สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผนึกกำลัง ซีพีเอฟ-เบทาโกร-ไทยฟู้ดส์ ป้องอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผนึกกำลัง ซีพีเอฟ-เบทาโกร-ไทยฟู้ดส์ ป้องอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะสำหรับขนส่งปศุสัตว์ให้รัฐ 5 ด่านกักสัตว์ชายแดน

28 กุมภาพันธ์ 2562  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ร่วมมือกับภาคเอกชนทั้ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ, บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) แก่ด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่เสี่ยงที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะสำหรับขนส่งปศุสัตว์ที่ด่านกักสัตว์ชายแดน ใน 5 จังหวัดเป้าหมาย เพื่อสร้างปราการป้องกันโรค ASF ไม่ให้เข้ามาทำลายภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยได้อย่างเด็ดขาด โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกร รับผิดชอบสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อฯ บริเวณริมทางหลวงใกล้ด่านกักกันสัตว์ จ.หนองคาย ซึ่งสมาคมได้ขอพื้นที่ริมถนนจากกรมทางหลวง การก่อสร้างใช้วงเงิน 1 ล้านบาทเศษ และจะส่งมอบให้กรมปศุสัตว์รับผิดชอบดำเนินการต่อไป ส่วนซีพีเอฟ รับผิดชอบสร้าง 2 จุด ที่ด่าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และด่าน จ.มุกดาหาร สำหรับเบทาโกรรับผิดชอบสร้างที่ด่านกักกันสัตว์ จ.นครพนม และไทยฟู้ดส์ รับผิดชอบสร้างที่ด่านปอยเปต จ.สระแก้ว

“การที่ภาคเอกชนร่วมกันลงขันสร้างศูนย์ทำความสะอาด พร้อมติดตั้งเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ในครั้งนี้ เกิดจากความตื่นตัวและร่วมมือกันสกัดกั้นโรค ASF อย่างเต็มที่ โดยดำเนินควบคู่ไปกับการเข้มงวดในการบริหารจัดการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ยกเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมขออนุมัติงบประมาณบูรณาการป้องกันโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้น วันนี้แม้โรคจะยังไม่เข้าสู่ไทย ก็ยิ่งต้องเพิ่มความเข้มงวดให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมสุกรของไทยตลอดห่วงโซ่ที่มีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท ได้รับความเสียหาย และขอย้ำว่าโรคนี้ติดต่อเฉพาะสุกรเท่านั้น ไม่ติดต่อคนและสัตว์อื่น ผู้บริโภคสามารถรับประทานเนื้อสุกรได้ 100%” นายสุรชัย กล่าวและว่า

โรคดังกล่าวต้องมีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในระดับสูง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อ โดยต้องพ่นยาฆ่าเชื้อรถบรรทุกปศุสัตว์ รถขนส่งวัตถุดิบ ฯลฯ ทั้งขาเข้าและภายหลังจากส่งออกที่ชายแดน รวมถึงการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้ออุปกรณ์บรรทุกและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ระยะเวลาขั้นต่ำ 30 นาที นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องกวดขันการลักลอบนำเข้า “หมูกี้” สำหรับทำหมูหัน จากเวียดนาม ผ่านสปป.ลาว แล้วเข้าชายแดนไทย เพราะอาจเป็นพาหะแพร่กระจายโรคนี้ได้ ขณะที่ด่าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จะต้องเข้มงวดตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ติดเข้ามากับรถบรรทุกจากประเทศจีน รวมถึงรถนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในไทยผ่านช่องทางดังกล่าวด้วย./

Visitors: 395,579