ปัญหาค้ามนุษย์ไทยดีขึ้น สหรัฐฯ เลื่อนอันดับขึ้นอยู่ Tier 2 watch list

ปัญหาค้ามนุษย์ไทยดีขึ้น สหรัฐฯ เลื่อนอันดับขึ้นอยู่ Tier 2 watch list

1 กรกฎาคม 2559 การถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) แสดงว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการขจัดการค้ามนุษย์ในช่วงเวลาการทำรายงานจัดอันดับ ทว่า การดำเนินงานนั้นยังไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดอย่างครบถ้วน

การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมโหดเหี้ยมที่ไร้พรมแดน โดยในแต่ละปี มีประชาชนทั้งชาย หญิงและเด็กหลายสิบล้านคนทั่วโลกตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมอันร้ายกาจนี้

คำว่า “การค้ามนุษย์” และ “การค้าทาสสมัยใหม่” ต่างหมายถึงการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลเพื่อบังคับใช้แรงงานหรือค้าประเวณีโดยการใช้อำนาจบังคับ กลฉ้อฉลหรือการขู่เข็ญบีบบังคับ การค้ามนุษย์มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การค้าเพื่อบังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ ซึ่งรวมถึงพันธนาการหนี้และงานรับใช้ตามบ้าน เมื่อบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีตกอยู่ในสถานภาพที่ต้องค้าประเวณีก็ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ แม้จะไม่มีการบังคับ ล่อลวงหรือขู่เข็ญก็ตาม

ในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลไทยรายงานว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ทางการได้เพิ่มความพยายามดำเนินการสืบสวนคดีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ และคดีที่ต้องสงสัยว่า มีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงได้ดำเนินคดีและพิพากษาโทษนักค้ามนุษย์หลายร้อยคน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเริ่มสืบสวนคดีการค้าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงหลายสิบคดี กระนั้น การค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงาน ซึ่งรวมถึงพันธนาการหนี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในไทย และการบังคับใช้แรงงานอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังคงเป็นปัญหาอยู่ เจ้าพนักงานรัฐ นายจ้าง เจ้าของกิจการ นายหน้าและสำนักงานจัดหางานที่สมรู้ร่วมคิดค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินกิจการต่อโดยไม่ต้องรับโทษ

รัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินคดีที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำทารุณ

สหรัฐฯ ขอให้ทางการไทยติดตามผลการสอบสวน การดำเนินคดีและกระบวนการศาลยุติธรรมสำหรับคดีที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างขันแข็งและอยู่ในห้วงเวลาอันเหมาะสม ซึ่งรวมถึงคดีที่เจ้าพนักงานรัฐถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดค้ามนุษย์ และขอให้รัฐบาลไทยใช้คดีที่ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมาเป็นรากฐานในการระบุและสอบสวนคดีใหม่ด้านการบังคับใช้แรงงาน พันธนาการหนี้และการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์และภาคประชาสังคมของไทยร่วมมือกันระบุตัวบุคคลและให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2558

อย่างไรก็ดี หน่วยงานต่างๆ ทุกหน่วยจำต้องเพิ่มความพยายามร่วมมือดำเนินการที่มีประสิทธิผลมากขึ้น พร้อมร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อตรวจพบสิ่งบ่งชี้ต่างๆ ได้ดีขึ้น ว่ามีการค้ามนุษย์ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและสร้างเสริมความสามารถให้แก่ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์

รายงานฉบับนี้ ยังเรียกร้องให้ไทยดำเนินการต่อไปในการปรับปรุงความคงเส้นคงวาของกระบวนการระบุตัวบุคคลผู้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ การจัดลำดับความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของเหยื่อการค้ามนุษย์ จนถึงการออกกฎระเบียบใหม่ๆ ในการให้สถานภาพทางกฎหมายและใบอนุญาตทำงานแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตรวจสอบแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการจัดหาแรงงานอย่างละเอียดและแข็งขัน พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงแนวปฏิบัติดังกล่าวผ่านช่องทางทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อประโยชน์ของแรงงานอพยพ

ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยดำเนินมาตรการเกี่ยวกับกรณีข้าราชการสมรู้ร่วมคิดการค้ามนุษย์ ซึ่งได้แก่ การพิพากษาจำคุกข้าราชการสองคน แต่ปัญหาทุจริตและข้าราชการสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยหลายๆ คดีที่ข้าราชการถูกกล่าวหาว่า สมรู้ร่วมคิดยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา

มีรายงานหลายฉบับกล่าวว่า ข้าราชการบางคนได้รับผลประโยชน์จากเงินสินบนและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกรรโชกทรัพย์และขายผู้อพยพให้แก่นายหน้า อันเป็นการเพิ่มสภาวะอ่อนแอเปราะบางของผู้อพยพเหล่านี้ที่จะตกเป็นเหยื่อในธุรกิจทางเพศ แรงงานบังคับและพันธนาการหนี้ ประเทศไทยจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญาและสำนักงานคดีค้ามนุษย์ในสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งได้เริ่มดำเนินการพิจารณาคดีแล้ว

"สหรัฐฯ มีความยินดีและสนใจรอรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่จัดตั้งพิเศษเหล่านี้ซึ่งหน่วยงานทั้งสองยังสรรหาทรัพยากรและความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นต่อไป ในบรรดาคดีค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศนั้น ความพยายามในการสอบสวนคดีเด็กและการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อดำเนินงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อเด็กและเยาวชนได้นำไปสู่การจับคุมนักค้ามนุษย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ"

สุดท้าย สหรัฐฯ ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการให้ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามกรอบคำแนะนำในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2559

ความหมายของ TIP Report ในแต่ละระดับ

ระดับที่ 1 (Tier 1) คือ ประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐฯ ทั้งด้านการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์และการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์

ระดับที่ 2 (Tier 2) คือ ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐฯ แต่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขระดับที่ 2 ซึ่งต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Tier 2 Watch List) คล้ายกับ Tier 2 โดยมีจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลเพิ่มความพยายามดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์

ระดับที่ 3 (Tier 3) คือ ระดับต่ำสุด หมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐฯ และไม่มีความพยายามแก้ไข

ที่มา : The Guardian

https://www.theguardian.com/global-development/2016/jun/30/thailand-us-trafficking-in-persons-report-2016-fury 

Visitors: 396,913