มารู้จักองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ World Organisation for Animal Health - OIE

องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE)

ประวัติ 
          องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties; OIE) เป็นองค์การระหว่างรัฐบาล มีการลงนามเพื่อก่อตั้ง OIE ตามข้อตกลงของนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2467 และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546 ได้เปลี่ยนชื่อองค์การเป็น World Organization for Animal Health แต่คงชื่อย่อ OIE ไว้ เหตุผลของการก่อตั้ง OIE เนื่องจากในปี พ.ศ. 2463 มีการระบาดของโรครินเดอร์เปสต์ (Rinderpest) ในประเทศเบลเยี่ยม และโรคนี้ได้แพร่ระบาดไปทั่วทวีปยุโรป ประเทศต่าง ๆ รวม 28 ประเทศ จึงได้ร่วมกันลงนามก่อตั้ง OIE ขึ้นในปี พ.ศ. 2467 เพื่อเป็นองค์การกลางในการประสานความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ที่มีความสำคัญ เพื่อไม่ให้โรคระบาดสัตว์ก่อความสูญเสียต่อชีวิตสัตว์และมนุษย์ รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลก 

สมาชิก 
          ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของ OIE จาก 28 ประเทศในปี พ.ศ. 2467 จนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2553) OIE มีสมาชิกทั้งหมด 176 ประเทศ โดย OIE จะจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในเดือนพฤษภาคม ณ สำนักงานกลาง ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส 

สถานที่ตั้ง 
          สำนักงานกลาง (Headquarters) 12 rue de Prony, 75017 Paris, France Tel: 33-(0)1 44 15 18 88 Fax: 33-(0)1 42 67 09 87 

องค์การ 
          OIE เป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับเดียวกับ WHO และ FAO โดยได้รับการยอมรับให้เป็น world reference organization for animal health World Assembly of Delegates (คณะผู้แทนประเทศสมาชิก) มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินงานของ OIE ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน (Delegate) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก กิจกรรมในแต่ละวันของ OIE บริหารโดยสำนักงานกลางภายใต้การควบคุมของ Director General ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากคณะผู้แทนประเทศสมาชิก สำนักงานกลางดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการนานาชาติ (International Committee) และคณะกรรมาธิการ (Commission) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยคณะผู้แทนประเทศสมาชิก โดยมีโครงสร้างดังนี้ 
             1. Council 
             2. Regional Commission จำนวน 5 คณะ คือ 
                 - Regional Commission for Africa 
                 - Regional Commission for Americas 
                 - Regional Commission for Europe 
                 - Regional Commission for Asia, Far East and Oceania 
                 - Regional Commission for Middle East 
             3. Specialist Technical Commission จำนวน 4 คณะ คือ 
                 - The Terrestrial Animal Health Standards Commission (Terrestrial Code Commission) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2503 คณะกรรมาธิการสุขภาพสัตว์บกมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างความมั่นใจว่าข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บก (Terrestrial Animal Health Code; Terrestrial Code) สะท้อนถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัจจุบัน ในการปกป้องการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งวิธีการเฝ้าระวังโรคสัตว์และโรคสัตว์สู่คน 
                 - The Scientific Commission for Animal Diseases (Scientific Commission) ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2489 คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ทางด้านโรคสัตว์มีหน้าที่ช่วยเหลือในการระบุยุทธศาสตร์ และวางมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและควบคุมโรค โดยอาศัยข้อมูลจากการรายงานสถานะการณ์โรคระบาดสัตว์ของประเทศสมาชิก 
                 - The Biological Standards Commission (Laboratories Commission) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2492 คณะกรรมาธิการมาตรฐานชีวภาพ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำหนดและให้ความเห็นชอบวิธีการชันสูตรและวินิจฉัยโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, สัตว์ปีก และผึ้ง รวมทั้งแนะนำด้านการใช้ชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น วัคซีน คณะกรรมาธิการได้จัดทำคู่มือการชันสูตรโรคและการใช้วัคซีนในสัตว์บก (Manual of Diagnostic Tests and Vaccines for Terrestrial Animals; Terrestrial Manual) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ นอกจากนี้คณะกรรมาธิการจะทำการเลือกห้องปฏิบัติการอ้างอิงของ OIE สำหรับโรคในสัตว์บก รวมทั้งส่งเสริมการจัดเตรียมและการกระจายสารเคมีมาตรฐานที่ใช้ในการชันสูตรโรค 
                 - Aquatic Animal Health Standards Commission (Aquatic Animals Commission) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2503 คณะกรรมาธิการสุขภาพสัตว์น้ำมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์น้ำ (กุ้ง ปลา และ หอย) รวมทั้งวิธีควบคุมโรคในสัตว์ดังกล่าว นอกจากนี้คณะกรรมาธิการได้จัดทำข้อกำหนดสุขภาพสัตว์น้ำ (Aquatic Animal Health Code; Aquatic Code) และคู่มือการชันสูตรโรคในสัตว์น้ำ (Manual of Diagnostic Tests for Aquatic Animal; Aquatic Manual) 

พันธกิจ 
             1. สร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดสัตว์ทั่วโลก(Transparency: Ensure transparency in the global animal disease situation) ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องรายงานโรคสัตว์ที่ตรวจพบในเขตพื้นที่ให้ OIE ทราบ หลังจากนั้น OIE จะทำการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบ เพื่อให้สามารถเตรียมมาตรการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงข้อมูลโรคสัตว์ที่สามารถติดต่อสู่คนและข้อมูลของเชื้อก่อโรค ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ทันที หรือรวบรวมเพื่อเผยแพร่เป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่พบ การเผยแพร่ข้อมูลโรคระบาดสัตว์นี้จะทำผ่านทางจดหมายอิเล็กโทรนิค หรือระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการสืบค้นของฐานข้อมูลสุขภาพสัตว์ทางอิเล็กโทรนิค (World Animal Health Information Database; WAHID) ในเว็บไซด์ของ OIE 
             2. รวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์(Scientific Information: Collect, analyse and disseminate veterinary scientific information) OIE ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับการควบคุมโรคสัตว์ โดยอาศัยข้อมูลจากเครือข่ายผู้ประสานงานของ OIE และห้องปฏิบัติการอ้างอิง แล้วเผยแพร่ให้ประเทศสมาชิกผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งประเทศสมาชิกสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการปรับปรุงวิธีการควบคุมและกำจัดโรคได้ 
             3. เสริมสร้างความเข้มแข็งของกิจกรรมด้านการควบคุมโรคสัตว์ให้กับประเทศสมาชิก (International Solidarity: Encourage international solidarity in the control of animal diseases) OIE ให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการควบคุม กำจัดโรคสัตว์และโรคสัตว์สู่คน โดย OIE จะให้ความช่วยเหลือในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญให้กับประเทศที่ขาดแคลนงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือในการวางมาตรการควบคุมโรคสัตว์ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อธุรกิจการเลี้ยงสัตว์หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ 
             4. ออกข้อกำหนดด้านสุขภาพสัตว์เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลาง ในการเจรจาเพื่อการค้าสัตว์ รวมถึงผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (Sanitary Safety: Safeguard world trade by publishing health standards for international trade in animals and animal products) โดยการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัยสัตว์และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงร่วมกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเข้าสู่ประเทศผู้นำเข้าผ่านทางการค้าสัตว์ ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และเพื่อไม่ให้มีการนำหลักสุขอนามัยมาใช้เพื่อกีดกันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่ง OIE ได้จัดทำเอกสารอ้างอิงในรูปของข้อกำหนดและคู่มือ ดังนี้ 
                 4.1 Terrestrial Animal Health Code 
                 4.2 Manual of Diagnostic Tests and Vaccines for Terrestrial Animals 
                 4.3 Aquatic Animal Health Code 
                 4.4 Manual of Diagnostic Tests for Aquatic Animal 
             เอกสารอ้างอิงทั้ง 4 เล่มของ OIE นี้ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WTO) ให้เป็นเอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับสุขอนามัยสัตว์ระหว่างประเทศ 
             นอกจากนี้ ยังมีห้องปฏิบัติการที่ให้ความร่วมมือในการเป็น Collaborating Centres และ Reference laboratories สำหรับโรคระบาดใน List ของ OIE มากถึง 152 ห้องปฏิบัติการ 
             5. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการให้บริการทางสัตวแพทย์ ในระดับนานาชาติ (Promotion of veterinary services: Improve the legal framework and resources of national Veterinary Services) OIE ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนากิจกรรมการให้บริการทางสัตวแพทย์ และห้องปฏิบัติการแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยจัดหาปัจจัยพื้นฐาน ทรัพยากร และการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็น เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถปฏิบัติงานในกรอบตามมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชขององค์การการค้าโรค (WTO Sanitary and Phytosanitary Agreement; SPS Agreement) ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถปกป้องสุขภาพสัตว์และสุขอนามัยของมนุษย์ได้ 
             6. การประกันความปลอดภัยอาหารจากสินค้าปศุสัตว์ และส่งเสริมการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (Food safety and animal welfare: To provide a better guarantee of food of animal origin and to promote animal welfare through a science-based approach) ประเทศสมาชิกของ OIE เห็นชอบร่วมกันในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหารสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์ โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมระหว่าง OIE และโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/WHO หรือ Codex Alimentarius Commission ขึ้น ทั้งนี้ OIE มีหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการผลิตสัตว์ในระดับฟาร์ม จนถึงโรงฆ่าสัตว์ หรือจนได้ผลิตผลจากสัตว์นั้น (เนื้อ นม และไข่) นอกจากนี้ OIE ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานของโคเด็กซ์ผ่านทางการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ (Codex Committee) สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 
             OIE ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม จึงได้ริเริ่มจัดทำมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางให้สมาชิกนำไปปฏิบัติ และเป็นเกณฑ์อ้างอิงร่วมกันเพื่อลดปัญหาการนำหลักสวัสดิภาพสัตว์มาใช้ในการกีดกันทางการค้า

 

 

Visitors: 422,972