ภาคปศุสัตว์จี้พาณิชย์ให้ทุกภาคส่วนแจงตัวเลขได้เสียและการกีดกันในอดีต ก่อนประเทศตกหลุม TPP ที่มีตลาดใหญ่สหรัฐล่อใจ

ภาคปศุสัตว์จี้พาณิชย์ให้ทุกภาคส่วนแจงตัวเลขได้เสียและการกีดกันในอดีต ก่อนประเทศตกหลุม TPP ที่มีตลาดใหญ่สหรัฐล่อใจ

16 กุมภาพันธ์ 2559 กระทรวงพาณิชย์ – กลุ่มเอกชนภาคปศุสัตว์ร่วมยื่นหนังสือทวงข้อเสนอให้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมแจงตัวเลขผลกระทบจากการเข้าร่วม TPP และกังวลเรื่องเกณฑ์มาตรฐานสูงทั้งการอ้างเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยสหรัฐอเมริกาและแคนาดาจะเปิดช่องสารพัดรูปแบบการกีดกันทางการค้าแฝงเพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อนการล่มสลายของวงการปศุสัตว์ไทยซึ่งจะกระทบทั้งเศรษฐกิจโดยรวมและสร้างปัญหาทางสังคมเกินกว่าที่รัฐบาลจะไม่สามารถรองรับเยียวยาได้

          ภาคปศุสัตว์ที่ร่วมยื่นหนังสือวันนี้ประกอบด้วยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและอีก 11 สมาคมปศุสัตว์และสมาคมที่เกี่ยวข้อง

ในการมายื่นหนังสือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากภาคปศุสัตว์โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วมเป็นภาคีถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 และได้เข้าประชุมร่วมของภาคเกษตรกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 โดยผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้เสนอในที่ประชุมให้ทุกภาคส่วนทำประเมินผลเสียหาย เพื่อนำมาร่วมพิจารณา แต่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมิได้ดำเนินการในเรื่องนี้หลังการประชุมแต่ประการใด ทั้งๆที่เรื่องการตัดสินใจในครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ ภาคปศุสัตว์ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบด้านในเรื่องการตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่ เพราะภาคปศุสัตว์และเกษตรอาหารสัตว์มีภาพของการล่มสลายชัดเจนจากการประเมินเบื้องต้นที่ได้นำเสนอไปแล้ว โดยภาคปศุสัตว์พร้อมนำเสนอตัวเลขต่อทุกภาคส่วน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมทั่วไปคาดว่าจะได้เพียงภาษีที่คาดว่าจะลดลงเป็นศูนย์ทันทีเท่านั้น ในขณะที่ข้อกังวลเรื่องห่วงโซ่การผลิตในกลุ่มอาเซียนจะไม่เกิดขึ้นเพราะทุกประเทศในอาเซียนต่างเป็นสมาชิกของ AFTA อย่างไรก็ตามถ้าทุกภาคส่วนทำการประเมินผลได้ผลเสียออกมาให้ชัดเจน จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ของประเทศ

เพื่อให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่เข้าให้ข้อมูล และให้การตัดสินใจครั้งนี้มีความรัดกุมที่สุด ภาคปศุสัตว์จึงร่วมยื่น 4 ข้อเสนอเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ประสานงานและดำเนินการเร่งด่วน ประกอบด้วย

  1. ให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียดำเนินการทำตัวเลขประมาณการความเสียหายและผลได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP โดยให้กระทรวงพาณิชย์จัดเตรียมรูปแบบในการจัดทำเพื่อให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันเพื่อที่จะง่ายต่อการทำความเข้าใจและตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขและสมมติฐานในการจัดทำ

  2. ให้ทุกภาคส่วนรายงานตัวเลขที่ไม่สามารถสร้างการค้าได้ จากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ลงนามไปแล้ว พร้อมแจงเหตุผลพร้อมระบุข้อกีดกันทางการค้าที่ประสบจากประเทศที่ได้ร่วมทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไปแล้ว

  3. ให้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยทำตัวเลขสะสม ตั้งแต่ดำเนินการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันแยกเป็นรายข้อตกลง รายอุตสาหกรรมประกอบเหตุผลของการไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือถูกการกีดกันทางการค้า พร้อมทั้งแนวนโยบายในการแก้ปัญหาที่เกิดพร้อมแนวทางปฏิบัติ และกรอบเวลาในการแก้ปัญหาจนประสบผลสำเร็จ

  4. ข้อเสนออื่นๆ จากทุกภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำมาเป็นข้อนำเสนอในการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP หรือไม่ ซึ่งจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการมีส่วนร่วมมากขึ้นในการนำพาประเทศชาติเดินไปข้างหน้าร่วมกันทั้งจากภาครัฐและเอกชน

นายสุรชัย สุทธิธรรมนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้กล่าวว่า “ภาคปศุสัตว์และที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนหันหน้ามาหากัน เพื่อร่วมประเมินผลกระทบในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจโดยมองผลกระทบให้รอบด้านอย่างมีส่วนร่วม เพราะผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรนับล้านคนและการไม่รักษาความมั่นคงทางอาหารจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศในอนาคต ตัวอย่างเช่น การรักษาความมั่นคงทางอาหารทะเลที่สหภาพยุโรปออกกฎ IUU รัฐบาลไทยยังต้องออกกฎหมายมาบังคับใช้เลย ดังนั้น เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศในด้านความมั่นคงทางอาหารของชาติจึงต้องยิ่งรอบคอบ ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างปกป้องผลได้จนไม่ให้ความห่วงใยเพื่อนร่วมชาติ ภาคปศุสัตว์ได้ทำการศึกษาและติดตามผลกระทบ RTA (Regional Trade Agreement) ในลักษณะเดียวกับ TPP เช่น NAFTA ที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้เปรียบเม็กซิโกอย่างชัดเจน ทำให้หลัง 20 ปี ของ NAFTA ชนชั้นล่างของเม็กซิโกที่เคยทำการเกษตรทำได้เพียงขายแรงงาน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ให้น้ำหนักการเดินหน้าเศรษฐกิจในกลุ่มสินค้าเกษตรและปศุสัตว์มากขึ้น จึงเดินหน้า TPP และเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์มากมาย”

“ขอย้ำว่าภาคปศุสัตว์หนุนรัฐบาลเต็มที่ให้เดินหน้าตามกรอบ ASEAN+6 หรือ RCEP ที่เป็นทางเลือกที่ไม่ก่อภัยอันตรายต่อทุกภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ชัดแจ้งใดๆ เลย เพราะแต่ละประเทศสมาชิกมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่ต่างกันมากนัก อยากให้ทุกภาคอุตสาหกรรมมองผลกระทบในภาพรวม เพราะเมื่ออุตสาหกรรมใดๆ ล้มหายตายจาก มันจะกระทบภาพเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศเช่นกัน” นายสุรชัยกล่าวสรุปทิ้งท้าย

Visitors: 397,158