เขียงหมู : ปลายน้ำธุรกิจสุกรภาคใต้จี้การตลาด Loss Leader ห้างค้าปลีกทำเขียงทยอยตาย
เขียงหมู : ปลายน้ำธุรกิจสุกรภาคใต้จี้การตลาด Loss Leader ห้างค้าปลีกทำเขียงทยอยตาย
18 กรกฎาคม 2562 พัทลุง – การระดมความคิดต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำธุรกิจสุกรภาคใต้เข้มข้น ภาพสหกรณ์เป็นเป้าหมายหลักที่จะผลักดัน โดยมีฟาร์มต่อยอดเติบโตเป็นจำนวนมาก โดยอุปสรรคเขียงหมู ที่เป็นปลายน้ำธุรกิจสุกรภาคใต้กำลังพ่ายแพ้การตลาด Loss Leader ห้างค้าปลีกพร้อมสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาล้างปมเก่าวนเวียนไม่รู้จบ
นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานการบริหารจัดการพื้นที่การเลี้ยงสุกร 6 ภูมิภาค มีผู้ร่วมประชุมในวงการกว่า 300 คน ตั้งแต่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย สหกรณ์ผู้เลี้ยง ผู้เลี้ยงครบวงจร ผู้ผลิตอาหารสัตว์ โรงเชือด ผู้แปรรูป และผู้จำหน่ายเนื้อสุกรในพื้นที่ โดยการจัดตั้งนี้เป็นภูมิภาคที่ 2 ต่อจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ล่าสุดประชุม ครั้งที่ 2 เมื่อ 5 กรกฎาคม 2562 ที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 3 จังหวัดนครราชสีมา โดยความคืบหน้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะทำงานอยู่ระหว่างการสร้างฐานข้อมูลปศุสัตว์พื้นที่ทั้ง 20 จังหวัดเพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกรเดินหน้าขึ้นทะเบียนฟาร์มเป็นภารกิจแรก เพื่อเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐานทั้ง GFM (Good farm management) และ GAP (Good Agricultural Practices) เพื่อเตรียมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อื่นๆ ต่อไป
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 20 จังหวัดประกอบด้วย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี โดยมีการเลี้ยงสุกรหนาแน่นในกลุ่ม นครชัยบุรินทร์ หรือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์
ในการประชุมภาคใต้ คุณปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ได้นำเสนอภาพอุตสาหกรรมสุกรภาคใต้ในหัวข้อ “แนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร” โดยอุตสาหกรรมสุกรภาคใต้มีการกระจายตัวของการพัฒนาในวงกว้าง มีการต่อยอดนับเป็นจำนวนผู้ประกอบการชั้นนำสูงมาก เช่น บริษัท ช.เกษตรรุ่งเรือง จำกัด บริษัท ตรังวัฒนาฟาร์ม จำกัด ยะลาพันธุ์สัตว์ฟาร์ม จังหวัดยะลา กิตติฟาร์ม / ยะลาฟูดส์ จังหวัดยะลา หมูบัณฑิตฟาร์ม จังหวัดภูเก็ต
สำหรับเกษตรกรรายเล็ก หากมีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์จะเป็นโอกาสที่จะทำให้รายเล็กเข้มแข็ง พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ เช่น การรวมกลุ่มของสหกรณ์ในจังหวัดพัทลุง ตั้งเป็นกลุ่มคลัชเตอร์ ซึ่งประกอบด้วย
- สหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์พัทลุง จำกัด
- สหกรณ์การเกษตรพนมวังก์ จำกัด
- สหกรณ์การเกษตรปากพะยูน จำกัด
- สหกรณ์การเกษตรเมืองพัทลุง จำกัด
- สหกรณ์การเกษตรเขาชัยสน จำกัด
นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ได้สรุปไว้ช่วงท้ายของการนำเสนอไว้ดังนี้
1) ได้เกิดการระบาดของโรค ASF ใน เวียดนาม, กัมพูชา และลาวซึ่งไทยมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดโรคนี้ หากเกิดการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทยขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันโรคเข้าพื้นที่ภาคใต้จึงขอความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์ให้ระงับการอนุญาตเคลื่อนย้ายสุกรทุกประเภทลงภาคใต้ จนกว่าโรคจะสงบลง ( เขตปลอดโรค ASF ภาคใต้ )
2) สนับสนุนหรือปรับปรุงให้มีโรงฆ่าสุกรขนาดที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงรายเล็กในพื้นที่
3) เร่งรัดการจดทะเบียนฟาร์มสุกร
4) การรักษาเสถียรภาพราคาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องจริงใจที่จะช่วยเหลือกัน
5) เกษตรกรรายเล็กต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจ
6) ภาคราชการต้องออกมาสัมผัสกับเกษตรกรรายเล็กภายนอก
7) สหกรณ์ต้องเข้มแข็งเพราะภาคราชการพร้อมจะสนับสนุนและจะเป็นที่รักของสมาชิก
ในช่วงการทำ Workshop กลุ่ม ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสิ่งที่สรุปจะนำมาจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนและสรุปในการประชุมครั้งต่อไป
ผู้ร่วมประชุมปลายน้ำโวย Loss Leader ห้างค้าปลีกเนื้อหมูขายต่ำกว่าทุน
ประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนความเห็นมาก คือ กลุ่มปลายน้ำของผู้ประกอบการจำหน่ายเนื้อสุกร ที่ประสบปัญหาขาดความสามารถในการแข่งขันที่จะสู้กับกลยุทธ์ Loss Leader ของห้างค้าปลีกไม่ได้ จากราคาจำหน่ายปลีกที่ต่ำมาก ทำให้กลุ่มปลายน้ำเข้าใจว่าห้างขายขาดทุน แต่จากข้อมูลของผู้ค้าส่งชิ้นส่วนที่อยู่ต้นน้ำ กับ กลางน้ำ ในที่ประชุม ปรากฏว่าห้างกำหนดราคารับซื้อที่เมื่อคำนวณกลับไปยังต้นทุนสุกรขุนได้ผลเป็นการขาดทุน ในการออกความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ได้มีการเทียบกับข่าวการปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันปาล์มจากขวดละ 24 บาท เป็น 34 บาท หลังจากห้างค้าปลีกวางจำหน่ายได้ไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลจากกรมการค้าภายในการปรับว่าไม่ให้นำน้ำมันปาล์มมาจัดโปรโมชั่นเพราะราคาต่ำจะทำให้กระทบเกษตรกรปาล์มน้ำมัน(กรมการค้าภายใน สั่งห้ามทำโปรโมชันลดราคาน้ำมันปาล์ม : จับตาข่าวเด่น (14 มิ.ย. 62) https://www.youtube.com/watch?v=QFZUOMA4CKo) โดยถ้ายังมีการฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าในประเด็นขายขาดทุนเป็นระยะเวลานาน
และประเด็นดังกล่าวผู้ร่วมประชุมได้กล่าวว่ามีการยื่นกระทู้ในรัฐสภาโดย คุณมนพร เจริญศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย จังหวัดนครพนม และตอบคำถามโดยอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์นางชุติมา บุณยประภัศร ว่ากระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ในการดูแลการค้าตลอดห่วงโซ่ให้จำหน่ายโดยสะท้อนต้นทุน
ซึ่งประเด็นดังกล่าวขัดแย้งกับสินค้าสุกร และเนื้อสุกร ที่ราคาจำหน่ายปลีกของห้างที่ต่ำมาก(จากการตั้งราคารับซื้อต่ำ) ทำให้พ่อค้าคนกลางนำไปกดราคาหน้าฟาร์มต่อในช่วงราคาขาลงเป็นวงจรไม่สิ้นสุด ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีการนำข้อเคลือบแคลงนี้ไปหารือต่อเพื่อสร้างความชัดเจนในการดูแลสินค้าสุกรต่อไป เพราะกรมการค้าภายใน กับ การดูแลราคาสุกรและเนื้อสุกร เป็นส่วนหนึ่งที่เสียงของผู้เลี้ยงสะท้อนมาว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงมานานปี...ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความชัดเจนให้ผู้เลี้ยง