FTA THAI-EU 2020 ต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มให้หมูไทยอีก

FTA THAI-EU 2020 ต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มให้หมูไทยอีก

โดย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

          ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา วงการสุกรของไทยจัดว่ามีอุปสรรคในการประกอบอาชีพมากมาย โดยในส่วนของการค้าสุกรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากต่างภูมิภาค เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหลักที่กดดันให้ไทยเปิดตลาดให้สินค้าสุกรของเขามาตลอด และประเทศแคนาดาที่เคยมาเจรจาเช่นกัน แต่ไทยได้ชี้แจงไปว่าการผลิตของไทยยังเกินกว่าความต้องการการบริโภคในประเทศ ส่วนยุโรปก็มีหลายประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสุกรเชิงคุณภาพสูง

          การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป จะมีการนำมาขึ้นโต๊ะเจรจากันใหม่ หลังจากหยุดไปจากการเจรจาช่วงปี 2556-2557 ทั้งนี้ ข้อมติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเมื่อปี 2557 ระบุไว้ว่า สหภาพยุโรปจะเริ่มเจรจาความตกลง FTA กับไทยอีกครั้งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งต่อมาเมื่อปลายปี 2560 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้ปรับข้อมติให้เริ่มสำรวจความเป็นไปได้ของการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลง FTA กับไทยภายหลังความคืบหน้าการเตรียมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560

          ดังนั้น ปัจจุบันจึงถือได้ว่าเงื่อนไขต่างๆ เอื้อต่อการรื้อฟื้นการเจรจาอย่างเป็นทางการ อีกทั้งในฝั่งของสหภาพยุโรปเองก็เพิ่งได้คณะผู้บริหารชุดใหม่จากเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม โดยนโยบายของคณะผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ปีนี้ จะมีความหมายต่ออนาคตของสหภาพยุโรปและทิศทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

          เมื่อ 17 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญภาคเกษตรของไทยทุกแขนงเข้าร่วมประชุมให้ข้อมูล โดยมีนางสาวเก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ์ รองอธิบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นประธานในการประชุม โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมให้ข้อมูลในครั้งนี้ด้วย โดยฝ่ายวิชาการเป็นผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูล ดังนี้

  • ปริมาณความสามารถในการผลิตสุกรของไทยสูงกว่าปริมาณความต้องการการบริโภคภายในประเทศ การค้าระหว่างประเทศสุกรไทยยังมีข้อจำกัดในการส่งออกจากการเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย การส่งออกสุกรของไทยจึงทำได้เพียงสุกรแปรรูปบางส่วนกับบางบริษัทขนาดใหญ่ และการส่งสุกรมีชีวิตทั้งสุกรขุนและสุกรพันธุ์ สัดส่วนรวมเพียง 2-3% ของปริมาณการผลิตเท่านั้น จึงทำให้จำนวนผลผลิต 97-98%ต้องอาศัยตลาดภายในประเทศเป็นหลัก  ได้ตอบคำถามเรื่อง FMD Compartment และ FMD Free Zone with Vaccination for Export ในเขต 2 ภาคตะวันออกว่ายังคงอยู่ในกระบวนการภายใต้การดูแลของกรมปศุสัตว์  
  • 70% ของต้นทุนการผลิตสุกรเป็นต้นทุนอาหารสัตว์ ที่ไปรองรับพืชผลทางการเกษตรกลุ่มพืชอาหารสัตว์ ตามนโยบายรัฐ ทั้งปริมาณการผลิตและราคาที่เกษตรกรพึงได้รับ เช่น ต้องใช้ผลผลิตข้าวโพดในประเทศเป็นลำดับแรก โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มีการขอความร่วมมือกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ให้รับซื้อข้าวโพดราคาห้ามต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ในหลายฤดูกาลผลิตข้าวโพดโดยไม่มีการกำหนดเพดานสูงสุด ซึ่งเคยขึ้นสูงสุดกว่า 11 บาทต่อกิโลกรัม การขอความร่วมมือกับกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ก็เท่ากับกลุ่มปศุสัตว์สุกร และไก่เนื้อ ไก่ไข่ รับภาระดังกล่าวเป็นเป็นกลุ่มที่ใช้อาหารสัตว์ เสมือนการ“ประกันรายได้แบบซ่อนรูป”
  • กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจะได้รับการขอความร่วมมือเสมอจากกรมการค้าภายในเรื่องการดูแลราคาเพื่อผู้บริโภค ล่าสุดช่วงกลางปีนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและผู้เลี้ยงสุกรพร้อมใจให้ความร่วมมือควบคุมราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มไม่เกิน 75 บาทต่อกิโลกรัม จนปัจจุบันราคาสุกรขุนตกมาต่ำกว่าทุนราคาขายในพื้นที่การเลี้ยงมากสุดที่จังหวัดราชบุรี ราคาต่ำกว่า 60 บาททั้งพื้นที่(17 ตุลาคม 2562) โดยต้นทุนไตรมาส 3/2562 ประมาณการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่กิโลกรัมละ 65 บาท
  • สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มที่ส่งออกผลิตภัณฑ์สุกรลำดับต้นๆ ของโลกเคียงคู่กับสหรัฐอเมริกา หลักๆ จะมีเยอรมัน สเปน ฝรั่งเศส โปแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ โดยเดนมาร์กจะมีความสามารถในเรื่องการพัฒนาสุกรพันธุ์ ผลผลิตลูกสุกรต่อแม่ต่อปี จำนวนเกินกว่า 30 ตัวต่อแม่ต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยใช้สุกรพันธุ์จากเดนมาร์กเป็นส่วนใหญ่

  • คาดว่ากรอบการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปจะมีการหยิบยกเรื่องการค้าสุกรมาร่วมแน่นอน เพราะข้อมูลจากที่ประชุมคุณคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย อ้างถึงประเทศสเปนแสดงเจตจำนงส่งผลิตภัณฑ์สุกรมาไทย เช่นกัน
  • ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้สรุปด้วยสภาพข้อเท็จจริงที่นำเสนอ จะเห็นว่าผู้เลี้ยงสุกรไทยต้องดูแลทั้งเกษตรกรพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ข้าวที่ใช้ผลพลอยได้ เช่น รำข้าว ปลายข้าว ดูแลทั้งผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งไม่แปลกที่นานาชาติไม่เพียงกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาต้องการสร้างตลาดส่งออกเนื้อสุกรและชิ้นส่วน แบบไม่คำนึงถึงสภาพความเสี่ยงต่ออาชีพของเกษตรกรประเทศคู่ค้า เพราะเป็นสินค้าเกษตรตั้งต้นที่จะไปรองรับเกษตรพืชอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ฟาร์มและการจ้างงานอีกมหาศาล จึงขอให้คณะผู้เจรจาหลีกเลี่ยงการเจรจาในเรื่องของผลิตภัณฑ์สุกร เพราะปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเครื่องในสุกรจากยุโรปในหลายๆ ประเทศ เฉลี่ยปีละ 20,000 ตัน

          คุณพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย แสดงความกังวลในที่ประชุมในเรื่องการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย สหภาพยุโรป โดยเฉพาะห่วงประชากรในภาคเกษตรร่วม 30 ล้านคน จะได้รับผลกระทบจากกลุ่มสินค้าในกลุ่มเกษตรกรรมที่คล้ายกัน ในขณะที่ประเทศเรายังมีปัญหาการกระจายรายได้สู่ระดับล่างอยู่มาก จึงต้องคำนึงเรื่องนี้ให้มาก

          กรมเจรจาการค้ามีการเดินสายรับฟังข้อคิดเห็นในระดับภูมิภาค ประกอบด้วยเชียงใหม่วันที่ 22 ตุลาคม 2562 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา วันที่ 28 ตุลาคม 2562 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 โดยผลที่ได้จะรวบรวมและนำไปศึกษาวิเคราะห์เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ต่อไป โดยพื้นที่ส่วนกลางที่จัดที่กระทรวงพาณิชย์จะมีการเรียกประชุมอีกครั้ง โดยการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป จะเริ่มเจรจากันในปี 2563  

          สหภาพยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในประชาคมโลก มีประเทศในยุโรปเป็นสมาชิกถึง 28 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ประชากรรวมประมาณ 500 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นคู่ค้า

สำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น และเป็นนักลงทุนลำดับ 2ของไทย มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่ต้องมาพิจารณาเชิงยุทธศาสตร์ที่จะผสานกรอบการเจรจาที่สร้างผลบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย เพราะในด้านธุรกิจเกษตรจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกันที่อาจต้องทำการหลีกเหลี่ยงโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าปศุสัตว์

          ในปี 2561 การค้าไทย-สหภาพยุโรป มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และนำเข้าจากสหภาพยุโรป 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหภาพยุโรป เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากสหภาพยุโรป เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบินเครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากสหภาพยุโรปเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ

Visitors: 397,126