หมู-ไก่-ไข่ยังไม่ขาดแคลน รัฐยันราคาคงเดิม ผลกระทบภัยแล้งพอถูไถ

หมู-ไก่-ไข่ยังไม่ขาดแคลน รัฐยันราคาคงเดิม ผลกระทบภัยแล้งพอถูไถ

20 มีนาคม 2559 กรมการค้าภายใน ยันภัยแล้งไม่กระทบปริมาณผลผลิตไก่–หมู–ไข่ไก่ แม้ผู้ประกอบการมีต้นทุนจากการซื้อน้ำเพิ่มขึ้น แต่ราคาสู่ผู้บริโภคยังไม่ขยับขึ้น ด้าน กฟผ. เผยสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าสูงสุดปีนี้คาดอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติปีที่ผ่านมา ภายใต้อุณหภูมิที่คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 38.5 องศาเซลเซียส ในช่วงปลายเดือน เม.ย.–พ.ค.นี้

      น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้เลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ เกี่ยวกับผลกระทบจากภัยแล้งว่า ผู้เลี้ยงไก่ และหมู ยืนยันตรงกันว่า ผลผลิตในช่วงนี้เพียงพอแน่นอน โดยไก่เนื้อมีผลผลิตวันละ 5 ล้านตัน และยังเหลือส่งออก ส่วนหมูผลผลิตและการบริโภควันละ 35,000 ตัว และส่งออกปีละ 900,000 ตัว สำหรับปัญหาน้ำที่ใช้ในฟาร์มนั้น ผู้เลี้ยงรายใหญ่ระบุว่า น้ำยังมีเพียงพอ แต่ต้นทุนการเลี้ยงของผู้เลี้ยงบางราย ที่อยู่ไกลแหล่งน้ำ อาจเพิ่มขึ้นบ้าง จากการซื้อน้ำเฉลี่ยวันละ 2 คันรถ ราคาคันละ 1,500-2,000 บาท แต่ยืนยันว่า ราคาขายสู่ผู้บริโภคจะยังไม่เพิ่มขึ้นเพราะราคาอาหารสัตว์ ซึ่งมีสัดส่วน 50% ของต้นทุนการเลี้ยงยังไม่เพิ่มขึ้น

      “ผู้เลี้ยงหมูครึ่งหนึ่งเลี้ยงในโรงระบบปิดจึงไม่มีปัญหา ส่วนอีกครึ่งเลี้ยงในโรงระบบเปิด ซึ่งเป็นรายเล็กและรายกลาง ประสบปัญหาต้นทุนน้ำเพิ่มขึ้น เพราะการเลี้ยงสุกรใช้น้ำปริมาณมาก ทั้งเพื่อทำความสะอาดและบริโภค โดยบางพื้นที่ เช่น จ.ราชบุรีและชลบุรี ได้รับผลกระทบจากการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนแล้ว ทำให้ต้องซื้อน้ำเพิ่ม 1-2 คันรถ ผู้เลี้ยงจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐดูแลระบบน้ำด้วย ซึ่งกรมฯจะประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความรู้และทำความเข้าใจเรื่องการใช้น้ำและสุขอนามัยด้วย”

      สำหรับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม ขณะนี้ กิโลกรัม (กก.) ละ 68 บาท ส่วนหมูเนื้อแดงเฉลี่ย กก.ละ 120-130 บาท และน่าจะยืนราคานี้อย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และต้นทุนต่างๆ ยังไม่ปรับขึ้นมาก ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมที่การบริโภคไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม

      ขณะนี้ กรมฯกำลังติดตามสถานการณ์พ่อแม่พันธุ์หมูอย่างใกล้ชิด เพราะผู้เลี้ยงระบุว่า แม้ปริมาณผลผลิตในเดือน มี.ค.-พ.ค.นี้ ยังเพียงพอ และราคาไม่ปรับขึ้น แต่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ผลผลิตอาจลดลงได้ เพราะขณะนี้พ่อแม่พันธุ์ลดลง ซึ่งกรมฯจะร่วมกับกระทรวงเกษตรฯบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนแน่นอน

      ส่วนสถานการณ์ไข่ไก่โดยรวมปริมาณไข่ไก่ในปีนี้จะอยู่ที่ 15,560 ล้านฟอง หรือวันละ 42 ล้านฟอง ถือว่าเพียงพอต่อการบริโภค และไม่ขาดแคลนไข่ไก่ แต่ยอมรับว่าในช่วงอากาศร้อนอาจทำให้ไข่ไก่เล็กกว่าปกติ แต่สิ่งที่ผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้รับผลกระทบยังคงเหมือนเช่นทุกปี คือ ต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงหน้าร้อน และการหาแหล่งน้ำเพิ่มทำให้ราคาไข่ไก่คละขณะนี้ปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่เฉลี่ยฟองละ 2.90 บาท โดยมีต้นทุนเฉลี่ยฟองละ 2.79-2.80 บาท ส่งผลให้ราคาไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.35 บาท ซึ่งไม่สูงเกินไป โดยผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือลดต้นทุนในด้านต่างๆ ให้เพื่อให้ราคาไข่ไก่ไม่เพิ่มขึ้นในช่วงภัยแล้ง และช่วงเปิดเทอมหน้า

      นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การใช้ไฟฟ้าของประเทศปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ประจำวันมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพอากาศและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่า พีกปีนี้จะอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์ ภายใต้อุณหภูมิ 38.5 องศาเซลเซียส ในปลายเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ สถิติพีก ปี 2558 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2558 เวลา 14.02 น. อยู่ที่ 27,345.8 เมกะวัตต์ อุณหภูมิ 36.7 องศาเซลเซียส และคาดว่าพีกของปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากอากาศร้อนและแล้งจัดจากภาวะเอลนิโญ

      อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข่าวว่า ระหว่างวันที่ 17-19 มี.ค.2559 ประเทศไทยจะร้อนที่สุดในอาเซียน และมีความกังวลเรื่องมวลอากาศเปลี่ยนเป็นคลื่นความร้อน (Heat wave) แต่พีกเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 27,002 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิ 36.1 องศาเซลเซียส ยังไม่ทำลายสถิติเดิมของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ กฟผ.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมกำลังผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยมีโรงไฟฟ้าที่เพิ่งทยอยจ่ายไฟ ได้ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นในปีนี้ เช่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 และได้มีมาตรการหลีกเลี่ยงแผนบำรุงรักษาในช่วงหน้าร้อน มีการสำรองน้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มขึ้น เป็นต้น จึงให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า กฟผ. สามารถดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ไม่มีปัญหากับผู้ใช้ไฟฟ้า

      ขณะที่นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา จีนได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจินหงลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้ขณะนี้ ปริมาณน้ำโขงในแถบภาคอีสานเพิ่มขึ้นโดยลำดับ จนปัจจุบันระดับน้ำสูงแตะ 20 เซนติเมตร ก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนที่อาศัยอยู่แถบลำน้ำโขง ซึ่งสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับภาวะปกติ ทั้งนี้มีจังหวัดของประเทศไทยที่อยู่ติดกับลำน้ำโขง เช่น จ.เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เป็นต้น ซึ่งต่างมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดย จ.หนองคายมีมากถึง 40 สถานี

ที่มา  :  ไทยรัฐออนไลน์

Visitors: 397,167