“ลิลลี่ ฟู้ดแอนซายน์” นะดมกูรู ให้ความรู้เรื่อง “น้ำ” จุดเริ่มต้นของสุขภาพสัตว์

“ลิลลี่ ฟู้ดแอนซายน์” นะดมกูรู

ให้ความรู้เรื่อง “น้ำ” จุดเริ่มต้นของสุขภาพสัตว์

 

          “น้ำ” ปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากๆ โดยเฉพาะในด้านการอุปโภคบริโภคทั้งในคนและในสัตว์รวมถึงพืช เพราะน้ำถือเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตและการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต จากความสำคัญดังกล่าว บริษัท ลิลลี่ ฟู้ดแอนซายน์ จำกัด ร่วมกับ สมาคนสัตวบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก จัดสัมมนาขึ้นในหัวข้อ “น้ำ” จุดเริ่มต้นของสุขภาพสัตว์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้รู้จริงมาร่วมบรรยาย ประกอบด้วย รศ.น.สพ.ดร.พิษณุ ตุลยกุล, น.สพ.วินัย  ทองมาก, ศ.น.สพ.ดร.ทวีศักดิ์ ส่งเสริม และคุณวัชระ ลิมตราจิตต์ ซึ่งงานสัมมนาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ

          คุณสุเทพ  วงศรื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวเปิดงาน

          รศ.น.สพ.ดร.พิษณุ กล่าวในหัวข้อ “สถานการณ์ทั่วไปของน้ำที่ใช้ในภาคปศุสัตว์ไทย” โดยกล่าวว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีเกษตรกร ประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสุกรและสัตว์ปีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีการเลี้ยงจำนวนมากในเขตตะวันตกและภาคกลาง ดังนั้น น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความต้องการใช้ในปริมาณมาก ซึ่งแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำปศุสัตว์ปัจจุบันได้มาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ แหล่งน้ำผิวดิน กับแหล่งน้ำใต้ดิน

          แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าแหล่งน้ำในประเทศไทยหลายแห่งมีการปนเปื้อนสารเคมี เช่นมีการปนเปื้อนในเตรทในแหล่งน้ำจากบ่อเก็บของเสียในชุมชนเมืองและจากการใช้ปุ๋ย การปนเปื้อนโลหะหนักจากขยะมีพิษที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำบางแห่งเกิดการเน่าเสีย ไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ประโยชน์อีกต่อไป ขณะเดียวกันฟาร์มปศุสัตว์เองก็เกิดปรากฎการณ์น้ำเสียได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดและประเภทของสัตว์ที่เลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมูลและปัสสาวะของสัตว์ รวมถึงเศษอาหาร ซากสัตว์ และเศษขยะทั่วไป

          การเกิดน้ำเสียและมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำผิวดิน เช่น ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำลดลง แอมโมเนียในน้ำเสีย หากมีปริมาณสูงจะทำให้สัตว์น้ำตายได้ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์จากการบริโภคน้ำ ที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือจุลชีพอื่นๆ รวมถึงธาตุอาหาร สารเคมียาต้านจุลชีพ ยาฆ่าแมลง และฮอร์โมน ในสุกรที่ได้รับแคดเมียมในปริมาณ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม จะมีการเจริญเติบโตที่ลดลงและอัตราการแลกเปลี่ยนอาหารเพิ่มขึ้น ลดฮอร์โมน FSH, LH โปรเจสเตอโรนและ เอสตราไดออล ในไก่ที่ได้รับฟลูออไรด์ระหว่าง 6-20 ppm. ทำให้ปริมาณไข่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และยังทำให้ไก่มีอัตราการกินน้ำสูงกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังมีการพบเชื้อดื้อยาในแหล่งน้ำและดินในสิ่งแวดล้อมด้วย

          เชื้อดื้อยาที่พบได้บ่อยในน้ำเสียและน้ำทิ้ง ได้แก่ เชื้อที่ดื้อต่อยากลุ่ม B-lactams, quinolones, Tetracycline, Sulfamethoxazole/trimethoprim, Sulfonamides นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบว่าโลหะหนักบางชนิด เช่นสังกะสีในรูปของ zine sulfate สามารถจับตัวกับยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline เกิดเป็นคีเลต ส่งผลให้ลดการดูดซึมของยาดังกล่าวในระบบทางเดินอาหาร

          ดังนั้น หากเกษตรกรใช้ยาดอกซิซัยคลีน ไฮโดรคลอไรด์ หรือออกซิเตตราซัยคลีน ละลายน้ำให้แก่สัตว์ เพื่อการรักษาโรคแล้ว เมื่อน้ำที่ใช้บริโภคมีปริมาณสังกะสีที่สูงอาจจะส่งผลให้ผลของการใช้ยานั้นได้ผลการรักษาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังพบว่าสารประกอบเชิงซ้อนที่เรียกว่าคีเลตจะทำให้โลหะหนักบางชนิดจับกับโปรตีนที่มีประจุสุทธิเป็นลบได้ในสภาพที่มีความเป็นกลางและเบสเล็กน้อย จนเกิดเกลือคาร์บอกซีเลต ทำให้โปรตีนเปลี่ยนสภาพและตกตะกอน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากน้ำเพื่อให้สัตว์บริโภคมีปริมาณโลหะหนักที่สูง อาจจะไปทำปฏิกิริยากับกรดอะมิโนที่เกษตรกรละลายน้ำเสริมให้แก่สัตว์และลดประสิทธิภาพ

          อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับน้ำที่ใช้ในฟาร์มปศุสัตว์ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า การตรวจวัดค่า pH ของแหล่งน้ำเป็นประจำเนื่องจากน้ำที่มีความเป็นกรดจะไปกัดกร่อนระบบท่อส่งน้ำ ส่งผลให้มีการปนเปื้อนโลหะลงในน้ำ หรือการใช้น้ำที่มีค่า pH ที่สูง จะส่งผลทำให้ลดประสิทธิภาพของการเติมคลอรีนในน้ำ เพื่อการฆ่าเชื้อโรคได้

          Amoxicillin เมื่อละลายในน้ำที่มีค่า pH สูงๆ จะทำให้ยาเสื่อมสลายได้เร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าค่าความกระด้างมีความสัมพันธ์กับความเป็นด่างและ pH ของน้ำ โดยน้ำที่มีความกระด้างสูงจะไปลดประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในกลุ่ม enrofloxacin เมื่อใช้รักษาโรคในไก่เนื้อ เนื่องจากน้ำที่มีความกระด้างสูงจะมีผลลดอัตราการดูดซึมของยา การผสมยากันน้ำที่ความกระด้างมากกว่า 180 ppm. มีผลไปลดประสิทธิภาพการทำงานของยาสูงที่สุด

          ข้อสรุปจากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ฟาร์มที่ติดตั้งระบบไบโอแก๊ส สามารถบำบัดน้ำเสียได้ในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับฟาร์มที่ไม่ได้ติดตั้ง นอกจากนี้ยังทำให้ปริมาณของเชื้อ Total coliform และ E.coli ลดลงและค่า BOD ในน้ำเสียโดยรวมลดลงอย่างชัดเจน ในทางกลับกันระบบไบโอแก๊สทำให้ธาตุโลหะหลักชนิดต่างๆ ได้แก่ Zn, Cu, cd, Pb มีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าฟาร์มที่ได้มีการติดตั้ง

          แนวทางการจัดการน้ำเสีย ทำได้โดยการลดการเกิดของเสีย นำกลับมาใช้ใหม่ บำบัด และกำจัดของเสีย แต่อย่างไรก็ดีต้องรู้ประเภทของแหล่งน้ำที่ใช้และบำบัดให้เหมาะสม เพื่อลดปัญหาและการใช้ยาปฏิชีวนะที่เพิ่มขึ้น หากเป็นคลอรีนในรูปของสารละลายอาจจะอยู่ในรูปของกรด hypochlorous acid หรือในรูปของอนุมูล hypochlorite หรือจะเป็นทั้งสองชนิด โดยประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อจุลินทร์ของคลอรีนจะขึ้นอยู่กับ hypochlorous acid ที่ไม่แตกตัว โดยขึ้นอยู่กับความเป็นกรด-ด่างของน้ำและอุณหภูมิ

          อย่างไรก็ตาม ระดับคลอรีนที่ใช้ในงานประเภทต่างๆ หากเป็นเครื่องมือต่างๆ ควรมีอนุมูลอิสระอยู่ 4-5 ppm. แต่ถ้าใช้เพื่อการชำระล้างควรมีอนุมูลอิสระอยู่ 10-20 ppm. ส่วนการจัดการน้ำเสียวิธีอื่นๆ ได้แก่ ลดการสร้างมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งการเพิ่มขึ้นของมลพิษในสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวแปรสำคัญไปกดดันให้เชื้อแบคทีเรียพัฒนาตัวเองเพื่อการอยู่รอดและเกิดการดื้อยามากขึ้น ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องควรใช้ให้เหมาะสมตามข้อกำหนด สุดท้ายคือ ควรบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มให้เหมาะสมก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป

          น.สพ.วินัย  กล่าวในหัวข้อ “การใช้น้ำและปัญหาที่มาจากน้ำในฟาร์มสุกร” โดยกล่าวว่า น้ำที่ใช้ในฟาร์มปศุสัตว์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นน้ำที่ได้จากแหล่งน้ำสำคัญอันได้แก่ น้ำบ่อ น้ำคลองสาธารณะ และน้ำบาดาล ซึ่งไม่มีการตรวจสอบตรวจเช็คใดๆ ส่วนมากจะดูดขึ้นมาใช้เลย แตกต่างจากการใช้น้ำในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่จะมีความเข้มงวดในการใช้มากขึ้น มีการตรวจเช็คและวัดค่าน้ำก่อนนำมาใช้

          ทั้งนี้เป็นเพราะว่าน้ำในอดีตที่นำมาใช้นั้นมีความสะอาดและบริสุทธิ์มากกว่าน้ำที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการปนเปื้อนของสารตกค้างต่างๆ ปัญหาที่พบจากการใช้น้ำในอดีต เช่น น้ำน้อย แห้งไม่พอใช้ และมีความขุ่น เมื่อสุกรกินแล้วท้องเสียแต่ไม่รุนแรง ขณะที่น้ำในปัจจุบันซึ่งอาจจะย้อนไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมาพบว่า น้ำเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะน้ำที่อยู่ในบ่อที่มีการขุดกักเก็บเอาไว้ใช้ในฟาร์มมีค่า pH สูงประมาณ 7-8 และมีการปนเปื้อนของสารเคมีมากขึ้น

          น้ำบางแหล่งมีรสชาติที่ไม่ดีสุกรกินไม่ได้ หรือกินได้น้อยปัญหาที่เกิดตามมาคือ สุกรมีการกินอาหารลดลง เพราะเมื่อใดที่สุกรกินน้ำได้น้อยย่อมกินอาหารได้น้อยตามไปด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะน้ำมีความสัมพันธ์กับการกินได้ของสุกร กล่าวคือในอาหารมีลักษณะเป็นผงแห้งรสชาติเค็ม ดังนั้น เวลาที่สุกรกินอาหารจะต้องกินน้ำตามทุกครั้ง เพื่อช่วยทำให้การกลืนของสุกรทำได้ง่าย แต่เมื่อน้ำมีปัญหาไม่ว่าจะด้านรสชาติหรือการปนเปื้อนของสารตกค้างจะทำให้มีปัญหาโดยตรงกับสุกร

          แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่มากกว่านั้นเมื่อน้ำมีปัญหาโดยเฉพาะการปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งต้องยอมรับว่าน้ำในปัจจุบันมีการปนเปื้อนสารเคมี และมีเชื้อก่อโรคมากมาย แต่ยังโชคดีที่เชื้อที่ปนเปื้อนนั้นยังเป็นเชื้อตัวเดิมที่เคยพบมาตั้งแต่อดีต ยังไม่มีเชื้อตัวใหม่ แต่การปนเปื้อนสารเคมีโดยเฉพาะพวกโลหะหนักมักจะสร้างปัญหาให้กับการเลี้ยงสุกร เพราะสารเคมีเหล่านี้มักจะซึมมากับน้ำใต้ดินที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยทิ้ง ในฟาร์มที่ไม่มีการตรวจเช็คหรือวัดค่าน้ำเมื่อนำมาใช้จะส่งผลกระทบต่อสุกร

          ผลกระทบที่เกิดจากน้ำที่มีการปนเปื้อนสารเคมีหรือมีเชื่อก่อโรคปนอยู่ พบว่า มีผลกระทบต่อความรุ่นแรงของโรคในสุกรมากขึ้น เนื่องจากจะเข้าไปกดภูมิคุ้มกันให้สุกรเกิดความอ่อนแอ โรคที่มีผลจากการใช้น้ำที่มีปัญหา ได้แก่โรค PRRS, เซอร์โคไวรัส, PED, E.coli และโรคท้องเสียอื่นๆ เพราะน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเมื่อเข้าไปในลำไส้จะทำลายกระบวนเมตาบอลิซึมของร่างกายสัตว์ ทำให้สัตว์อ่อนแอ ทำให้โรคเกิดความรุนแรง มีการแทรกซ้อน กลายเป็นปัญหาต่อเนื่อง เพราะทุกอย่างจะเกี่ยวพันกันหมด นี่คือผลกระทบจากการใช้น้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสารเคมีต่างๆ ในปัจจุบัน ดังนั้น การที่วันนี้เราต้องมาพูดและให้ความสำคัญกับน้ำ ก็เพราะน้ำมีความสำคัญอย่างมากๆ ต่อภาคปศุสัตว์และมีผลกระทบโดยตรงกับสัตว์ น้ำจึงถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น

          อย่างไรก็ดี ยังมีเกษตรกรอีกหลายคนที่ยังไม่เห็นความสำคัญของน้ำ โดยเฉพาะฟาร์มเก่าแก่ นั่นเป็นเพราะในอดีตการใช้น้ำไม่เคยมีปัญหา เมื่อเกิดความเสียหายหรือผลกระทบกับสุกรในฟาร์มซึ่งมาจากสาเหตุจากการใช้น้ำที่ไม่มีการตรวจวัดหรือเช็คค่าและมีเชื้อปนเปื้อน ทำให้เกษตรกรหรือเจ้าของฟาร์มเหล่านั้นมักไม่เชื่อ เพราะที่ผ่านมาการใช้น้ำของพวกเขาไม่เคยมีปัญหา แต่ลืมไปว่าน้ำในอดีตกับน้ำที่ใช้ในปัจจุบันมีความแตกต่างกันมาก

          ปัจจุบันมีรายงานหลายฉบับจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรทั่วโลก ระบุปัญหาของโรคสุกรส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้น้ำที่มีการปนเปื้อน ดังนั้น การใช้น้ำในวันนี้จึงต้องให้ความสำคัญและหาทางป้องกันเพื่อจะได้ไม่ต้องไปคอยตามแก้ไขในภายหลัง

          ศ.น.สพ.ดร.ทวีศักดิ์  ส่งเสริม  กล่าวเกี่ยวกับน้ำและสัตว์ปีกประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจคือ การใช้วัคซีนละลายน้ำ การใช้ยาฆ่าเชื้อในน้ำ และยาปฏิชีวนะลำลายน้ำ ว่า ไม่ว่าจะเลี้ยงไก่อย่างไรก็ใช้น้ำต้นแบบในการใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำในฟาร์มนั้น แต่ละพื้นที่คุณภาพน้ำไม่เท่ากัน แต่ก็จะมีการตรวจวัดมาตรฐานเหมือนกัน แน่นอนว่าการใช้น้ำต้องมีการทดสอบ การจัดการน้ำและการจัดการใดๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละฟาร์ม แต่เมื่อการใช้น้ำใดๆ ส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ปีกแล้วนั้นจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหา ส่วนหนึ่งมาจากน้ำ แต่เราจะสรุปหาข้อเท็จได้อย่างไรว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากน้ำจริงหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องนำมาพิจารณาเมื่อฟาร์มเกิดโรค ซึ่งการที่จะสรุปว่าปัญหาต่างๆ เกิดจากน้ำนั้นก็เป็นการสรุปที่ต้องพิจารณาให้ละเอียดมากจะไปชี้วัดเลยว่า อันนี้เกิดปัญหาจากน้ำทันทีเลยไม่ได้ เพราะการชันสูตรโรคจะมีขั้นตอนตามระบบของห้องปฏิบัติการ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะบอกว่าเกิดปัญหาจากน้ำต้องระมัดระวัง ต้องรอบคอบก่อนตัดสินใจ

          แต่ต้องย้อนกลับไปดูก่อน ว่าในระบบการใช้น้ำหรือที่มาของน้ำที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ได้มีการตรวจการติดตามคุณภาพของน้ำทุกระยะหรือไม่ ต้องดูทั้งทางกายภาพทางเคมีให้ชัดเจน ถ้าระบบตรวจคุณภาพน้ำของฟาร์มในตอนนี้ไม่ได้ทำเลยหรือ ไม่มีฟาร์มต้องทำได้แล้ว เพราะตอนนี้บริษัทเอกชนและราชการเปิดให้บริการการตรวจคุณภาพไม่ว่าจะเป็นการตรวจทางกายภาพหรือทางเคมี “มันมีความจำเป็นนะครับที่เราจะต้องเซ็ตคุณภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลไหนๆ ก็ตาม เช่นเดียวกันถึงแม้น้ำของท่านจะดี แต่ถ้าสัตว์เลี้ยงไม่ได้กินน้ำ สิ่งที่ตามมาคือ ไก่ไม่กินอาหาร ผลผลิตไข่ก็ลด ทั้งๆที่ไก่ไม่ป่วยไก่ไม่เป็นโรค ไม่ว่าเราจะทำอะไรทดสอบอะไร หรือมีสมุนไพรอะไรใหม่ๆ เข้ามาเสริมให้กับสัตว์กิน ถ้าคุณภาพน้ำไม่ได้เมื่อเวลาตรวจทดสอบทางเคมีอะไรก็จะไม่ได้ผล และต้องดูแหล่งที่มาของน้ำด้วย

          ประเด็นของน้ำยาฆ่าเชื้อ ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้มข้น หรือจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องเปลี่ยนน้ำยาเมื่อไหร่อย่างไร บ่อยแค่ไหน บางครั้งทฤษฎีและปฏิบัติก็ต่างกัน เอาอันดับแรกต้องรู้ว่า เราใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแบบไหน วิธีทดสอบง่ายนิดเดียวคือ เมื่อใช้น้ำยาฆ่าเชื้อละลายในน้ำแล้วนำยาจะใสๆ แล้วเอามือจุ่มลงไปถ้าเห็นลายมือก็ถือว่าใช้ได้ หลังจากใช้งานได้สักระยะนาน 6 ชั่วโมง กี่ชั่วโมงก็ตามก็ลองเอามือจุ่มลงไปดูอีกว่า ยังเห็นลายมือหรือไม่ ถ้าไม่เห็นก็ต้องเปลี่ยนใหม่

          กรณีของการทำวัคซีนละลายน้ำ ตัวพาวัคซีนคือน้ำ ไม่ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรถ้าไก่ตัวไม่เท่ากัน การกินก็ไม่เท่ากันตัวใหญ่ก็จะได้กินน้ำมากกว่า เวลาที่เตรียมวัคซีนเราต้องสต๊อกน้ำวัคซีนก่อน ซึ่งน้ำที่นำมาสต๊อกจะมีคุณภาพเพราะปริมาณน้อย แต่เมื่อสต๊อกเสร็จแล้วเทลงถังใหญ่เราจะไม่รู้ว่าน้ำในถังใหญ่เป็นอย่างไรอาจจะมีผลต่อคุณภาพวัคซีนได้ จะต้องบริหารจัดการน้ำให้ถังใหญ่ให้มีคุณภาพด้วย เพื่อให้ได้คุณภาพของวัคซีนอย่างเต็มที่ น้ำที่จะใช้ละลายวัคซีน PH ระหว่าง 6.8-7.4 อุณหภูมิ 25-30 องศา การกระด้างของน้ำควรต่ำอย่างน้อยต้องเท่ากับน้ำที่ไก่กินอยู่ปกติ

          ประเด็นสุดท้ายการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งตอนนี้ก็รณรงค์การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้ากรณีที่จำเป็นต้องใช้ หรือใช้เมื่อละลายน้ำ บางครั้งเจอน้ำที่มีแคลเซียมสูงๆ ยาก็จะหมดฤทธิ์ ก็ต้องดูว่าน้ำที่นำมาใช้มีความเป็นกรดด่างมากน้อยแค่ไหน

          คุณวัชระ  กล่าวในหัวข้อปิดท้ายเรื่อง “เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในฟาร์ม” โดยกล่าวว่า น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในโลก ทั้งในมนุษย์ สัตว์ และพืช การที่น้ำมีมลพิษหรือสิ่งเจือปนมากเกินขีดจำกัดทำให้คุณสมบัติเปลี่ยนไป ทำให้เกิดความเสียหายต่อการใช้ประโยชน์การอุปโภค บริโภค จนทำให้สิ่งมีชีวิตได้รับอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อม

          สำหรับดัชนีที่กำหนดคุณภาพน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ความเป็นกรดด่าง (pH) ออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ของแข็งทั้งหมด (TDS) แบคทีเรีย กลุ่มฟีคัล (Feacal Coliform) ไนโตรเจน (NO3-N) ฟอสฟอรัสทั้งหมด (TP) ความขุ่น (Turbidity) อุณหภูมิ (Temperature) ดังนั้น คุณสมบัติน้ำที่ดีจะต้องมีแร่ธาตุอยู่ในระดับที่เหมาะสมมีความเป็นกรดด่าง (pH) ในช่วง 6.5-8.5 มีความขุ่นต่ำและอุณหภูมิที่เหมาะสมปราศจากเชื้อโรค

          น้ำที่ใช้เลี้ยงปศุสัตว์ซึ่งมาจากน้ำใต้ดินหรือน้ำผิวดิน ส่วนใหญ่แล้วมีปัญหาเรื่องเชื้อโรคที่ปนเปื้อน มาในน้ำ pH ความกระด้าง คลอไรด์ ค่าของแข็งที่ละลายอยู่ในน้ำทั้งหมด (TDS) ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่ม รวมถึงมีการพบโลหะหนัก เช่นเหล็กและแมงกานีสในน้ำบริโภคของสัตว์เลี้ยง ดังนั้น ปัญหาตามมาจากน้ำที่ไม่ได้ตามมาตรฐานคือ มีเรื่องโรคในน้ำ ทำให้สัตว์อ่อนแอป่วยเกิดโรคติดต่อ ลดประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในฟาร์ม เช่น น้ำกระด้างจะทำให้ลดประสิทธิภาพของยา วิตามินและแร่ธาตุ และสุดท้ายเกิด ไบโอฟิล์ม (Biofilms) ในท่อน้ำทำให้ท่อเกิดการอุดตันและเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อโรคในน้ำ

          “ไบโอฟิล์ม” เป็นกลุ่มของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่รวมกัน มีลักษณะเป็นเมือกลื่น สารเมือกดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นชั้นปกป้องแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายใน รวมทั้งสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ที่อยู่ภายในไบโอฟิล์ม พบได้บริเวณพื้นที่ผิวท่อ หรือภาชนะทำให้เกิดคราบสกปรกเหนียวอุดตัวท่อน้ำ และเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อโรคในน้ำ ดังนั้นในวงการปศุสัตว์การขจัดไบโอฟิล์มในท่อน้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรปฏิบัติ เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อต่างๆ โดยควรเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยล้าง เช่น สารกลุ่ม Oxidizing ได้แก่ Peracetic acid, Hudrogen peroxide, chorline dioxide

          นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัญหาของน้ำที่ใช้ในปัจจุบันคือ น้ำกระด้างเพราะมีค่า pH สูง ก่อให้เกิดหินปูนเกาะในอุปกรณ์ เช่น Cooling Pad ในระบบเล้าปิด ถังน้ำ และท่อน้ำ ทำให้ท่ออุดตัน การแก้ไขปัญหา หากเป็นน้ำกระด้างชั่วคราว ใช้วิธีการเติมปูนขาวหรือต้มให้เดือดจะช่วยได้ ส่วนน้ำกระด้างถาวร แก้ไขได้โดยการทำให้ไอออนที่มีอยู่ในตะกอนแยกออกด้วยการกรองด้วยสารเคมี เช่น ปูนขาว และโซดาแอช สารส้ม สารจับโลหะ นอกจากนี้ยังแก้ได้โดยการกลั่น

          ส่วนการกำจัดหรือฆ่าเชื้อในน้ำจะใช้วิธี Disinfection คือการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยสารฆ่าเชื้อ ได้แก่ คลอรีน (Cl2) คลอรีนไดออกไซด์ (CLO2) โอโซนและแสงอัลตราไวโอเลต (UV)

          คลอรีน เป็นสารฆ่าเชื้อที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง และสามารถสลายตัวได้รวดเร็วในธรรมชาติ ส่วนคลอรีนที่ใช้จะอยู่ในรูปก๊าซ ผง และน้ำ แต่การใช้คลอรีนก๊าซหรือคลอรีนผง และคลอรีนน้ำในการฆ่าเชื้อโรคในทางปฏิบัติแล้วผลไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะปริมาณคลอรีนที่ใช้น้อยมาก ทำให้ผลกระทบต่อ pH ของน้ำค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคของคลอรีนขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของคลอรีนอิสระ ระยะเวลาในการฆ่าเชื้อโรค อุณหภูมิ ความขุ่นของน้ำ และสภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) ด้วย

          ข้อดีของการใช้คลอรีน คือราคาถูก หาซื้อง่าย มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบทั้งแบบก๊าซผง และน้ำ การเติมคลอรีนลงในน้ำค่อนข้างทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยากแต่ข้อเสียคือ น้ำกระด่างที่มีค่า pH เกิน 8 ขึ้นไป ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจะลดลง และคลอรีนที่ทำปฏิกิริยากับอินทรีย์ จะทำให้เกิดไตรฮาโลมีเทน (THMs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งนอกจากนี้ คลอรีนยังมีกลิ่นฉุน และในกรณีใช้คลอรีนก๊าซต้องมีระบบความปลอดภัยที่ดีด้วย

 

ที่มา :  สาส์นไก่ & สุกร ปีที่ 14 ฉบับที่ 162 เดือนพฤศจิกายน 2559 (หน้า 115-120)

Visitors: 427,882