สมาคมหมูส่งหนังสือเวียนขอให้ผู้เลี้ยงสุกรสำรวจและปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพกับ ทุกฟาร์มสุกร

สมาคมหมูส่งหนังสือเวียนขอให้ผู้เลี้ยงสุกรสำรวจและปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพกับ ทุกฟาร์มสุกร

14 มกราคม 2562 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติส่งหนังสือเวียนถึงสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภูมิภาค ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกร แจ้งให้สมาชิกร่วมใจปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพทุกฟาร์มสุกร
          นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ หลังลงนามในหนังสือได้กล่าวถึงความกังวลกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรที่ถึงแม้จะคลายความกังวลลงไปบ้าง เพราะการระบาดที่ประเทศจีนเริ่มชะลอด้วย ถึงแม้จะมีรายงานการระบาดสะสมเกินกว่า 100 ครั้งไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดการระบาดจากฟาร์มรายย่อย จึงจำเป็นอย่างยิ่งกับการจัดการตัวเองด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่รัดกุมที่สุด

          ที่ผ่านมามีการให้ความรู้ความเข้าใจกับโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรจากหลายหน่วยงาน ตลอดจนแนวทางการจัดการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่ถือว่าสำคัญที่สุด โดยล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้นำเสนอแนวทางการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพ โดย ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้นำแนวทางดังกล่าวมาออกหนังสือเวียนเพื่อตอกย้ำให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงการจัดการตัวเองเป็นอันดับแรก สำหรับจุดเสี่ยงที่บรรจุลงไปในแบบฟอร์มประกอบด้วย

  • จุดแยกฟาร์ม กับ สำนักงานห้องอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าบู๊ทชาย-หญิง  
  • ระวังเรื่องสัตว์เลี้ยง ของใช้ในฟาร์ม
  • จุดพ่นยาฆ่าเชื้อ บ่อน้ำยารถวิ่งผ่าน
  • ปรับแต่งแท่นขายให้ป้องกันโรคได้ 100% ปรับทางน้ำ ป้องกันไม่ให้น้ำชะล้างไหลกลับเข้าฟาร์ม
  • การฆ่าเชื้อที่อาจมาจากร้องเท้า-เสื้อผ้าบุคคลภายนอก ยานพาหนะ อุปกรณ์ต่างๆไม่ซื้อสุกรภายนอกที่อมเชื้อตัวใหม่เข้ามาปนฝูง
  • นำสุกรมาทดแทนจากแหล่งปลอดภัยเสมอ
  • เปลี่ยนใช้บู๊ทของฟาร์ม
  • จุ่มบู๊ทก่อนเดินเข้าโรงเรือน
  • จุ่มบู๊ทก่อนออกจากโรงเรือน
  • ป้องกันจุลินทรีย์ก่อโรค เข้า และ ออก
  • หลังการใช้บู๊ท ล้างบู๊ท คว่ำบู๊ท สะอาดพร้อมใช้ในครั้งต่อไป

 

สำหรับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในภาพใหญ่ตามแนวชายแดนที่ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐโดยล่าสุดกองทุนดังกล่าวมีภาคเอกชนแสดงความประสงค์ร่วมสมทบทุนมาแล้ว ประกอบด้วย

  1. บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)                   จำนวน 1,000,000 บาท
  2. เครือเบทาโกร                                                 จำนวน 1,000,000 บาท
  3. บริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน)         จำนวน 2,000,000 บาท
  4. กรมปศุสัตว์โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ             จำนวน    300,000 บาท
  5. บริษัท เอกหฤกษ์ จำกัด(เครือพนัสโภคภัณฑ์)         จำนวน    100,000 บาท
  6. สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร ชลบุรี จำกัด                           จำนวน    120,000 บาท
  7. สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย                                จำนวน    100,000 บาท

                                         รวม                             จำนวน    4,620,000 บาท

โดยการดำเนินการปรับปรุงด่านให้มีจุดล้างทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้ออัตโนมัติ 4 ด่านชายแดนทางฝั่งตะวันออก และ 1 ด่านชายแดนทางตอนเหนือของไทย จะมีการประชุมความคืบหน้าของการปรับปรุงและพิจารณาแบบในวันที่ 16 มกราคม 2562 นี้ ซึ่งจะประชุมร่วมในการประชุมกรรมการประจำเดือนของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ ที่ทำการของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยทั้ง 5 ด่านยังคงเป็น

  1. ด่านหนองคาย ถนนเฉลิมพระเกียรติสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอ 

เมือง จังหวัดหนองคาย

  1. ด่านนครพนม ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
  2. ด่านมุกดาหาร ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
  3. ด่านสระแก้ว อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
  4. ด่านเชียงแสน ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ด่านเช่าพื้นที่เอกชน ที่มีปริมาณ ขนส่งหมูหนาแน่นที่สุดไปจีน  

 

ล่าสุดรายงานการระบาดเมื่อ 12 มกราคม 2562 ที่ประเทศจีนเริ่มมีการระบาดในฟาร์มใหญ่ขนาด 68,969 สุกรขุน โดยมีการติดเชื้อไปร่วม 2,452 ตัว ตาย 1,369 ตัว ในฟาร์มที่อำเภอซีหยาง เมืองซูเหชียน มณฑลเจียงซู

          สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประสงค์ให้ภารกิจเฝ้าระวังและป้องกัน เป็นภาระกิจร่วมกันของทุกฟาร์มเพื่อผลสูงสุดของการป้องกันการเข้ามาของโรคในครั้งนี้ โดยหนังสือดังกล่าวสมาคมฯ ประสงค์ให้เกิดความร่วมมือกับทุกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภูมิภาค ทุกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร และทุกชมรมผู้เลี้ยงสุกร โดยมีเป้าหมายให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จพร้อมส่งรายงานภายในวันที่ 31 มกราคม 2562 เพื่อประสานต่อไปยังกรมปศุสัตว์ กับ แผนการวางมาตรฐานฟาร์มรายย่อยที่มีจำนวนต่ำกว่า 500 สุกรขุนในระบบ GFM หรือ Good Farm Management ซึ่งจะเป็นรูปแบบ Biosecurity เพื่อให้ครอบคลุมกับฟาร์มรายย่อยทั่วประเทศต่อไป

Visitors: 398,096