ผู้เลี้ยงต้องรวมใจ รายใหญ่ร่วมตัดวงจรต่อเนื่อง ปศุสัตว์เดินหน้าช่วยเกษตรอีกหนึ่งแรงผ่าน PIG BOARD ส่งต่อปัจจัยบวกอีก 3 พระหน้าและพระต่อๆ ไป

ผู้เลี้ยงต้องรวมใจ รายใหญ่ร่วมตัดวงจรต่อเนื่อง ปศุสัตว์เดินหน้าช่วยเกษตรอีกหนึ่งแรงผ่าน PIG BOARD ส่งต่อปัจจัยบวกอีก 3 พระหน้าและพระต่อๆ ไป

15 มีนาคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ – ผู้เลี้ยงต้องรวมใจต่อเพื่อดึงตลาดให้ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบกัน ในขณะที่รายใหญ่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องร่วมตัดวงจรผ่านการนำลูกสุกรส่งทำหมูหัน โดยกรมปศุสัตว์เดินหน้าทำแผนช่วยเกษตรอีกหนึ่งแรงผ่าน PIG BOARD ซึ่งจะเป็นผลดีส่งต่อปัจจัยบวกอีก 3 พระหน้าและพระต่อๆ ไป จนสู่ภาวะปกติ

กลไกตลาดเริ่มมีทิศทางชัดเจน หลังจากวันพระที่ 9 มีนาคมหลายพื้นที่ขยับราคาขึ้นมาได้ 2 บาท ซึ่งราคายังต่ำกว่าราคาต้นทุนอีกมาก ทั้งๆ ที่ดุลภาพของตลาดปัจจุบันควรจะผ่านจุดขาดทุนของเกษตรกรไปนานแล้ว

จากปรากฏการณ์ราคาสุกรตกต่ำที่ผ่านมา เกิดข้อกังขาว่าเกิดสภาวะเกียร์ว่างของหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลราคาสินค้าทางการเกษตรหรือเปล่า? ทั้งๆ ที่ประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1/2561 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 มกราคม 2561 ระบุชัดในหมวดอาหาร ข้อ 45 ว่า สุกร เนื้อสุกร ได้รับการกำหนดว่าเป็นสินค้าที่ต้องเข้าไปควบคุมทั้ง 2 ด้าน คือ เพื่อดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม

มีการเปรียบเทียบกับการขอความร่วมมือกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้ช่วยซื้อข้าวโพดเกรดอาหารสัตว์ (ความชื้นไม่เกิน 14%) ให้รับซื้อไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ของการรับซื้อของโรงงานอาหารสัตว์ก็จะซื้อจากพ่อค้าคนกลางข้าวโพด ในขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศข้อกำหนด 3 ต่อ 1 ให้ซื้อข้าวโพด 3 ส่วนจึงจะสามารถนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนได้ ทั้งๆ ที่ผลผลิตข้าวโพดในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ การกำหนดเยี่ยงนั้นใยแต่จะส่งผลบวกให้ราคาข้าวโพดในประเทศสูงขึ้นอย่างที่เป็นในปัจจุบันที่ขึ้นมาเกินกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ซึ่งข้าวโพดเป็นสินค้าควบคุมตามประกาศ กกร 1/2561 เช่นกันในหมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ ข้อ 23

ฤดูการผลิตปี 2560/2561 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์การผลิตข้าวโพดของไทยจะอยู่ที่ 4.49 ล้านตัน ในขณะที่ประมาณการใช้ข้าวโพดอาหารสัตว์จากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย อยู่ที่ 8.25 ล้านตัน จะเห็นว่าผลผลิตข้าวโพดภายในประเทศมีเพียง 54% ของปริมาณความต้องการเท่านั้น ลำพังอุตสาหกรรมไก่เนื้อที่ต้องการข้าวโพด 4.05 ล้านตันในปี 2561 ก็แทบจะใช้หมดแล้ว ซึ่งไม่แปลกใจกับการที่กลุ่มปศุสัตว์ได้เข้ายื่นหนังสือถึงท่านนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 2 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความคืบหน้าโดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณา เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ รวมถึงมาตรการการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 เมื่อ 14 มีนาคม 2561  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีผลการประชุมโดยล่าสุดการปรับลดสัดส่วนมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี ที่ประชุมยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ จึงไม่สามารถสรุปผลได้ ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายกรมการค้าภายใน จัดตั้งคณะทำงานพิจารณามาตรการดังกล่าว โดยขอให้มีเอกชน คือ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเป็นหนึ่งในองค์ประกอบคณะทำงานด้วย โดยมีกรอบเวลาพิจารณาสรุปแนวทางให้ได้ภายใน 1 เดือน ก่อนนำกลับมาเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเห็นชอบในครั้งถัดไป  

ที่หยิบยกประเด็นข้าวโพดขึ้นมา หวังให้เป็นกรณีตัวอย่างที่วงการการเลี้ยงสุกรไทย กับ กรมการค้าภายในต้องเคลียร์กันเสียทีเรื่องการกำกับดูแลช่วงราคาสุกรขึ้น-ลง ให้ชัดเจน รวมทั้งโครงสร้างการคำนวณจากราคาสุกรขุนเป็นราคาเนื้อสุกร เพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ ซื้อสุกรขุนถูก ขายเนื้อสุกรแพงเกินต้นทุนการดำเนินการต่างๆ  

การตัดวงจรลูกสุกรเดือนมีนาคม 2561 คาดว่าจะตัดวงจรลูกสุกรได้ถึง 10,000 ตัว ซึ่งมีการดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งนอกเหนือจาก CPF BETAGRO THAI FOODS GROUP ฟาร์มสุกรพนัสโภคภัณฑ์แล้ว ยังมีคิวต่อไปกับ SPM ราชบุรี VPF เชียงใหม่ กลุ่มแหลมทองสหการ และ RMC บุรีรัมย์ และมีคิวฟาร์มต่างๆ เข้ามาเรื่อยๆ  

ในขณะที่กรมปศุสัตว์เองโดยฝ่ายกฎหมายกำลังเตรียมเรื่องเข้า PIG BOARD ให้กำหนดราคาซื้อสุกรขุนขั้นต่ำตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่ได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว

ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้ราคาสุกรขุนได้ขึ้นไปอยู่ในระดับที่เกินกว่าต้นทุนได้เร็วขึ้น เพื่อลดความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยด่วน

ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

Visitors: 397,128