ทีมปกป้องเกษตรกรสมาคมหมูกัดไม่ปล่อย อุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดจี้ มกอช.ค้านย้อนหลังปมโคเด็กซ์ MRLs ของ Ractopamine ครั้งที่ 35
ทีมปกป้องเกษตรกรสมาคมหมูกัดไม่ปล่อย อุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดจี้ มกอช.ค้านย้อนหลังปมโคเด็กซ์ MRLs ของ Ractopamine ครั้งที่ 35
7 พฤษภาคม 2561 สมาคมหมูอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดให้สั่ง สำนักงานมาตรฐานสินค้าอาหารและเกษตรแห่งชาติ(มกอช.)ตั้งข้อสงวนย้อนหลังไม่เห็นด้วยมติ MRLs ของแรคโตพามีน หลังคณะจากไทยสร้างความกังขาวางตัวเป็นกลางในการประชุมโคเด็กซ์ครั้งที่ 35 ปี 2555
หลังการพิจารณาของศาลปกครองกลางที่ยื่นโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเมื่อ 26 ธันวาคม 2561 โดยมีคำขอ ”ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการยื่นบันทึกความไม่เห็นชอบในการรับรองหรือตั้งข้อสงวน หรือดำเนินการคัดค้านข้อมติผลการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ [Codex Alimentarius Commission] ครั้งที่ 35 ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี วันที่ 2-7 กรกฎาคม 2555 เรื่อง รับรองร่างมาตรฐานค่าปริมาณยาสัตว์ตกค้างสูงสุดสำหรับแรคโตพามีน [Ractopamine]”
ในการลงคะแนนเสียงรับมติ MRLs ของ Ractopamine ในครั้งนี้เป็นเรื่องแปลกที่คณะผู้เข้าร่วมจากประเทศไทยที่นำโดย น.สพ.ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ หัวหน้าคณะได้วางตัวเป็นกลาง ทั้งๆ ที่ไทยมีกฎหมายห้ามใช้ ห้ามปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ในขณะที่ผู้แทนสหภาพยุโรปได้แสดงเจตจำนงที่จะยังคงกฎหมายของสหภาพยุโรปในปัจจุบันไว้ โดยบางส่วนเช่น จีน รัสเซีย ได้ขอบันทึกไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว
ล่าสุดศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจ ทนายความของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ทำการยื่นอุทธรณ์ต่อไปยังศาลปกครองสูงสุดต่อไป โดยการประชุมโคเด๊กซ์ ครั้งที่ 35 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้มีการยื่น ปปท.ฟ้องคณะที่เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทยในฐานความผิดการงดเว้นกระทำการ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.)
ศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดมีศาลเดียวจึงไม่มีข้อจำกัดด้านเขตอำนาจ ดังนั้นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด ไม่ว่ามูลคดีจะเกิดที่ใด หรือผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใดก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ เพียงแต่ต้องยื่นฟ้องให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ คดีนั้นต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยตรง ถ้าเป็นคดีตามมาตรา 11 (1) (2) และ (3) หรือยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้น ถ้าเป็นคดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นตาม มาตรา 11 (4)
ในศาลปกครองสูงสุด มีตำแหน่งตุลาการศาลปกครอง คือ
(1) ประธานศาลปกครองสูงสุด
(2) รองประธานศาลปกครองสูงสุด
(3) ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
(4) ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
(5) ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่ ก.ศป. ประกาศกำหนด
จำนวนตุลาการในองค์คณะของศาลปกครองสูงสุด
รัฐธรรมนูญได้วางหลักในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีจากศาลอย่างยุติธรรม โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 236 ว่าการนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการที่มิได้นั่งพิจารณาจะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้
ในศาลปกครองสูงสุดต้องมีตุลาการอย่างน้อย 5 คน จึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา
อย่างไรก็ตาม ในวิธีพิจารณาคดีปกครองยังมีตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ในกระบวนพิจารณาอีก 2 ตำแหน่งที่มีความสำคัญ แต่มิได้มีการกำหนดให้ผูกพันกับบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง คือ ตำแหน่งตุลาการเจ้าของสำนวนที่แต่งตั้งโดยตุลาการหัวหน้าคณะจากตุลาการในองค์คณะนั้น
ตุลาการอีกตำแหน่งในกระบวนพิจารณา คือ ตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดจะแต่งตั้งจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดหรือจะแต่งตั้งจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นก็ได้
คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด 4 ประเภทตามมาตรา 11 คือ
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด ขณะนี้ที่ประชุมใหญ่ฯ ยังไม่ได้กำหนดให้คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ จึงต้องฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลปกครองชั้นต้น เพราะเป็นคดีตามมาตรา 9 (1) อยู่แล้ว และเมื่อใดที่มีประกาศกำหนดของที่ประชุมใหญ่ฯให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทใดฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 (1) อำนาจของศาลในการพิพากษาคดีจะเป็นไปตามมาตรา 72 (1)
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยปกติคดีประเภทนี้ก็เป็นคดีลักษณะเดียวกับคดีตามมาตรา 9 (1) นั่นเอง แต่ด้วยความสำคัญของกฎดังกล่าวจึงให้ฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้โดยตรง อำนาจของศาลในการพิพากษาคดีจะเป็นไปตามมาตรา 72 (1)
(3) ลักษณะคดีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด ปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายเฉพาะดังกล่าว
(4) คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น คดีประเภทนี้มีการกำหนดขั้นตอนการตรวจอุทธรณ์ การพิจารณาอุทธรณ์และการพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ
อนึ่ง คดีตาม (1) และ (2) ข้างต้น ผู้ฟ้องคดีอาจเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 9 (3) ไปพร้อมกันก็ได้ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดก็จะมีอำนาจพิพากษาเช่นเดียวกับศาลปกครองชั้นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว