เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 ปี 2561 โดย ธนาคารไทยพาณิชย์

เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 ปี 2561 

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก ปี 2018

เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2018 พร้อมด้วยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มเร่งตัวขึ้น (accelerating inflation) นำโดยสหรัฐฯ จากผลของการปฏิรูปภาษีและตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง เขตยูโรโซนและญี่ปุ่นจากอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบหลายปีเศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศและตลาดแรงงานที่ตึงตัวในหลายภูมิภาค สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากอัตราการว่างงานที่ต่ำแล้ว จะได้อานิสงส์จากการลดภาษีทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงแรงสนับสนุนจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของทรัมป์ในระยะต่อไป ส่งผลให้การเติบโตของสหรัฐฯ จะเร่งตัวได้มากในปีนี้และทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้านเศรษฐกิจยูโรโซนและญี่ปุ่น แม้เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่จากตลาดแรงงานและผลกำไรของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้แนวโน้มค่าแรงเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่ยังแข็งแกร่ง จะทำให้เงินเฟ้อทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและเศรษฐกิจจีนจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของกลุ่มประเทศหลักทางด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในเกือบทุกหมวด ด้านนโยบายการเงินของธนาคารหลักทั่วโลกเริ่มมีสัญญาณตึงตัวขึ้นชัดเจน โดย Fed ยังมีแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างต่ำ 3 ครั้งในปีนี้จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มเข้าสู่เป้าหมาย 2% ในขณะที่ ECB และ BOJ แม้จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้คงที่ แต่การเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) นั้นจะมีแนวโน้มสิ้นสุดลงสำหรับ ECB ในปีนี้ ทำให้แนวโน้มดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวของโลกเข้าสู่ช่วงวัฏจักรขาขึ้นอย่างชัดเจน

อีไอซีมองว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตาในระยะถัดไป มีประเด็นที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวเร็วและนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินคาด การสิ้นสุดของมาตรการ QE ในภาพใหญ่ และมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ความเสี่ยงแรกที่ต้องคำนึง คือ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวเร็วเกินคาดในปีนี้อาจส่งผลให้ธนาคารกลางโดยเฉพาะในสหรัฐฯ อาจต้องเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในภาพรวมสูงขึ้นจากดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและยาวที่ปรับเพิ่มขึ้นเร็วเกินคาด อันจะนำไปสู่การปรับพอร์ตและการโยกย้ายเงินทุนทั้งในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดเงินทั่วโลกอย่างฉับพลันได้ ความเสี่ยงที่สอง คือ การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของเม็ดเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางหลัก รวมถึงการสิ้นสุดของ QE จะเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเศรษฐกิจและธุรกิจที่เคยชินกับสภาพคล่องส่วนเกินมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยเฉพาะในภาคการเงินที่สภาพคล่องนั้นจะไม่ได้เหลือเฟืออีกต่อไป ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ที่เคยได้รับประโยชน์จากเม็ดเงิน QE ไม่ว่าจะเป็นตลาดการเงินหรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกก็ตาม ความเสี่ยงสุดท้าย คือ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและมุ่งเป้าไปที่การส่งออกของจีน รวมถึงประเทศที่มีการเกินดุลการค้าสูงกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์ เหล็ก อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมาตรการกีดกันเพื่อปกป้องผู้ผลิตของสหรัฐฯ ที่จะตามมาอื่นๆ จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความผันผวนต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยเฉพาะมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศคู่ค้าทั้งมาตรการทางภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอาจลุกลามเกิดเป็นสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะบั่นทอนและกระทบกับความเชื่อมั่นและภาวะการค้าการลงทุนทั่วโลกได้

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2018

อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2018 โตต่อเนื่องที่ 4.0%YOY ตามกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ขยายตัวดีและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น พื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งส่งผลให้ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้ โดยอีไอซีประเมินมูลค่าการส่งออกปี 2018 ขยายตัวที่ 5.0%YOY และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นที่ 7.9%YOY ทั้งนี้ การเติบโตที่ต่อเนื่องในภาคการส่งออกได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนในปี 2018 ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะความชัดเจนที่มีเพิ่มขึ้นของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) หลังพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกผ่านการอนุมัติให้เป็นกฎหมาย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศ อีกทั้งประเด็นความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวก็ลดลงหลังมีการผ่อนคลายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทั้งจากการเลื่อนการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวรวมถึงการปรับลดบทลงโทษที่เกี่ยวข้อง

การใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มกระจุกตัว การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นสำคัญสะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนนำโดยยอดขายรถยนต์นั่งที่เติบโตได้ในระดับสูงในช่วงต้นปี 2018 อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีข้อจำกัด ทั้งจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวของภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังไม่ชัดเจน ดูได้จากอัตราการว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ขณะที่จำนวนการจ้างงานแบบล่วงเวลาลดลง ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผ่านถึงตลาดแรงงานมากนัก นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรในบางหมวดที่ลดต่ำลง ส่งผลให้การบริโภคในกลุ่มสินค้าไม่คงทนขยายตัวในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การบริโภคของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐในปีนี้

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2018 น่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมไม่มากนัก แต่บางสาขาธุรกิจควรเพิ่มความระมัดระวัง ประการแรก มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบางกลุ่มสินค้าของไทย ได้แก่ แผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็กและอะลูมิเนียม ตลอดจนสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน อย่างไรก็ดี สินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนน้อยของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อภาพรวมการส่งออกจะเพิ่มสูงในกรณีที่มีมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าต่างๆ จนนำไปสู่สงครามการค้าในวงกว้าง ประการที่สอง การแข็งค่าและความผันผวนของค่าเงินบาทที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากภาคเกษตร และประการที่สาม ความผันผวนทางการเงินของโลกอันเป็นผลมาจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้าสู่สมดุล (monetary policy normalization) ของเศรษฐกิจสำคัญนำโดยสหรัฐฯ ที่จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินของโลกลดน้อยลง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินทรัพย์และกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในบางประเทศได้ อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าเสถียรภาพของฐานะการเงินด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง และสภาพคล่องที่เพียงพอในระบบการเงินของไทย จะช่วยเป็นกันชนรองรับความผันผวนของภาวะการเงินโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยได้

 Download : Outlook Quarter 2/2561

 

Visitors: 396,962