กฎหมายการแข่งขันทางการค้ากับการค้าที่เป็นธรรม

กฎหมายการแข่งขันทางการค้ากับการค้าที่เป็นธรรม

รวบรวมเรียบเรียงโดย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ


ถ้าจะกล่าวถึงกฎหมายป้องกันการผูกขาดในบ้านเรา หลายคนอาจสงสัยว่าเราใช้กฎหมายฉบับไหนบังคับใช้ เพราะคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลแทบไม่ปรากฏในหน้า 1 หรือหน้าจอทีวีในบ้านเราเลย ทั้งๆ ที่มีเรื่องร้องเรียนกันมากมายแล้ว  ในขณะที่วงการอุตสาหกรรมเกษตรในบ้านเราที่รายใหญ่มีการขยายธุรกิจออกไปเรื่อยๆ จนเรียกกันเป็นธุรกิจการเกษตรครบวงจร ซึ่งขยายตัวลุกลามไปถึงการมีร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีกกันมาอย่างยาวนาน

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่เป็นกฎหมายป้องกันการผูกขาดของไทย ที่มีก่อนประเทศใดในอาเซียน มาจนถึงขณะนี้ บวก ลบ คูณ หารได้กว่า 15 ปี แต่ยังไม่มีธุรกิจใดที่ถูกดำเนินคดีว่าด้วยการทำ “การค้าที่ไม่เป็นธรรม” ได้แม้แต่รายเดียว ถึงแม้จะมีคดีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2542-2558 ถึง 96 เรื่อง เรื่องเด่นๆ ก็เช่น

  • กรณีการผกขาดธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกของ UBC (ปัจจุบันคือ TRUE Vision)
  • กรณีการบังคับขายพ่วงสินค้า (Tied-Sale) สุราขาวกับเบียร์ช้าง
  • กรณีพฤติกรรมการค้าทีไม่เป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่
  • แต่เรื่องราวมีหลายขั้นตอนกว่าจะฟ้องร้องกันได้ กว่าเรื่องไปถึงอัยการพิจารณาว่าจะตีกลับหรือไม่ จะส่งฟ้องหรือไม่ส่งฟ้อง มันมีขั้นตอนเยอะเกินไป ตลอดเวลาที่ผ่านมา 15 ปี ยังไม่มีคดีที่ส่งฟ้องศาล ใกล้เคียงสุดคือกรณีของบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ที่ตีกลับไปกลับมา แต่สุดท้ายอัยการก็สั่งไม่ฟ้องในปี 2556 ซึ่งก็แก้ไขอะไรไม่ได้เพราะหมดอายุความ 10 ปีไปซะก่อน

          กรณี บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดฉากการฟ้องร้องมาตั้งแต่ปี 2546 เป็นคดีแรกหลังจาก พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้ามีผลบังคับใช้

โดยมีผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด, บริษัท ไทยยามาฮามอเตอร์ จำกัด และบริษัท คาวาซากิ มอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์จำกัด เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ในข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าใช้อำนาจตลาดบังคับให้ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้ออื่นหันมาจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าของตัวเองเพียงยี่ห้อเดียว เป็นการ "จำกัด" การประกอบธุรกิจ มีผลให้ช่องทางการจำหน่าย ยอดขายของคู่แข่งขันลดลง อันเป็นความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าที่ระบุไว้ว่า

"ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจ กระทำการใด ๆ อันมิใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลเป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย ขัดขวาง กีดกัน หรือจำกัดการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจอื่นหรือเพื่อมิให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือต้องล้มเลิกการประกอบธุรกิจ" ซึ่งมีบทลงโทษระบุไว้ตามมาตรา 51 "ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่กระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ"

โดยความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอยู่ในวังวนของระบบ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” การผูกขาดและใช้อิทธิพลทางการค้า เอารัดเอาเปรียบรายย่อย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคและสังคมต้องรับสภาพไปตามระเบียบ

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย เว้นแต่ในส่วนที่เป็นกิจการในทางการเงินให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการร่วมกัน ออกมาในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และมี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็น รมว.พาณิชย์ มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ใช้ความมีอำนาจเหนือตลาดก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมต่อกิจการขนาดย่อม หรือเกี่ยวพันกับธุรกิจโดยทั่วไป

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ประกอบด้วย 7 หมวด ดังนี้

          หมวดที่ 1 คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (มาตรา 6 ถึง 17)

          หมวดที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (มาตรา 18 ถึง 24)

          หมวดที่ 3 การป้องกันการผูกขาด (มาตรา 25 ถึง 34)

          หมวดที่ 4 การขออนุญาตและการพิจารณาอนุญาต (มาตรา 35 ถึง 39)

          หมวดที่ 5 การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย (มาตรา 40 ถึง 41)

          หมวดที่ 6 การอุทธรณ์ (มาตรา 42 ถึง 47)

          หมวดที่ 7 บทกำหนดโทษ (มาตรา 48 ถึง 56)

มีมาตราหลักๆ ที่กำหนดการละเมิดกฎหมายนี้ไว้ที่ หมวด  3 การป้องกันการผูกขาด ดังนี้

มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

 (1) กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม

 (2) กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรม

ให้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของตนต้องจํากัดการบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจําหน่ายสินค้า หรือ ต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น

(3) ระงับ ลด หรือจํากัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนําเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทําลายหรือทําให้เสียหายซึ่งสินค้าเพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด

 (4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการรวมธุรกิจ อันอาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือ ความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ตามที่คณะกรรมการประกาศกาหนดในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

การประกาศกําหนดของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้ระบุว่าให้บังคับแก่การรวมธุรกิจที่มีผลให้มี ส่วนแบ่งตลาด ยอดเงินขาย จํานวนทุน จํานวนหุ้น หรือจํานวนสินทรัพย์ไม่น้อยกว่าจํานวนเท่าใด

การรวมธุรกิจตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง

 (1) การที่ผู้ผลิตรวมกับผู้ผลิต ผู้จําหน่ายรวมกับผู้จําหน่าย ผู้ผลิตรวมกับผู้จําหน่าย หรือ ผู้บริการรวมกับผู้บริการ อันจะมีผลให้สถานะของธุรกิจหนึ่งคงอยู้และธุรกิจหนึ่งสิ้นสุดลงหรือเกิดเป็นธุรกิจใหม่ขึ้น

 (2) การเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่นเพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจ การอํานวยการ หรือการจัดการ

 (3) การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่นเพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจ การอํานวยการ หรือการจัดการ

การขออนุญาตตามวรรคหนึ่งให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นคำขอต่อคณะกรรมการตามมาตรา 35

มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทําการใดๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่ง

ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

 (1) กําหนดราคาขายสินค้าหรือบริการเป็นราคาเดียวกัน หรือตามที่ตกลงกัน หรือจํากัดปริมาณการขายสินค้าหรือบริการ

 (2) กําหนดราคาซื้อสินค้าหรือบริการเป็นราคาเดียวกัน หรือตามที่ตกลงกัน หรือจํากัดปริมาณ

การรับซื้อสินค้าหรือบริการ

 (3) ทําความตกลงร่วมกันเพื่อเข้าครอบครองตลาดหรือควบคุมตลาด

 (4) กําหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในลักษณะสมรู้กัน เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งได้รับการประมูลหรือ

ประกวดราคาสินค้าหรือบริการ หรือเพิ่มมิให้ฝ่ายหนึ่งเข้าแข่งขันราคาในการประมูลหรือประกวดราคาสินค้าหรือบริการ

 (5) กำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจําหน่ายหรือลดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการได้ในท้องที่นั้น หรือกําหนดลูกค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจําหน่ายสินค้าหรือบริการให้ได้

โดยผู้ประกอบธุรกิจอื่นจะไม่จําหน่ายสินค้าหรือบริการนั้นแข่งขัน

 (6) กําหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะซื้อสินค้าหรือบริการได้ หรือกําหนดตัวผู้ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะซื้อสินค้าหรือบริการได้

 (7) กำหนดปริมาณของสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะผลิต  ซื้อ จําหน่าย หรือบริการ เพื่อจำกัดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด

 (8) ลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการให้ต่ำลงกว่าที่เคยผลิต จำหน่าย หรือให้บริการ โดยจำหน่ายในราคาเดิมหรือสูงขึ้น

 (9) แต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลใดแต่ผู้เดียวเป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการอย่างเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน

 (10) กําหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อหรือการจําหน่ายสินค้าหรือการบริการเพื่อให้ปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันหรือตามที่ตกลงกัน

ในกรณีที่มีความจำเป็นทางธุรกิจที่ต้องกระทำการตาม  (5) (6) (7) (8) (9) หรือ (10)

ในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการตามมาตรา 35

มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะเป็นโดยทางสัญญา นโยบาย ความเป็นหุ้นส่วน การถือหุ้น หรือมีความสัมพันธ์ในลักษณะอื่นใดทำนองเดียวกัน ดําเนินการใดๆ เพื่อให้บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ที่ประสงค์จะซื้อ สินค้าหรือบริการมาใช้เอง ต้องถูกจํากัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรโดยตรง

มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทําการใดๆ อันมิใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและมี ผลเป็นการทำลายทำให้เสียหายขัดขวาง  กีดขวาง  หรือจํากัดการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจอื่น หรือเพื่อมิให้ผู้อื่นประกอบธุรกิจ หรือต้องล้มเลิกการประกอบธุรกิจ

จากการดูกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หรือ กฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust Laws) ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เม็กซิโก และเยอรมัน พบว่าพฤติกรรมที่เป็นการจำกัดหรือกีดกันการแข่งขันทางการค้าในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศต่างๆ อาจแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

  1. การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuse of Dominance)
  2. การควบรวมธุรกิจ (Merger)
  3. การตกลงร่วมกันเพื่อลดการแข่งขัน (Collusive Practice)
  4. การกระทำที่เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practice) และ
  5. พฤติกรรมอื่นๆ ที่มีบทบัญญัติเฉพาะแยกออกไป เช่น บทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการกำหนดราคาขายปลีก (เกาหลีใต้ เยอรมัน แคนาดา) การใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (เยอรมัน) การสมคบกันในการประมูล (แคนาดา) เป็นต้น

กรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust Laws) ที่เก่าแก่มากที่สุดในโลก โดยบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดมายาวนานแล้วถึง 132 ปี ซึ่งถือเป็นต้นแบบ และมีอิทธิพลต่อการออกกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐไต้หวัน และประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น ทั้งนี้ กฎหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นจากในระดับมลรัฐ (State-level) ซึ่งรัฐอลาบามาเป็นรัฐแรกที่มีกฎหมายป้องกันการผูกขาดในปี 1883 กฎหมายป้องกันการผูกขาดที่รัฐต่างๆ บัญญัติขึ้นด้วยตนเองนั้น จะมีขอบเขตการบังคับใช้เฉพาะการกระทำที่มีผลกระทบต่อการค้าภายในรัฐเท่านั้น (Intrastate) ส่วนในระดับสหพันธรัฐ (Federal-level) รัฐสภาได้ออกกฎหมายป้องกันการผูกขาดฉบับแรก คือ Sherman Act ในปี 1890 ซึ่งมีขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายกับการกระทำที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อการค้าระหว่างรัฐ (Interstate) หรือการกระทำนอกสหรัฐฯ อันมีผลกระทบต่อการค้าของสหรัฐฯ หรือโอกาสในการส่งออกของผู้ส่งออกสหรัฐฯ นอกจากนี้ กฎหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศสหรัฐอเมริกา ยังเป็นต้นแบบของระบบกฎหมายลักษณะควบคุมโครงสร้าง (Structural Control) โดยมีการควบคุมที่เข้มงวด มิให้มีการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจ เพื่อลดอำนาจและขนาดของผู้ประกอบธุรกิจที่ผูกขาด มิให้สามารถใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ และไม่อาจทำการผูกขาดต่อไปได้

          ในฐานะที่ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเพียง 16 ปี เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ที่มีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้ามากว่า 130 ปี ประเทศสหรัฐฯ จึงถือเป็นแหล่งความรู้ด้านการแข่งขันทางการค้าที่ดี ดังนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลโดยสังเขปในเรื่องเกี่ยวกับ ที่มาของกฎหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศสหรัฐอเมริกา สาระสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ องค์กรบังคับใช้กฎหมายและพฤติกรรมที่กำกับดูแล ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม Study Visit ที่คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission : FTC) และกระทรวงยุติธรรม (Department of Justice: DOJ) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 7-18 พฤศจิกายน 2548 อันเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Capacity Building for Effective Implementation of the Competition Act ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ

ที่มาของกฎหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศสหรัฐอเมริกา (Antitrust Laws)

ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 รัฐบาลให้อำนาจการผูกขาดในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมรางรถไฟ เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับสิทธิ์ การผูกขาดจากรัฐบาล ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นทำการผูกขาด หรือรวมตัวกันในรูปแบบของ Trust เป็นศูนย์รวมอำนาจการบริหารและการจัดการธุรกิจ หรือ ลักษณะอื่นๆ ที่เป็นการจำกัดการค้าและการพาณิชย์ การรวมกันของธุรกิจในลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดการลดการแข่งขันในตลาด และการใช้กลยุทธ์เบียดเบียนคู่แข่งทางการค้า ทำให้สินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคมีราคาสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อป้องกันหรือทำลาย Trusts มิให้จำกัด หรือลดการแข่งขันในตลาด รัฐสภาสหรัฐฯ (Congress) จึงได้ออกกฎหมาย Sherman Act ในปี 1890 ซึ่งตั้งตามชื่อของ Mr. John Sherman สมาชิกวุฒิสภา ผู้ยกร่างกฎหมาย ทั้งนี้ Sherman Act มีวัตถุประสงค์เพื่อคงไว้ซึ่งเศรษฐกิจเสรีและขจัดพฤติกรรม การจำกัดทางการค้าและจำกัดการแข่งขัน Sherman Act ถือว่าเป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของกฎหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้ Sherman Act ไม่สามารถบังคับใช้ได้เท่าที่ควร ด้วยปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ 1) บทบัญญัติใน Sherman Act ค่อนข้างกว้าง 2) ลักษณะกฎหมายของประเทศสหรัฐฯ เป็นกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ใช้คำตัดสินของศาลเป็นบรรทัดฐาน ในการพิจารณา ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีแนวทางในการตัดสินคดีประเภทนี้มาก่อน จึงทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ Sherman Act 3) หน่วยงานที่รับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมาย Sherman Act ซึ่งในขณะนั้นได้แก่ กระทรวงยุติธรรม (Department of Justice) ไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและด้านกำลังคนอย่างเพียงพอ จึงไม่สามารถติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างทั่วถึง และ 4) เกิดช่องว่างทางกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้กับรูปแบบของการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ได้ เช่น Holding Company เป็นต้น

ดังนั้น ในปี 1914 รัฐบาลกลางได้ตรากฎหมายออกมา 2 ฉบับ คือกฎหมาย Clayton Act ซึ่งตั้งตามชื่อของผู้ยกร่างกฎหมาย คือ Mr. Henry De Lamar Clayton เพื่อเสริม Sherman Act ให้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการควบรวมธุรกิจ (Merger & Acquisition) และกฎหมาย Federal Trade Commission Act (FTC Act) เพื่อให้เกิดหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการป้องกันการผูกขาด เนื่องจากมีพฤติกรรมทางการค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐขึ้น (Fair Trade Commission) เพื่อร่วมกับกระทรวงยุติธรรมบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด และรัฐบาลกลางยังได้บัญญัติกฎหมายออกมาใหม่อีกหลายฉบับ เพื่อเสริมการบังคับใช้ของ Sherman Act ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น Robinson-Patman Act ในปี 1936 (เสริมเรื่องการเลือกปฏิบัติด้านราคา) , Hart-Scott-Rodino Act ในปี 1976 (เสริมเรื่องการแจ้งก่อนการรวมธุรกิจ) เป็นต้น

กฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐฯ กับพฤติกรรมจำกัดการแข่งขันในลักษณะต่างๆ

ในประเทศสหรัฐฯ มีการกำกับดูแลพฤติกรรมทางการค้าที่ส่งผลจำกัดการแข่งขันทางการค้า ในลักษณะสำคัญๆ จำนวน 3 ลักษณะพฤติกรรมดังนี้

1. การตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ (Agreements) มีทั้งในระดับแนวนอนและแนวดิ่ง ทั้งสองระดับมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน แต่จะส่งผลกระทบแตกต่างกันและมีการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการตกลงร่วมกันในแนวนอน เรียกว่า Cartel Agreement ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่มีผลเสียและห้ามกระทำโดยเด็ดขาด ใช้หลักที่เรียกว่า Per se illegal ถ้าทำจะถือว่าผิดกฎหมายทันทีโดยไม่ต้องพิสูจน์ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการแข่งขัน และมีโทษทางอาญา ส่วนการตกลงกันในแนวดิ่ง ใช้หลักที่เรียกว่า Rule of Reason จะต้องมีการพิสูจน์ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการแข่งขัน โดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้รับกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณชน (the public benefits vs. the public costs) ทั้งนี้การลงโทษ ศาลจะออกคำสั่งให้แก้ไขหรือระงับการตกลงกันดังกล่าว โดยไม่มีโทษทางอาญา

กฎหมายที่กำกับดูแลพฤติกรรมการตกลงร่วมกัน คือ Sherman Act ในมาตรา 1 ซึ่งบัญญัติการห้ามการทำสัญญา หรือการรวมกัน หรือตกลงร่วมกันที่มีผลจำกัดการค้า หรือการพาณิชย์ระหว่างรัฐ หรือกับต่างประเทศ (Agreements in restraint of trade)

2. การผูกขาด หรือใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Monopolization or Abuse of Dominance) การผูกขาดที่ถือว่าผิดกฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐฯ ต้องประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ คือ ผู้ประกอบธุรกิจครอบครองอำนาจการผูกขาด และมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมหรือต่อต้านการแข่งขัน เพื่อปกป้องหรือคงไว้ซึ่งอำนาจการผูกขาดของตนเอง ทั้งนี้ ในยุโรปจะใช้คำว่า ผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยการพิจารณาการใช้อำนาจเหนือตลาด ประกอบด้วย 1) ผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดและ 2) ผู้ประกอบธุรกิจนั้นใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ กฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐฯ มิได้ลงโทษผู้ผูกขาด เว้นแต่จะแสวงหาประโยชน์จากการมีอำนาจผูกขาด นอกจากนี้ ผู้ผูกขาดยังสามารถตั้งราคาผูกขาดได้ (charge monopoly price) ตราบเท่าที่ไม่มีพฤติกรรมที่ต่อต้านการแข่งขัน

กฏหมายที่กำกับดูแลพฤติกรรมการผูกขาด คือ Sherman Act ในมาตรา 2 ซึ่งบัญญัติการห้ามทำการผูกขาด หรือพยายามที่จะทำการผูกขาด หรือรวมกัน หรือสมคบกับบุคคลอื่นๆ เพื่อผูกขาดทางการค้า หรือการพาณิชย์ระหว่างรัฐ หรือกับต่างชาติ ด้วยวิธีการที่ต่อต้านการแข่งขัน (Monopolization and attempted monopolization)

3. การรวมธุรกิจ หรือการรวมตัวกันของผู้ประกอบธุรกิจ (Mergers or Combinations of Enterprises) องค์กรบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับ การรวมธุรกิจในแนวนอน (Horizontal Mergers) ซึ่งเป็นการรวมระหว่างคู่แข่งขันในตลาดสินค้าเดียวกันและตลาดในพื้นที่เดียวกัน เนื่องจากการรวมธุรกิจในลักษณะนี้ เป็นการเพิ่มการกระจุกตัวในตลาด โดยลดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจในตลาดส่งผลให้การแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดการตกลงร่วมกันระหว่างคู่แข่งขันได้ง่ายขึ้น การรวมธุรกิจอาจไม่ถูกคัดค้าน ถ้าหากการรวมธุรกิจนั้น มีผลประโยชน์ต่อสาธารณชนมากกว่าผลเสียต่อสาธารณชน หรืออาจให้รวมได้โดยกำหนดเงื่อนไข เพื่อมิให้การรวมธุรกิจนั้นกระทบต่อการแข่งขันในตลาด

กฏหมายที่กำกับดูแลพฤติกรรมการรวมธุรกิจ คือ Clayton Act ในมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติการห้ามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้า หรือกิจกรรมใดๆ ที่กระทบต่อการค้า ได้มาซึ่งหุ้นหรือทรัพย์สิน โดยทางตรงหรือทางอ้อม ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้าหรือกิจกรรมที่กระทบต่อการค้าที่มีผลลดการแข่งขันอย่างมาก หรือมีแนวโน้มที่จะผูกขาด (Mergers and Acquisitions) และมาตรา 8 ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามเป็นกรรมการร่วมในคณะกรรมการของ 2 บริษัทขึ้นไปที่เป็นคู่แข่งของบริษัทตน ซึ่งเป็นผลให้ลดการแข่งขัน (Interlocking Directorates) และเกี่ยวข้องกับกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือ The Hart-Scott-Rodino Act 1976 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องการจะรวมธุรกิจที่มียอดขาย หรือทรัพย์สินตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดต้องแจ้งให้ FTC และ DOJ ทราบและต้องรอจนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ที่เรียกว่า Waiting Period โดยมีระยะเวลา 30 วัน ถ้าไม่มีการคัดค้านภายใน 30 วันก็สามารถดำเนินการรวมธุรกิจได้ (Pre-merger notification)

พฤติกรรมจำกัดการแข่งขันเกิดขึ้นในทุกประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้าไปกำกับดูแลโดยการออกนโยบายและกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อคุ้มครองกระบวนการแข่งขันและสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งจะเกิดประโยชน์อีกหลายประการ อาทิเช่น เพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และประโยชน์ต่อผู้บริโภค เป็นต้น

 

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ที่ http://otcc.dit.go.th/wp-content/uploads/2015/02/full.pdf

Visitors: 396,620