TPP กติกาใหม่การเมืองโลก "ผลประโยชน์แฝง" นอกเรื่องการค้า

TPP กติกาใหม่การเมืองโลก "ผลประโยชน์แฝง" นอกเรื่องการค้า

2 มีนาคม 2559 ภายหลังความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) บรรลุข้อตกลงเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2558 หลายประเทศเริ่มมองเห็นความสำคัญของกรอบการค้าดังกล่าว ที่มีสมาชิก 12 ประเทศ ซึ่งจะมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 40% ของจีดีพีโลก โดยเฉพาะ 2 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลกอย่างสหรัฐและญี่ปุ่น

ความสำเร็จก้าวแรกของการเจรจาทีพีพีส่งผลกระทบเชิงบวกกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership : TTIP) ระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับการเจรจาการค้าในกรอบทีพีพี โดยเมื่อการเจรจาทั้ง 2 กรอบบรรลุผล ข้อตกลงที่มีทิศทางที่สอดคล้องกับทั้ง ทีพีพี และ TTIP จะถูกนำไปใช้กับประเทศกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 86% ของทั้งโลก 

ไม่เพียงเท่านั้น ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังมีกรอบการเจรจาที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) และเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนการเจรจา และมีประเทศสมาชิกที่อยู่ในกรอบทีพีพีรวมอยู่ด้วย โดยความสำเร็จของทีพีพี น่าจะส่งผลกับการเจรจาภายในกรอบการค้าใหญ่ทั้ง RCEP และ FTAAP พร้อมทั้งตอกย้ำความสำคัญของข้อตกลงในกรอบทีพีพี ในการเป็น "รากฐานเงื่อนไขการค้าที่สำคัญแบบใหม่ของโลก" 

ในงานเสวนาเรื่องทีพีพี และการสร้างระบบการค้าใหม่ของโลก (TPP and The Creation of The New Trading System) ตัวแทนจากภาครัฐของญี่ปุ่น และนักวิชาการจากมาเลเซีย สะท้อนแนวคิดที่สอดคล้องกันว่า การเจรจากรอบการค้าทีพีพีจะเป็นการสร้างมาตรฐานทางการค้ารูปแบบใหม่ที่สำคัญของโลก ทั้งยังกระทบกับการวางจุดยืนและการตอบโจทย์ผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละประเทศในเวทีการเมืองโลกยุคปัจจุบัน 

ตัวแทนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ระบุว่า ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เน้นไปที่ความร่วมมือเพื่อเกื้อหนุนระหว่างประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นต้องปรับตัวเพื่อรับรองแนวคิดที่ "มองหาโอกาสนอกบ้าน" 

โดยมุมมองของญี่ปุ่นเชื่อว่า โอกาสทางเศรษฐกิจจากการเจรจาในกรอบการค้าทีพีพี ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การค้า ซึ่งจะได้ประโยชน์จากภาษี 0% เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงโอกาสการลงทุนนอกบ้าน ซึ่งช่วยส่งเสริม SMEs ของญี่ปุ่นด้วย 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมองว่า ข้อตกลงดังกล่าวยังเป็นการจัดตั้งกฎระเบียบสำหรับการค้าการลงทุนที่สำคัญ ถือเป็น "พื้นฐาน" ที่สำคัญของการสร้างเงื่อนไขในกรอบเจรจาการค้าอื่นๆ เช่น RCEP และ FTAAP ตลอดจนการเจรจาการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นกับชาติอื่น 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ระบุว่า การเจรจาทั้งในกรอบ RCEP และทีพีพี ไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่จะเกื้อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกันและกัน

ดาโต๊ะ สตีเวน หว่อง จากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (ISIS) ของมาเลเซีย ได้ร่วมแสดงทรรศนะของมาเลเซียต่อการเจรจาภายใต้กรอบการค้าทีพีพี ว่า ที่ผ่านมามาเลเซียวางจุดยืนตัวเองในฐานะ "ชาติการค้าขนาดเล็ก" และการเจรจาการค้าในกรอบทีพีพีเป็นไปเพื่อ "สนองผลประโยชน์แห่งชาติ" ของมาเลเซีย และส่งผลเชิงบวกกับเศรษฐกิจของประเทศ "มากกว่าที่ประเมินไว้ก่อนเข้าร่วม"

นอกจากผลประโยชน์ทางการค้าแล้ว ดาโต๊ะหว่องระบุว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิกทีพีพียังเป็นการสะท้อนจุดยืนของมาเลเซียในเวทีโลก ในเรื่องของการให้ความสำคัญกับความร่วมมือในระดับที่หลากหลาย และยังพร้อมที่จะประสานนโยบายกับมหาอำนาจ ภายใต้บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศ ที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหาการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือและหาจุดร่วมเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน

และแม้มาเลเซียจะเป็นสมาชิกของทั้งกรอบทีพีพีและ RCEP ก็ไม่ได้ทำให้ความกระตือรือร้นในการผลักดันการเจรจาในกรอบ RCEP น้อยลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับทำให้มาเลเซียตื่นตัวมากขึ้น เนื่องจากต้องการดึงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบการค้าที่สำคัญ โดยตั้งเป้าไว้ว่า กรอบการเจรจา RCEP ควรจะบรรลุได้ในปีนี้ ซึ่งถ้าไม่ได้ข้อสรุป ก็คงจะมีคำถามที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมาไม่น้อย ถึงบทบาทและความจริงใจในการร่วมมือของประเทศสมาชิก

http://prachachat.net/news_detail.php?newsid=1456927158 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

Visitors: 396,913