การแข่งขันทางการค้าที่ละเลยประโยชน์สาธารณะ...หายนะจะตามมาทั้งระบบ

การแข่งขันทางการค้าที่ละเลยประโยชน์สาธารณะ...หายนะจะตามมาทั้งระบบ

          ปัญหาสภาวะราคาที่ตกต่ำของอุตสาหกรรมสุกรของประเทศในขณะนี้  เกิดจากอุตสาหกรรมที่ขาดการวางแผนซึ่งควรมีการวางกรอบกันมานานแล้วเพราะมีตัวอย่างของเกษตรกรรมในแขนงต่างๆ ที่เป็นแบบอย่างในหลายๆ แขนงของการเกษตร

          คำว่าการค้าเสรีที่ติดที่ริมฝีปากของผู้ได้ประโยชน์ เพราะไม่มีกฎหมายที่บังคับใช้ และควบคุม กับคำว่าประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) ที่ถูกละเลยมาอย่างยาวนาน ทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบของสังคมกันมาตลอดกับการแข่งกันขยายการผลิตที่หวังสร้างหลักฐานความมั่นคงเกินควรให้ลูกหลาน โดยใช้อำนาจทุนที่เหนือกว่าสร้างอาณาจักรแบบไม่หยุดยั้ง กับกลุ่มบริษัทที่ต้องขยายตัวให้ได้ในทุกปี ในตลาดเดิมที่ไม่มีการสร้างตลาดใหม่ ก็คือระบบแพ้คัดออกที่หลงลืมคำว่าประโยชน์สาธารณะไป เป็นการขาดความเข้าใจระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่อวิชชากับความหายนะทั้งระบบในอนาคตอย่างแท้จริง เพราะเมื่อระบบทุนมีระบบความคิดในลักษณะนี้แล้วท้ายสุด การค้าโลกที่อ้างเสรี อ้างสารพัดกฎเกณฑ์ที่เป็นผู้ผลักดัน สุดท้ายมันก็จะมาตามเขมือบกันต่อแบบไม่หยุด หลงลืมไปว่าเศรษฐกิจในทุกระดับจะเดินหน้าไม่ได้ถ้าระดับล่าง หรือ ผู้ที่อ่อนแอกว่าขาดหนทางทำมาหากิน เมื่อเศรษฐกิจจุลภาครากฐานของคนส่วนใหญ่ไม่ดี เศรษฐกิจมหภาคก็ไปไม่ได้เช่นกัน 

          Antitrust Law ในนานาประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีกันมาอย่างช้านาน เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างความยุติธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ ในประเทศไทยมีการออกกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าครั้งแรกในปี 2542 ปัจจุบันมีฉบับปี 2560 มาทดแทนแล้ว สามารถศึกษาได้ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

          ที่ผ่านมาวงการสุกรไทยขาดการบริหารจัดการระหว่างกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรด้วยกัน ประกอบกับไม่มีกฎหมายควบคุมการผลิต ทำให้มีการขยายการผลิต ขยายแม่พันธุ์กันแบบใครใคร่ขยายก็ขยายกันไป ผลผลิตออกมาก็แย่งตลาดเทตลาดทำให้ผู้เลี้ยงที่ไม่มีกำลังความสามารถทางการตลาดและทุน ต่างล้มหายตายจาก ซึ่งไม่ต่างกับการตลาดแบบล้างผลาญ ในลักษณะเดียวกับที่สหรัฐอเมริกากำลังผลักดันสินค้าสุกรของตนเองแทรกแซงไปในทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่รับประทานสุกรได้เกือบทั้งตัว ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสุกรของอเมริกาเป็นหัวหอกให้เกษตรกรรมแขนงต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้อานิสงส์ตามมามหาศาล ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ซึ่งท้ายสุดก็จะเป็นการแลกกับความล่มสลายของไทยที่ไม่เพียงหมูเท่านั้น เกษตรอาหารสัตว์ ภาคสังคม ภาคบริการ ภาคการเงิน ไปด้วยกันหมด รวมทั้งฟาร์มต่างๆ ที่ขยายตัวด้วยทุนที่เหนือกว่า เพื่อสร้างฐานะหลักประกันให้ลูกหลานตนเอง ก็จะกระเจิดกระเจิงไปด้วยกัน ฝากพิจารณาไตร่ตรองกันให้ดี

          ถึงเวลาจัดระเบียบโดยใช้กฎหมาย ถึงเวลาที่ผู้เลี้ยงสุกรเล็กกลางใหญ่ที่จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน ในกรอบกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมที่เป็นรูปธรรม

Visitors: 427,908