อดีตผู้อำนวยการใหญ่ WTO กังวล TPP ไม่เป็นธรรม แนะควรเจรจาผ่าน WTO

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ WTO และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด(UNCTAD) เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อส่องเศรษฐกิจโลก เจาะธุรกิจไทย 2016 เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ว่ากังวล TPP ไม่เป็นธรรม แนะควรเจรจาผ่าน WTO

สำหรับ WTO เราเข้าไปดู ผมเข้าไปพักหนึ่ง ตอนนี้มีเพื่อนที่เป็นคนอเมริกาใต้ คนบราซิล เข้าไปดูแล เราพยายามทำให้ระบบเป็นระบบที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะการค้าโลกเป็นเรื่องที่ประเทศใหญ่ๆ 2-3 ประเทศมานั่งคุยกัน ตกลงกันว่าจะคิดภาษีกันเท่านี้นะ จะเปิดสินค้านี้ไม่เปิดสินค้านี้ เราจะอุดหนุนสินค้าเกษตรได้นะ แบบนี้ไม่ได้ เราต้องมีส่วนร่วมใน WTO ผมไปนั่งบริหารมา 3 ปี ตอนนี้คนที่มาจากประเทศกำลังพัฒนาคือบราซิลมาบริหารต่อ ใน WTO จึงเริ่มมีประชาธิปไตยที่แท้จริงมากขึ้น คือประเทศยากจนก็มีสิทธิเหมือนกัน แล้วตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นครับ การเจรจารอบล่าสุดที่โดฮา เป็นการเจรจามา 14-15 ปีแล้ว ไม่จบเสียที เพราะเป็นการเจรจาที่เรียกว่า DOHA Development Agenda (DDA) เป็นเรื่องที่จะช่วยประเทศกำลังพัฒนามากกว่ารอบอื่นๆ เขาไม่ยอมให้จบ

ตรงกันข้าม มีกระบวนการที่ผมต้องมาพูดตรงนี้อีกหน่อย เพราะต้องเตือนประเทศไทย ในเอเชีย และในโลกด้วย ว่ามีกระบวนการที่จะนำเรื่องการเจรจาการค้าโลกออกจาก WTO มาเจรจากันข้างนอก เป็นกระบวนการในเอเชียที่เรียกว่า TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ชื่อเขาสวยเหมือนเป็นหุ้นส่วนกัน แต่คนที่เป็นหัวเรือใหญ่คือสหรัฐอเมริกาที่จะดูแล ซึ่งไม่ว่าอะไรถ้าสหรัฐอเมริกาจะดูแล เขาชวนพรรคพวกได้ 12 ประเทศมาร่วมเจรจา ในด้านตะวันตกของอังกฤษ เขาชวนยุโรปมาร่วมเจรจาเป็นเขตการค้าเสรีชื่อว่า TTIP หรือ Transatlantic Trade and Investment Partnership

ถ้าสองอันนี้สำเร็จ TPP สำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง ยังต้องให้สัตยาบรรณในสภาอีก ส่วน TTIP ยังต้องถกกันในยุโรปในอเมริกาอีกเยอะ แต่ถ้าทำได้เมื่อไร WTO เลิกได้ เพราะว่าสองอันนี้รวมกันก็ 80-90% ของการค้าโลกแล้ว ส่วนประเทศที่เหลือเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีสิทธิออกเสียงอะไรได้เลย เพราะฉะนั้น เป็นอันตรายที่ผมพยายามเตือน ทาง WTO ก็เป็นห่วง ถ้าหากประเทศไม่กี่ประเทศมากำหนดเงื่อนไข กำหนดอัตรา กำหนดเรื่องระเบียบการค้าโลก ถ้าสหรัฐอเมริกาและยุโรปรวมกันได้ มากำหนดเงื่อนไขการค้าสินค้าเกษตร คุณต้องทำแบบนั้นแบบนี้ เราจะทำอะไรก็ผิดไปหมด เขาจะกีดกันเราอย่างไรก็ได้ รวมกันแล้วมันจะทำให้ WTO หมดสภาพไป

ย้ำ TPP อาจกระทบประชาชน อย่าสนแต่การค้า

สิ่งที่จะเป็นอันตรายที่เราต้องดูก่อนเข้าไปเจรจา TPP คือต้องดูให้ดีว่า TPP คืออะไร เวลานี้สหรัฐอเมริกาในสภาเองยังไม่ชัดเจนว่าคืออะไรแน่ แต่เท่าที่รู้แน่นอนขณะนี้ที่ผมได้ดู TPP มีระเบียบใหม่ 30 หัวข้อ ในนั้น 7-10 หัวข้อไม่อยู่ในกฎข้อบังคับของ WTO อย่างเช่นเรื่องของแรงงาน การลงทุน การมีส่วนร่วมของรัฐวิสาหกิจ เรื่องการออกกฎหมายการแข่งขัน มีหลายเรื่องมากมายที่ทำให้ WTO หมดสภาพ เขามากำหนดกันเองนอก WTO ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหลายประเทศรวมกันเป็นพหุภาคีมากำหนดกฎเกณฑ์รวมกันให้เป็นธรรมกับทุกคน

โดยเฉพาะสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องจำเป็น สำคัญมาก สหรัฐอเมริกาในเรื่องผลิตอุตสาหกรรมตอนนี้เลิกได้ เขาคงไม่มีทางแข่งขันได้ในอนาคต เขามาแข่งทางด้านบริการ แล้วสิ่งที่แข่งขันได้ในด้านบริการคือเรื่องการมีทรัพย์สินทางปัญญา ทางด้านลิขสิทธิ์ต่างๆ เอามาขายหากิน ซึ่งแน่นอนว่าควรได้รายได้จากเรื่องนี้ ควรจะส่งเสริมให้มีการค้นคว้ามากขึ้น แต่การที่เอาเรื่องนี้มาบังคับเกี่ยวกับเรื่องความเป็นดีอยู่ดีของประชาชนทั่วโลก ยาแพง สูตรยาไม่เปิดเผย ต้องการเก็บไว้ 30 กว่าปี แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วยังขอว่า 5 ปีได้หรือไม่ ของเราก็ขอว่าเรามีปัญหามากเรื่องโรคบางอย่าง ขอซื้อสิทธิบัตรยามาได้ไหม ราคาไม่ต้องแพงนักหรือขอใช้โดยไม่ต้องแพงมากได้หรือไม่ เรื่องนี้จะมีปัญหามากถ้าเกิดมีการกำหนดเรื่องการค้าโลกนอก WTO

ภายในของเราเอง ทางด้านธุรกิจอยากเข้าไปร่วม เพราะจะได้ขยายตลาดใหญ่ขึ้น ยิ่งใหญ่ยิ่งดี แต่ในส่วนของประชาชนที่จะได้รับผลของการเข้าไปร่วม เพราะว่ามันไม่ใช่แค่การค้าอย่างเดียว มันมี 30 ข้อกำหนด หลายข้อมันเกี่ยวข้องกับประชาชน เรื่องการลงทุน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องรักษาพยาบาล เรื่องข้อพิพาทการค้า เรื่องแรงงาน เยอะแยะมากมาย ซึ่งประเทศต้องพิจารณามากกว่าผลประโยชน์ทางด้านการค้า ผมไปอยู่ที่ WTO มาแล้ว แต่ผมมีความเชื่อว่า WTO จะเป็นประโยชน์ต่อโลกก็ต่อเมื่อช่วยเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย

เรื่องของ IMF ตอนนี้มีการใช้เงินเข้าไปในยุโรปมาก ไม่มีใครค้านเพราะว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรปถือหุ้นใหญ่ ทั้งที่เราในเอเชียหรือจีนควรจะถือหุ้นมากขึ้น เขาไม่ยอมแก้ไขกฎระเบียบ IMF เคยมีข้อตกลงกันไว้แล้วว่าจะต้องแก้ระเบียบให้ประเทศอื่น ที่เคยมีหุ้นน้อย มีหุ้นมากขึ้น เพื่อให้มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ตอนนี้สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาเพิ่งอนุมัติเมื่อปีที่แล้วให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนการถือโควต้าที่ IMF แต่เปลี่ยนไปไม่มาก ไม่ทำให้การบริหาร IMF เปลี่ยนแปลงไปได้

หนุนสร้างเอกภาพการค้าในเอเชีย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราพิจารณาเรื่องในเอเชียของเรา ทางออกที่สำคัญที่จำเป็นของไทยก็คือว่าเราจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่จะสร้างแรงของอุปสงค์ภายในขึ้นมา ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ในประเทศไทย แต่เราต้องมีพื้นที่มากขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังก่อตัวในรูปของ AEC จาก 60-70 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน มันเป็นอาณาเขตที่เราเข้าไปค้าขายได้เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตการค้าขายของเรา เพราะว่านอกจากจะอยู่ติดกันแล้ว เรายังมีเครือข่ายโยงกันหมดได้ในอาเซียน อันนี้เป็นแต้มต่อซึ่งประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเขาอิจฉาเรามาก

ผมเรียนตรงๆ ได้เลยว่าคนที่มองการขยายตัวของอาเซียน ของเอเชีย ปากบอกว่าดีมาก ขยายตัวได้ดีมาก เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวไปด้วย แต่ในใจลึกเขาเป็นห่วงมาก ถ้าเกิดเอเชีย อาเซียนใหญ่ขึ้นมาในอนาคต ใครเป็นคนกำหนดเรื่องของนโยบายการค้าโลก ใครกำหนดกฎระเบียบโลก กฎระเบียบการเงินโลก จะเป็นพวกเราในเอเชียต่อไปในอนาคต

แต่กลายเป็นว่า พวกเราในเอเชียไม่มีความเป็นเอกภาพอะไรทั้งสิ้นเลย เป็นอะไรที่อ่อนแอเหลือเกิน เป็นจุดอ่อนเหลือเกิน ทั้งที่เรามีกำลังมากมาย ทั้งการค้า การผลิต อุตสาหกรรม อาจจะบอกว่าด้านการค้นคว้า ด้านวิจัย ด้านบริการ แต่พวกนี้เรียนรู้กันได้ ขยายตัวต่อไปได้ แต่ขั้นแรกถ้าเรารวมตัวกันไม่ติด เป็นการค้าในเอเชียที่มีพลังที่สูงและโยงกันได้ ลดอุปสรรคซึ่งกันและกัน มันกำลังเกิดขึ้นผ่าน AEC จะเกิดองค์กรอีกองค์กรคือ RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership เป็นการรวมอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะเป็นอะไรที่ใหญ่มาก เราจะมีส่วนร่วมที่จะสร้างให้ตลาดเป็นตลาดที่เชื่อมโยงใกล้ชิดมากขึ้น มันเป็นตัวผลักดันที่ผมเรียนชัดเจนว่าเราจะขยายตัวก้าวข้ามสิ่งที่มันเป็นอะไรที่ติดขัดอยู่ตอนนี้ โดยการค้าขายอย่างเดียวหรือจะเป็นการดึงการลงทุนจากข้างนอก เป็นทางเดียวในแง่ของระดับการค้าร่วมกันที่ใหญ่ขนาดนี้

หรือเรื่องของ CLM กัมพูชา ลาว เมียนมา ไปถึง CLM2 มาเลเซียด้วย ไทยเราต่อไปในอนาคตไม่ต้องทำอะไรมากมาย เราเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว ผมพูดเรื่องอาเซียนไปแล้ว RCEP สำคัญมาก โดยเฉพาะกับไทย TPP เข้าไปโดยไม่มี CLM เลยและไม่มีทางที่จะเข้า อีก 10 ปีก็ไม่ได้เข้า คือไทยยังเข้าได้ ถ้าหาก CLM เข้าไม่ได้ เขาจะมีปัญหาเรื่อง Rule of Origin แหล่งกำเนิดสินค้าต้องไปอยู่ที่เดียวในการรวมกลุ่มสินค้า แต่ถ้าเป็น RCEP จะรวมอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ ไม่แบ่งแยก ตอนนี้แบ่งแยกมาก น่าเกลียดมากที่เราไม่เข้าไปด้วยกันทั้ง 10 ประเทศ มันไม่เป็นอะไรเลยที่แสดงให้เห็นว่า AEC คืออะไร ผมไปพูดหลายทีแล้ว AEC ดีมาก แต่มันไม่มีทางดีได้ถ้าแยกกันอยู่แบบนี้

ทั้งนี้ CLM2 มีความสำคัญมาก CLM กับเราสัมพันธ์กับเราใกล้ชิด รัฐบาลทำถูกต้องเรื่องพัฒนาเขตเชื่อมโยงรอบชายแดนของเรา รวมไปถึงมาเลเซียทางใต้ของเราด้วย ผมเคยทำโครงการไว้นานมาแล้ว โครงการ IMTGT คือ อินโดนิเชีย มาเลเซีย ไทย GT คือ Growth Triangle คือพยายามเอาจังหวัดภาคใต้รวมกับด้านเหนือของมาเลเซีย รวมกับเกาะของอินโดนีเชีย คือให้เป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ถ้าอาเซียนยังไปไม่ไกลมาก แต่ภูมิภาคประชาชนเดินข้ามชายแดนตลอดเวลา เปิดให้เต็มที่เลย เป็นทางออกที่จะแก้ปัญหาได้ดีมากๆ ผมทำมา 15 ปีมาแล้ว พอออกจากรัฐบาลมาก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร หรือโครงการ GMS มันเป็นโครงการเชื่อมโยงทางใต้ยูนนานกับเวียดนาม ไทย พม่า ลาว ทางด้านแม่โขง ทุกอย่างเริ่มหมดเร็วกว่า AEC ก่อน

แต่ถ้าเกิดเราไปปล่อยให้คนอื่นมากำหนดเงื่อนไขการเป็นตลาดการค้าเสรีได้โดยที่เราหรือจีนหรืออินเดียหรืออาเซียนที่เหลือไม่มีส่วนร่วม ในขณะนี้เห็นหรือไม่ว่าอาเซียน 10 ประเทศ ถามว่าใครจะไปได้ใครจะไปไม่ได้ ไทยเป็นประเทศที่น่าจะไปได้ดีที่สุด เพราะเครือข่ายของการค้าในอาเซียนเราแข็งแกร่งมาก เพราะฉะนั้น จะให้เป็น AEC ของธุรกิจใหญ่อย่างเดียวไม่ได้ เรามีมากแล้วเครือข่ายที่เป็นธุรกิจใหญ่เข้าไปในอาเซียน ผมว่าครบถ้วนหมดแล้ว รัฐบาลต้องส่งเสริมเอสเอ็มอี ต้องให้ความรู้แก่ท่านเหล่านี้มากขึ้นด้วย คิดว่าต่อไปก็น่าจะเกิดขึ้น

ท่านจะเห็นว่าอินโดนีเซียเริ่มแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน จะบอกว่าคล้ายกับไทยก็ไม่ได้ เพราะว่าเราสร้างถนนหาทางอะไรต่ออะไรมากมายไปแล้ว เขาก็จะสร้างรถไฟความเร็วสูงสักเส้นหนึ่ง อาจจะสร้างถนนใหญ่เชื่อมโยงกัน เปิดท่าเรือใหม่ๆ เขาเพิ่งเริ่มต้นทำ ประเทศอื่นอย่างฟิลิปปินส์ ดูเหมือนจะมีการขยายตัวอยู่ ดูจะดี แต่เขาโตมาจากระยะก่อนหน้าที่เขาเติบโตต่ำมาก การค้าขายยังขาดโครงสร้างพื้นฐานอยู่

เวียดนามขยายตัวดีมาก เป็นตัวอย่างที่ดีมากของไทย เพราะเวียดนามขยายตัวในลักษณะที่ถูกต้อง คือใช้เทคโนโลยีมากขึ้นตลอดเวลา แต่ถ้าไปดูเงินสำรองระหว่างประเทศ ไทยมีประมาณ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามมีไม่ถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าเรามาก การเติบโตของเวียดนามยังอีกไกลกว่าจะมาถึงจุดของไทย กว่ามาไล่เราทัน เราไปลงทุนในเวียดนามก็ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น เวียดนามดีเราก็ดีด้วย แต่ว่าจะให้ไล่ทันคงยังไม่ทัน เวียดนามพัฒนามาถูกต้องมาก คือพัฒนาเศรษฐกิจไปใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น มีคนไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เวลานี้ถอยออกมาจากการลงทุนในจีน ไปลงทุนที่เวียดนามมากกว่าไทยเท่าตัวหนึ่ง คือมาไทยด้วยแต่ไปที่อื่นมากกว่า เป็นคำถามว่าไทยจะทำอย่างไรที่จะดึงการลงทุนเข้ามาได้มากขึ้น

ถามว่า AEC จะไปได้ดีหรือไม่ ผมเรียนได้เลยครับว่า ถ้าสามารถเปิดเสรีได้ตามที่ตกลงกันไว้เต็มที่ ไทยจะได้ประโยชน์มาก แต่ขณะนี้ขึ้นอยู่กับเอกภาพของ AEC ว่าจะไปได้เต็มที่แบบนั้นหรือไม่ 4 ประเทศใน 10 ประเทศอาเซียน ไปร่วมกับ TPP แล้ว มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม สิงคโปร์ ที่เหลืออีก 6 ประเทศเป็นเมียนมา เป็นกัมพูชา เป็นลาว คงยังไม่คิดจะเข้าไปใน TPP แต่จะเหลือไทย อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์ทุกคนเชื่อว่าจะเข้าไปร่วมด้วยแน่นอน

แบบนี้จะเหลืออะไรกับ AEC เพราะเวลานี้ถ้าทุกคนเข้า TPP ก็ค้าขายกับ TPP ก็เป็นลักษณะที่ว่ามีอาเซียนอยู่ด้วยแน่นอน แต่ TPP คือการดึงศูนย์ถ่วงการค้าจากเอเชียไปทางด้านสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโอบามาพูดไปตอนต้นปี เขาจะมีแถลงการณ์ State of the Union ทุกต้นปี ประธานาธิบดีออกมาบอกว่าปีนี้จะกำหนดงบประมาณ จะมีนโยบายในด้านต่างๆ อย่างไร ปกติจะไม่ค่อยพูดเรื่องการค้าเท่าไร แต่ปีนี้พูดชัดเจน ขอร้องสภาคองเกรสให้ลงมติรับข้อตกลง TPP เพราะว่าเราจะปล่อยให้ประเทศอื่นอย่างจีนมากำหนดนโยบายการค้าหรือกฎเกณฑ์การค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่ได้ เราต้องกำหนดเอง เป็นประโยคสำคัญมาก ผมไม่ได้พูดเอง ชัดเจนมากว่าเราไปทำ TPP เพื่อกันจีน แบบนี้ไม่ใช่เหตุผลที่บอกว่าเราต้องเข้า TPP ช่วยกันป้องกันจีนหรือไม่

ตอนนี้ตลาดที่สำคัญของโลก ไม่ใช่ของไทยคนเดียว คือจีน ไม่ใช่สหรัฐฯ ด้วย แม้จะใหญ่ไม่เท่าแต่อีกไม่กี่ปีก็จะโตขึ้นมาเท่า เพราะขนาดประชาชนใหญ่เหลือเกิน ไม่ต้องบอกว่าเก่งหรือไม่เก่ง แล้วการค้าของเรากับจีนใหญ่ขึ้นทุกปีๆ แต่กับสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ลดลงๆ มันเป็นธรรมชาติ จีนขยายตัวมากกว่า อยู่ใกล้กว่า ซื้อของมากกว่า มันก็ต้องเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราเข้าร่วมกระบวนการที่ไม่กี่ประเทศเป็นใหญ่ กลายเป็นเราต้องไปกีดกันเอาไว้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ แบบนี้เราต้องคิดให้มาก ต้องระวังตัวให้ดีว่าจะทำอย่างไรต่อไป

Visitors: 396,907