สงครามเชื้อดื้อยา จุดประกาย “หมูเสรี”

สงครามเชื้อดื้อยา จุดประกาย “หมูเสรี”

26 มกราคม 2559 เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ผู้ค้นพบยาต้านแบคทีเรีย เพนนิซิลิน เคยเตือนไว้ตั้งแต่รับรางวัลโนเบลเมื่อ 70 ปีก่อนถึงพิษภัยของ...“เชื้อแบคทีเรียดื้อยา”

ภัยคุกคามต่อสุขภาพ ชีวิตมนุษย์!

ปัจจุบันปัญหาเชื้อดื้อยาไปไกลกว่าที่เฟลมมิ่งคาดการณ์ไว้มาก ไกลจนถึงระดับว่ามนุษย์กำลังจะพ่ายแพ้ในสงครามกับเชื้อแบคทีเรีย

จุดวิกฤติของเรื่องนี้อยู่ที่การลุกลามของปัญหาที่ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะในรั้วโรงพยาบาลหรือการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือย พร่ำเพรื่อ และเกินความจำเป็นอีกต่อไป แต่ขยายวงเข้าประชิดประชาชนในฐานะผู้บริโภคมากขึ้นทุกขณะ

“ยาต้านแบคทีเรีย...ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) บอกว่า วันนี้การใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกำลังเพิ่มมากขึ้นในห่วงโซ่การจัดหาอาหาร ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงมากขึ้น

งานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่มีเชื้อดื้อยาอยู่ในร่างกายทั้งที่ไม่ได้มีการใช้ยา จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากแหล่งอื่น

“ตอนนั้นความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ยาต้านแบคทีเรียในวงจรอาหารยังไม่มาก แต่ในที่สุดก็มีงานวิจัยอื่นๆตามมาและพบว่ามีการใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียในวงจรอาหาร เช่น ไก่ กุ้ง ปลา หมู วัว ตอนนี้ยังมีการใช้ในพืชผัก สวนผลไม้บางอย่าง”

ข้อมูลจากงานวิจัยเชื้อดื้อยาในผลิตภัณฑ์สุกรชิ้นหนึ่งพบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในตลาดสดและตลาดทันสมัยสูง กว่าในโรงเชือด โดยปริมาณการปนเปื้อน E.coli และ K.pneumoniae ในเนื้อหมู...ในตลาดสดสูงกว่าตลาดทันสมัย

ขณะที่ปริมาณการปนเปื้อน Salmonella spp. กลับพบในตลาดทันสมัยมากกว่าในตลาดสด ทั้งยังพบด้วยว่า จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากเชื้อ Salmonella spp. จากการบริโภคเนื้อหมูทั้งในตลาดสดและตลาดทันสมัย มีอัตราเสียชีวิตที่น้อยกว่า 8 คน...ต่อแสนคน...ต่อปี

น่าสนใจว่าเมื่อย้อนกลับไปดูกระบวนการเลี้ยงสัตว์อย่าง “หมู” หรือ “ไก่” แบบอุตสาหกรรมจะไม่แปลกใจว่าเหตุใดจึงพบการปนเปื้อน เพราะความต้องการเร่งให้สัตว์โตไว ระบบการผลิตจึงต้องคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับการถูกเร่ง ซึ่งต้องใช้ทั้งยา วิตามิน และสารเคมีเพื่อเร่งโต

“ความอ่อนแอขี้โรคของสัตว์เป็นผลพวงที่เลี่ยงไม่ได้จากวิธีการนี้ คือเหตุผลที่ทำให้ต้องใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียเพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในโรงเลี้ยงแบบปิด”

“ยา” และ “วิตามิน” จะถูกให้ผ่านน้ำและอาหารที่ผสมมาเสร็จสรรพจากทางบริษัท ปัญหาสำคัญมีว่า...ตัวเกษตรกรจะไม่รู้เลยว่ามียาอะไรผสมอยู่ในอาหาร

คำถามชวนอยากรู้...เลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม ให้ยาเร่งโตจะตกค้างในสิ่งแวดล้อมไหม?

โชคสกุล มหาค้ารุ่ง กลุ่มหมูทางเลือกเสรีปลอดภัย เชียงใหม่ อดีตเกษตรกรในระบบพันธสัญญาที่ต้องสูญเสียที่ดินและเงิน 20 ล้านบาทจากการเลี้ยงหมูในระบบนี้ เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า การผลิตในระบบพันธสัญญาเป็นระบบที่ใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น พันธุ์ที่เลี้ยงต้องตอบสนองต่อยา ต่ออาหารของบริษัท

“ถ้าตัวเกษตรกรไม่ใช้ของบริษัท สัตว์ที่เลี้ยงก็จะไม่โต”

โชคสกุล ย้ำว่า ใช้ยามากแค่ไหน ก็ตั้งแต่น้ำที่ให้หมูเขาก็ผสมคลอรีน ผสมยาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นยาอะไร แต่เราเห็นว่ามันเป็นยาและรุนแรงด้วย

“ถ้าช่วงไหนเราหยุดใช้ หมูจะมีอาการป่วย บางที...ตายครึ่งเล้าแล้วเราก็ไม่รู้ต้นทุนยาที่แท้จริง เพราะเขาจะคิดตอนที่เขาชั่งน้ำหนักหมูรับซื้อ แล้วก็หักกลบลบหนี้กัน”

เมื่อเป็นเช่นนั้น...การบริโภคเนื้อหมูหรือไก่ที่ได้รับการให้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียมากๆ จึงสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะในเด็กพบว่า หากได้รับยาต้านเชื้อแบคทีเรียตั้งแต่เล็กๆ จะทำให้เด็กมีโอกาสเป็นภูมิแพ้และอ้วน

ปัญหาใหญ่อีกจุดหนึ่งอยู่ตรงที่ “ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย” ไม่ได้จบลงแค่ในวงจรการผลิตอาหารเท่านั้น แต่ยังตกค้าง...ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำในบ่อเลี้ยงปลาหรือน้ำจากการทำความสะอาดเล้าหมูหรือไก่ เมื่อถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำจะทำให้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียตกค้างอยู่ในดินและน้ำ

รวมทั้งการใช้ยาต้านแบคทีเรียในการเลี้ยงปลา (ในแม่น้ำ) และกุ้ง...ในบ่อ ที่มีการปล่อยน้ำทิ้งออกไป จะยิ่งเพิ่มความสาหัสของปัญหาเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อม

ในฐานะผู้บริโภคดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีทางเลือกในการบริโภคอาหารสักเท่าไหร่ ข้อมูลที่พอจะรู้ๆกัน การผลิตเนื้อสัตว์และพืชผักผลไม้ทุกวันนี้ล้วนให้ยาต้านแบคทีเรียกันขนานใหญ่ อย่างไรก็ตาม...ในจังหวัดเชียงใหม่ ยังมีเกษตรกรและเครือข่ายคนทำงานด้านอาหารกลุ่มเล็กๆที่พยายามสร้างทางเลือกในการบริโภค และยังมีที่จังหวัดอื่นๆ เช่น น่าน มหาสารคาม นครปฐม

โชคสกุล ยืนยันจุดยืนว่าเขาคือหนึ่งในนั้น เพราะหลังจากแทบสิ้นเนื้อประดาตัวจากระบบเกษตรพันธสัญญาในปี 2556 ก็เริ่มเบนเข็มชีวิตหันมาเลี้ยงหมูอีกครั้งบนหนทางที่แตกต่างจากเดิม

เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกหมูจากสายพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งมีภูมิต้านทานโรค ไม่เลี้ยงในกรงปิดทำให้หมูไม่มีความเครียด ที่สำคัญจะไม่ใช้...ยา ฮอร์โมน สารเคมีใดๆทั้งสิ้น

“ผู้บริโภคที่ซื้อหมูของเราไปกิน บอกว่ามันไม่เหมือนหมูในท้อง ตลาด เพราะไม่เหม็นคาว เก็บไว้ได้นาน นี่คือข้อแตกต่างของหมูที่เรากำลังทำและจุดประกายให้แก่สังคมเห็นว่า ทั้งตัวเกษตรกร...ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกอาหารที่ไม่มียาต้านฯ เราถึงเรียกหมูของเราว่าหมูเสรี”

แม้ว่าหมูเสรีจะมีต้นทุนการผลิตสูง เพราะกำลังการผลิตยังน้อย แต่เชื่อว่าในอนาคตหากผู้บริโภคตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น เกษตรกรรวมกลุ่มกันเหนียวแน่น ต้นทุนการผลิตก็จะลดลง

อีกด้านหนึ่ง “กลุ่มเขียว สวย หอม” ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวในเมืองเชียงใหม่ ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา ลงลึกเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำงานร่วมกับ กพย. รณรงค์ปลูกฝังวิถีธรรมชาติ...ปลูกผักกินเอง เพื่อสุขภาพ ห่างไกลเชื้อดื้อยา...พร้อมสอดแทรกความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาลงไปด้วย

นี่คือพลังเล็กๆจากงานชุมนุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่จะสู้กับปัญหาเชื้อดื้อยาที่หนักหน่วงขึ้นทุกขณะได้ยั่งยืนเพียงใด ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะสร้างทางเลือกของตนเองหรือไม่

“ปัญหาเชื้อดื้อยา” เป็นเรื่องใหญ่ที่ไปไกลมาก แต่ใกล้ตัวคนไทยมากขึ้นชนิดเผาขน เป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีมติให้ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการโครงสร้างระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ยั่งยืน

http://www.thairath.co.th/content/567611 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ 26 มกราคม 2559

Visitors: 398,170