เครื่องมือเปิดตลาดการค้าของบรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดให้ดี

เครื่องมือเปิดตลาดการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่สมาชิก AEC เข้าไปแล้ว คือ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม 

โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

 

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา 12 ประเทศสมาชิก Trans-Pacific Partnership (TPP) ก็ได้บรรลุข้อตกลงหลังจากมีความพยายามเจรจาตลอด 5 ปี โดย 12 ประเทศดังกล่าวมีอยู่ 2 ฝากมหาสมุทรแปซิฟิก อันประกอบด้วย ฝั่งแปซิฟิกตะวันออก 5 ประเทศคือ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เปรู ชิลี กับอีก 7 ประเทศอยู่ฝั่งเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย 4 ประเทศอาเซียนคือ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม กับอีก 3 ประเทศคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยทั้ง 12 ประเทศล้วนเป็นสมาชิกของ APEC ซึ่งมีจำนวน 21 ประเทศ

 

TPP กำเนิดจากแนวความคิดของนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์คือ นาย โก๊ะ จ๊กตง ร่วมกับผู้นำของชิลีและนิวซีแลนด์ โดยในการประชุม APEC ปี 2002 ที่เม็กซิโก ผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้มีการแยกตัวออกมาประชุมเพื่อจัดตั้ง TPP ในลักษณะของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในลักษณะเป็นเขตการค้าเสรี หลังจากนั้นเมื่อปี 2005 บรูไนก็เข้าร่วมเป็นประเทศที่ 4 และในปี 2008 เป็นต้นมาก็มีการขยายวงโดยมีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 8 ประเทศ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 12 ประเทศ โดยเฉพาะแรงผลักดันของประธานาธิบดีโอบามาก็มีการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปตกลงกันได้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ข้อตกลงของ TPP ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะต้องผ่านขั้นตอนในการให้สัตยาบันของรัฐสภาในประเทศสมาชิกซึ่งต้องใช้เวลาอีก 6 เดือนถึง 1 ปี ทั้งนี้ข้อตกลง TPP มีลักษณะเป็นมากกว่าเขตการค้าเสรี เนื่องจากครอบคลุมหลายมิติ ตั้งแต่การส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้า บริการ การลงทุน การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน ตลอดจนการปกป้องสิทธิทางปัญญา อีกทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขในการลงโทษประเทศที่ฝ่าฟืน

 

TPP จึงถูกมองว่า เป็นข้อตกลงของศตวรรษที่ 21 คือครอบคลุมตั้งแต่เขตการค้าเสรีไปสู่มิติใหม่ เป็นการรวมกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด โดยครอบคลุม 40% ของ GDP โลก และปริมาณการค้าเท่ากับ 1 ใน 3 ของโลก

 

ความจริง ข้อตกลง TPP ก็เป็นข้อตกลงด้านการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ซึ่งหมายถึง สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศสมาชิก TPP 12 ประเทศ สามารถเข้าออกระหว่างกันโดยมีภาษีศุลกากรเท่ากับ 0 และการกำหนดโควตาเท่ากับ 0 แต่ในความเป็นจริง ประเทศสมาชิกมีเงื่อนเวลาปรับลดกำแพงภาษี คือ ไม่ใช่เท่ากับ 0 โดยทันที โดยนับตั้งแต่การเจรจารอบอุรุกวัยเป็นต้นมา การรวมกลุ่มในลักษณะ Preferential zone ซึ่งยังไม่ใช่เขตการค้าเสรีได้ถูกห้ามโดยเด็ดขาด ดังจะเห็นได้ว่า ข้อตกลงหลายแห่ง เช่น อนุสัญญาโลเม่ ระหว่างกลุ่มประเทศยุโรปกับแอฟริกา คาริเบียน และแปซิฟิก ต้องแปลงเป็นสนธิสัญญา Cotonou (Cotonou เป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศเบนิน ซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา) โดยเหตุผลดังกล่าว ตั้งแต่ปี 1995 การเจรจารอบอุรุกวัยมีผลบังคับใช้จึงมีลักษณะเป็นเขตการค้าเสรี เพียงแต่หลีกเลี่ยงการกำหนดเงื่อนไขกำแพงภาษีโดยมีเวลาในการปรับตัว แต่เป้าหมายสุดท้ายคือ ปรับให้เหลือ 0

 

การที่การเจรจารอบอุรุกวัยห้ามทำ Preferential zone นั้น มาจากเหตุผลซึ่งขัดกับหลักการประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most favoured nation: MFN) ซึ่งกำหนดให้ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันสำหรับสินค้าในประเทศสมาชิก WTO

 

ดังที่ได้กล่าวว่า TPP นอกจากจะมีลักษณะเป็นเขตการค้าเสรี กล่าวคือ มีกำแพงภาษีเท่ากับ 0 และการกำหนดโควตาเท่ากับ 0 แล้ว ยังครอบคลุมเรื่องการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้า บริการ การลงทุน การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน ตลอดจนการปกป้องสิทธิทางปัญญา การเข้าเป็นสมาชิก TPP นั้น จึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งอะไร เช่น สหรัฐอเมริกาจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีบริการและการลงทุน การปกป้องสิทธิทางปัญญา การกำหนดมาตรฐานแรงงาน และส่วนหนึ่งสามารถขยายสินค้าไปยังประเทศสมาชิก แต่สหรัฐอเมริกาจะประสบกับด้านลบคือ สินค้าจากประเทศสมาชิกที่มีต้นทุนแรงงานต่ำก็จะเข้าไปในอเมริกาซึ่งจะเกิดปัญหาการว่างงานที่มาจากอุตสาหกรรมประเภทที่แข่งขันไม่ได้ ในกรณีของญี่ปุ่น ข้อดีคือจะขยายตลาดได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะตลาดอเมริกา แคนาดา แต่จะถูกกระทบจากสินค้าเกษตรของอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะกระทบกับชาวไร่ชาวนาของญี่ปุ่น ประเทศที่กำลังพัฒนาเช่น ชิลี เปรู หรือมาเลเซียก็จะได้ผลดีในแง่สามารถส่งสินค้ามายังตลาด โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ได้มากขึ้น เนื่องจากไม่มีกำแพงภาษี แต่ประเทศเหล่านี้จะถูกกระทบจากค่ายาที่แพงขึ้นจากการปกป้องสิทธิทางปัญญา อีกทั้งมาตรฐานที่สูงขึ้นทั้งด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเข้า TPP มีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ทำไมทั้ง 12 ประเทศจึงตกลง เหตุผลสำคัญคือ ข้อตกลงประเภทนี้ ประเทศสมาชิกจะมองผลได้ในลักษณะ Absolute gain มิใช่ relative gain กล่าวคือ มีทั้งด้านบวกและลบ แต่หักลบกันสุทธิต้องเป็นบวก ในส่วนที่เป็นด้านลบก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปแก้ไขและบรรเทา น่าสังเกตว่า ถ้ามีโอกาสเข้าร่วมเจรจา ประเทศเหล่านี้ก็มีความได้เปรียบ เพราะสามารถที่จะกดดันและผลักดันข้อสรุปเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ในขณะที่ข้อตกลงยังไม่เสร็จดีกว่ารอจนข้อตกลงเสร็จแล้ว เพราะนั่นหมายความว่า ประเทศดังกล่าวจะไม่มีโอกาสกำหนดทิศทางของข้อตกลง เพียงแต่จะรับหรือไม่รับเท่านั้นเอง

 

ข้อตกลง TPP ทั้ง อเมริกาและญี่ปุ่นถือว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันและถ่วงดุลกับจีน TPP จึงเปรียบเสมือนรูปธรรมของนโยบายตอกหมุดเอเชีย (Pivot  Asia) ของโอบามา การที่นาย Abe นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วม TPP เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันซึ่งถือเป็นลูกศรดอกที่ 3 ของนโยบายลูกศร 3 ดอกของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะได้เปรียบจีนเพราะจะสามารถส่งสินค้าไปอเมริกา แคนาดา และประเทศละตินอเมริกาโดยมีกำแพงภาษีเท่ากับ 0 TPP สำหรับทั้งสองประเทศมหาอำนาจคืออเมริกาและญี่ปุ่นจึงเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือการถ่วงดุลและต่อรองอำนาจระหว่างจีนนั่นเอง

 

TPP จะเป็นประเด็นถกเถียงในไทย ด้านหนึ่งต่อต้านโดยอ้างว่า ยาจะแพงขึ้น จะต้องมีการปรับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น อีกทั้ง เราไม่จำเป็นต้องทำ TPP เพราะทำเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นไว้แล้ว ยกเว้น อเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ผลได้จึงไม่คุ้มผลเสีย แต่อีกด้านหนึ่งจะมีแรงกดดันกับนักธุรกิจส่งออก จะเห็นว่า ประเทศไทยจะเสียความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นอีก สินค้าไทยโดยเฉพาะสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ จะไม่สามารถแข่งกับเวียดนาม และมาเลเซียซึ่งอยู่ใน TPP ได้ ยิ่งกว่านั้นประเทศที่อยู่ใน TPP ยังสามารถดึงการลงทุนจากประเทศอื่น ๆ มากขึ้น การลงทุนในไทยจะถูกกดดันให้ย้ายฐานไปเวียดนามและมาเลเซียเพิ่มขึ้น ในกลุ่มยานยนตร์ แม้ไทยจะได้เปรียบในขณะนี้ แต่ถ้าไทยไม่เข้า TPP ในระยะกลางและระยะยาวย่อมประมาทไม่ได้ เนื่องจากเวียดนามหรือมาเลเซียก็สามารถพัฒนาขีดความสามารถในส่วนนี้ได้และจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุน เนื่องจากสินค้าใน TPP ด้วยกันไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

 

ในความเห็นของผู้เขียน การเข้า TPP แม้จะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ อีกทั้งมีผู้ต่อต้านก็เยอะ อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า การไม่เข้าจะมีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพียงแต่การเข้าไปนั้น รัฐบาลจะต้องมีมาตรการส่งเสริมในการบรรเทาผลกระทบในด้านลบไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา หรือมาตรฐานอื่น ๆ ใน TPP

Visitors: 397,158