ยื่นแล้ว…สมาคมหมูฝากกรมปศุสัตว์จี้ OIE เปิดช่องมาตรฐานส่งออกเนื้อหมู

ยื่นแล้ว…สมาคมหมูฝากกรมปศุสัตว์จี้ OIE เปิดช่องมาตรฐานส่งออกเนื้อหมู

16 มีนาคม 2560 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยื่นหนังสือเรียกร้องให้กรมปศุสัตว์ขอให้องค์การโลกระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เปิดช่องทางใหม่ให้ผู้เลี้ยงสุกรเข้าถึงการค้าเนื้อสุกรระหว่างประเทศโดยพิจารณามาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต นอกเหนือการรอการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยเพื่อการส่งออก

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและคณะกรรมการสมาคมฯ ร่วมยื่นหนังสือ เรื่อง ขอเรียกร้องให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศเปิดช่องพิจารณาด้านมาตรฐานเพื่อการเข้าถึงการค้าเนื้อสุกรระหว่างประเทศให้ผู้เลี้ยงสุกรเอเชีย ก่อนการสัมมนาการค้าเนื้อสุกรเอเชียในหัวข้อ “ASEAN Pork Trading Revolution for International Trade” ในงาน VIV Asia 2017 วันที่ 15 มีนาคม 2560

นายกสุรชัยกล่าวระหว่างยื่นข้อเรียกร้องกับตัวแทนกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ว่า “ฝากพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับ OIE เพื่อประโยชน์กับผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศ”

นายสัตวแพทย์สมชวนกล่าวถึงสถานการณ์การขอรับรองพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในเขต 2 ภาคตะวันออกกับ OIE ว่าได้ดำเนินการปรับปรุงตามที่ OIE และนำแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนการรอ OIE มาตรวจที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตามแนวทางเพิ่มเติม

นายสัตวแพทย์สุทัศน์ ตั้งธโนปจัย รองเลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในฐานะประธานจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ให้ข้อมูลเพื่อเติมที่มาที่ไปของการยื่นหนังสือของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในครั้งนี้ว่า มาจากทั้งความพร้อมและความตั้งใจของภาครัฐของไทยที่จริงใจเพื่อสร้างมาตรฐาน เพราะมีการออกกฎหมายบังคับใช้ด้านมาตรฐานมากมาย ตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมาย

  • ด้านป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์
  • กฎหมายมาตรฐานฟาร์มที่มีท่าทีกำลังผลักดันให้เป็นภาคบังคับ
  • กฎหมายควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่าย
  • กฎหมายด้านอาหารปลอดภัย

จนกระทั่งปัจจุบันกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างพิจารณากฎหมายควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ป้องกันการดื้อยาที่จะกระทบต่อสุขภาพของประชากร โดยกฎหมายต่างๆ ด้านปศุสัตว์เหล่านี้มาออกและแก้ไขมาบังคับใช้หลายฉบับ เช่น

  1. ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกรของประเทศไทย พ.ศ.2542
  2. พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
  3. พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
  4. พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์ เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559
  5. นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังมีกฎหมายรองที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาในเรื่องควบคุมการใช้ยาสัตว์ที่เกี่ยวโยงกับการดื้อยา ที่เป็นอีกกระแสหนึ่งที่ OIE เข้ามาดูแลด้วย
  6. ซึ่งกฎหมายที่โยงกับเรื่องเชื้อดื้อยาถือว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายด้านปศุสัตว์ที่ล้ำหน้ากว่าในหลายประเทศพัฒนา ซึ่งจะทำให้มาตรฐานด้านปศุสัตว์ของไทยมีการต่อยอดในระดับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) มีมาตรการด้านมาตรฐานและสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อดูแลด้านนี้เช่นกัน ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ถึงเวลาแล้วที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศจำต้องนำมาตรการเหล่านี้มาใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกรในประเทศกำลังพัฒนาได้มีสิทธิในการเข้าถึงการค้าเนื้อสุกรระหว่างประเทศมากขึ้น นอกเหนือจากการถูกข้อจำกัดว่าเป็นพื้นที่โรคระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยมาเป็นเวลานับค่อนศตวรรษ ซึ่งถ้ามีการพิจารณาประเด็นมาตรฐานต่างๆ จะจูงใจให้มีการสร้างมาตรฐานแบบบูรณาการกับผู้เลี้ยงสุกรไทยทั้งประเทศ

ความสำเร็จในการป้องกันไข้หวัดนกของไทยจนสามารถคงสถานะปลอดการระบาดของเชื้อมากว่า 10 ปี เกิดจาก การที่กรมปศุสัตว์มีมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังปัญหาอย่างเข้มงวด โดยร่วมกับภาคผู้ผลิตในอุตสาหกรรมไก่เนื้อนำมาตรฐานระบบ “คอมพาร์ทเมนต์” ปลอดโรคไข้หวัดนกในฟาร์มเลี้ยงไก่ ตามแนวคิดขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ตามมาปฏิบัติในกระบวนการสัตว์ปีกตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย สำหรับผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตปศุสัตว์ของไทย ให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

สรุปคือเรามีทั้งการสร้างมาตรฐานภายในประเทศ ตามกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้อย่างมากมายในช่วง 2-3 ปี และแนวทางที่เคยออกมาและ OIE แนะนำที่เคยทำกับไก่เนื้อ ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการค้าระหว่างประเทศของกลุ่มไก่เนื้อเติบโต โดยคาดว่าปี 2560 นี้ จะมีมูลค่าการส่งออกถึง 100,000 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สุกรของไทยยังอยู่ในระดับ 15,000-20,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

Visitors: 427,883