระบาดและไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ปล่อยหมูติดเชื้อลอยแม่น้ำกกเข้ามาไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ช่องน้ำแม่กก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไหลมาเรื่อย ๆ จนผ่านตัวอำเภอเมืองเชียงราย

o   วันนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติมีการของบประมาณจากงบกลางของนายกรัฐมนตรี จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการระบายการส่งออกตั้งเป้าไว้ 1 ล้านตัวๆ ละ 500 บาท ในช่วง 1 ปีจากนี้ไป

  • กระทรวงพาณิชย์ รายงานที่ประชุมว่าวงเงินหมุนเวียนที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และกรมปศุสัตว์ ขออนุมัติไปจำนวน 500 ล้านบาท กับ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ผ่านการพิจารณากรอบวงเงินแล้ว มีการส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงการคลังแล้ว
  • กรมศุลกากร เห็นด้วยให้มีการประชาสัมพันธ์การห้ามนำผลิตภัณฑ์สุกรติดตัวมากับการเดินทาง พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างระดับนานาชาติเพื่อสร้างความตระหนักรู้ตั้งแต่ก่อนการเดินทางเข้าประเทศ ในเรื่องข้อห้ามดังกล่าวสำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย
  • กรมบัญชีกลาง ได้ชี้แจงที่ประชุมว่ากรณีเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติแล้ว จะช่วยดำเนินการอย่างเร่งด่วน

 

สำหรับการติดตามเรื่องต่างๆ ในการประชุมของคณะกรรมการอำนวยการเฝ้าระวังป้องกันโรค ASF ในสุกร ผู้ประสานงานได้แก่ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 69/1 ถนนพญาไท ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02-653-4444 ต่อ 4145 โทรสาร 02-251-5700 E-mail:webmaster.dc@dld.go.th เพื่อการรายงานการปฏิบัติตามภารกิจของหน่วยงานต่างๆ กับประธานคณะกรรมการอำนวยการเฝ้าระวังป้องกันโรค ASF ในสุกร ในครั้งต่อไป

 

Visitors: 398,109