การไม่ฆ่าเชื้อทำความสะอาดกับยานพาหนะและคน สาเหตุสูงสุดการติดเชื้อ ASF ในจีน

การไม่ฆ่าเชื้อทำความสะอาดกับยานพาหนะและคน สาเหตุสูงสุดการติดเชื้อ ASF ในจีน

วันที่ 11 ธันวาคม 2561 จีน - African Swine Fever ส่งผลกระทบอย่างไรต่ออุตสาหกรรมสุกรจากการประกาศโรคระบาดใกล้ร้อยครั้ง

          China Animal Health and Epidemiology Center (ศูนย์สุขภาพสัตว์และโรคระบาด) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 การระบาดของโรค ASF ถึง 87 กรณี ในประเทศจีน ใน 57 เมือง 21 จังหวัด และมีการทำลายสัตว์ที่ติดเชื้อไปแล้ว 613,000 ตัว คิดเป็น 2% ของสุกรในระบบ ซึ่งในจังหวัด Liaoning มีการประกาศโรคระบาดถึง 18 กรณี และจังหวัด Jilin พบการติดเชื้อนี้ที่หมูป่าอีกด้วย

          จากการประกาศของกระทรวงเกษตรและชนบท (Ministry of Agricultural and Rural Affairs) ประเทศจีนพบโรคเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม โรค ASF ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากภาคเหนือลงสู่ตอนใต้และแพร่กระจายไปยังทางตะวันตกของประเทศ โดยมีเมือง Shaanxi เป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบล่าสุด (2 ธันวาคม) สามารถสรุปสาเหตุได้ 3 กรณี ได้แก่

 

  • การขนส่งเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิต ซากสุกร และผลิตภัณฑ์ข้ามจังหวัด (19%)
  • การใช้เศษอาหารเลี้ยงสุกร (34%)
  • การแพร่กระจายโดยคน ยานพาหนะ โดยที่ไม่มีการฆ่าเชื้อทำความสะอาด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการแพร่กระจายของเชื้อในประเทศจีน (46%)

          เพื่อเป็นการแก้ปัญหา ทางสภารัฐของประเทศจีน (China’s State Council) ออกประกาศห้ามใช้เศษอาหารเลี้ยงสุกรทั่วประเทศ และห้ามเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตทั้งในจุดเกิดโรค และบริเวณข้างเคียงของจุดเกิดโรค ซึ่งจะมีการถอนประกาศห้ามเคลื่อนย้ายเมื่อโรคสงบ เช่นในจังหวัด Liaoning และ Henan

ส่วนต่างของราคาสุกร ตามจังหวัดต่างๆ

          เกิดส่วนต่างทางราคาในตลาดสุกร ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการอุบัติของโรค ASF และนโยบายทางสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ (environmental policy) ในช่วงปีที่ผ่านๆมา โดยเฉพาะในกรณีหลังๆ ซึ่งมีการบังคับปิดตัวของฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่ได้มาตรฐาน ในขณะที่ฟาร์มระดับอุตสาหกรรมหลายแห่ง ย้ายฐานกำลังผลิตจากทางตอนใต้ขึ้นเหนือ และจากทางวันออกไปตะวันตก

          จากผลกระทบของนโยบายสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2558 และการระบาดของโรค ASF เมื่อเดือนสิงหาคม การตลาดค้าสุกรในประเทศจีนถูกแบ่งออกเป็น 2 สถานะ คือ กลุ่มจังหวัดที่มีการผลิตสุกรส่วนเกิน และกลุ่มจังหวัดที่มีการบริโภคไม่สมดุล กราฟแสดงให้เห็นถึงความต่างของราคาสุกรในกลุ่มจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจาก ASF โดยเฉพาะช่วงที่มีการห้ามเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิต

          จังหวัด Zhejiang และ Sichuan ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีการบริโภคสุกรไม่สมดุล เนื่องจากการประกาศใช้นโยบายสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2558 ปริมาณการขายสุกรมีชีวิตในพื้นที่จังหวัด Zhejiang ลดลงปีละ 12% จนเหลือ 6.8 ล้านตัว ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ตามด้วยการเกิดโรค ASF ใน Henan Jiangsu และ Anhui การเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตจากจังหวัดเหล่านั้นมายัง Zhejiang จึงถูกระงับ ทำให้ราคาสุกรมีชีวิตพุ่งขึ้นสูงถึง 40.2% (จาก 14.3 หยวน วันที่ 23 สิงหาคม เป็น 20.1 หยวน ในวันที่ 19 กันยายน) เช่นเดียวกันในจังหวัด Sichuan ซึ่งราคาสุกรมีชีวิตพุ่งขึ้นสูงจากอุบัติการณ์ของโรค ASF (Sichuan มีบทบาทสำคัญต่อตลาดสุกรทั้งในส่วนของการผลิตและการบริโภค - ปี 2560 ผลิตได้ 65.8 ล้านตัว และบริโภค 36.16 กก./คน)

          จากสถานการณ์ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศจีนตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา ราคาสุกรที่ Sichuan เพิ่มสูงขึ้น และออกห่างจากค่าเฉลี่ยของราคาสุกรทั้งประเทศมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากการระบาดของ ASF ในพื้นที่ Yunnan Guizhou และ Chongqing ตามลำดับ และทำให้ถูกระงับการเคลื่อนย้ายสุกรจากจังหวัดเหล่านั้นมายัง Sichuan และสุดท้าย เกิดการระบาดของโรคในพื้นที่ Sichuan เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ทำให้ราคาสุกรยิ่งสูงขึ้น

          กลับกันกับจังหวัด Liaoning และ Heilongjiang (จังหวัดที่มีการผลิตสุกรส่วนเกิน) ที่ราคาตกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน เนื่องจากการระบาดของโรค ASF ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายสุกรออกนอกพื้นที่ได้ ส่งผลให้เกิดการค้างของสุกร (ความแตกต่างของราคาสุกรของ Liaoning และ Zhejiang เท่ากับ 10.2 หยวน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม (ซึ่งราคาสุกรมีชีวิตใน Liaoning ลดลงจาก 12.6 หยวน วันที่ 3 สิงหาคม เป็น 8.8 หยวน ในวันที่ 29 ตุลาคม))

ผลกระทบของ ASF ต่อการนำเข้าในประเทศจีน

          จากข้อมูลของศุลกากร จีนมีการนำเข้าเนื้อสุกร 923,052,233 ตัน ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตขึ้น 0.3% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน

          ประเทศจีนชะลอการนำเข้าจากประเทศฮังการีและเบลเยียมตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม และ 14 กันยายนตามลำดับ หลังจากที่มีการประกาศการระบาดของโรคในประเทศข้างต้นเมื่อปี 2560 (ประเทศจีนนำเข้าเนื้อสุกร 6,806 ตัน และเครื่องในสุกร 21,317 ตัน จากประเทศเบลเยียม คิดเป็น 0.6% และ 1.7% ของการนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่ประเทศฮังการี มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 2% และ 1.1% ตามลำดับ)

          อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ผลกระทบจากทั้ง 2 ประเทศ ข้อกังวลไม่ได้มาจากการที่ผู้นำเข้าจะหาสินค้ามาทดแทนได้หรือไม่ แต่เป็นความกังวลว่าเชื้อจะแพร่กระจายภายในกลุ่มประเทศยุโรปหรือไม่ โดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมันซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านที่พบการระบาดของโรค ASF เพียงแค่ 20 กม. และ 65 กม. ตามลำดับ ซึ่งหากพบการระบาดในประเทศเหล่านี้ จะต้องถูกระงับการนำเข้าประเทศจีนโดยทันที

อีกทั้งผู้นำเข้าไม่สามารถชดเชยการขาดแคลนสุกรในพื้นที่ส่วนต่างๆในประเทศจีนได้ เนื่องด้วยการห้ามเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ในจังหวัดรอบข้างการระบาด (พื้นที่สีน้ำเงิน) และบางจังหวัดมีการควบคุมโรคที่เข้มข้นยิ่งขึ้น เช่น การห้ามนำผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้าสู่ตลาด อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการหมุนเวียนของเนื้อสุกรนำเข้าจากต่างประเทศ

ที่มา : โดย Angela Zhang http://www.thepigsite.com/articles/5478/african-swine-fever-in-china-87-cases-and-counting/

 

Visitors: 398,084