สัตวแพทยสภาชูสัตว์แพทย์กำกับเพื่อลดและใช้ยาสัตว์อย่างมีเหตุมีผล
สัตวแพทยสภาชูสัตว์แพทย์กำกับเพื่อลดและใช้ยาสัตว์อย่างมีเหตุมีผล
6 เมษายน 2560 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านยาและวัคซีนในทางสัตว์แพทย์ให้ความสำคัญกับวิชาชีพสัตว์แพทย์ที่จะต้องมีบทบาทและความรับผิดชอบเพื่อลดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัดและอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึงผลประประชุมร่วมของคณะอนุกรรมการด้านยาและวัคซีนในทางสัตว์แพทย์ ณ สำนักงานสัตวแพทยสภาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ในเรื่อง ความร่วมมือในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาและวัคซีนของประเทศไทยว่า “ที่ประชุมเห็นด้วยกับปัญหาเชื้อดื้อยาและการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในภาคปศุสัตว์ พร้อมทั้งห่วงใยเชื้อดื้อยาที่เกิดจากภาคโรงพยาบาลรวมถึงการจ่ายยาที่มีผลโดยตรงกับชีวิตประชาชน โดยอนาคตที่จะมีการออกระเบียบหรือข้อบังคับที่จะนำมาใช้ให้เข้มงวดนั้น มีความเป็นไปได้โดยให้คำนึงถึงความพร้อมของบุคลากร ทั้งปริมาณและคุณภาพทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดยคณะอนุกรรมการด้านยาและวัคซีนในทางสัตว์แพทย์ให้ความสำคัญกับวิชาชีพสัตว์แพทย์ที่จะต้องมีบทบาทและความรับผิดชอบเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายนั่นคือ การใช้ยาลดลงใช้อย่างสมเหตุสมผลต่อไป”
ยังมีเกษตรกรจำนวนมากที่ยังใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จากการสำรวจของนักศึกษาภาควิชาบริบาลเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เผยแพร่เมื่อปี 2559 พบมีการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ทุกประเภท คือ โคนม โคเนื้อ สุกร ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ และกระบือ เกษตรกรส่วนใหญ่คิดว่า ยาปฏิชีวนะมีความจำเป็นต่อการทำเกษตรกรรมการเลี้ยงสัตว์ วัตถุประสงค์ในการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์คือใช้เพื่อการรักษาโรคและเพื่อป้องกันโรค อย่างไรก็ตามยังมีพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์อย่างไม่สมเหตุสมผล อันอาจเป็นสาเหตุที่ทาให้เกิดการตกค้าง และการดื้อยาปฏิชีวนะได้
ปัญหาเชื้อดื้อยาส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตเพื่อเพิ่มน้ำหนักของสัตว์ ยาปฏิชีวนะที่มีการใช้ คือ chlortetracycline และ streptomycin ในประเทศไทยพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม nitrofurans ในการเลี้ยงกุ้งและไก่ของเกษตรกร เพื่อการป้องกันและรักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟาร์มเลี้ยงไก่และสุกร
ในสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาที่อาจติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ จึงไม่อนุญาตให้จำหน่ายและใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในฟาร์มปศุสัตว์มากว่า 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นมา จำนวน 4 รายการ ได้แก่
- Monensin sodium ใช้ในการขุนเลี้ยงโค กระบือ
- Salinomycin sodium ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร
- Avilamycin ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร ไก่ และไก่งวง
- Flavophospholipol ใช้ในการขุนเลี้ยง กระต่าย ไก่ไข่ ไก่ ไก่งวง สุกร ลูกสุกร วัว ลูกวัว
ความร่วมมือในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาและวัคซีนของประเทศไทยจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสกัดปัญหาเชื้อดื้อยาที่มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างปัญหาให้มนุษย์ในอนาคต ซึ่งตามหลักวิชาการนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะควรใช้เพื่อการรักษาโรคเท่านั้น ยังมีเกษตรกรที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดปัญหายาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ สิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา
ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ