มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง

มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง

โดย ดวิษา ไพบูลย์ศิริ นักวิชาการมกอช.

        การควบคุมความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องด้วยกระบวนการแช่เยือกแข็งไม่สามารถทำลายจุลินทรีย์ก่อโรคส่วนใหญ่ได้ การดูแลความปลอดภัยของวัตถุดิบก่อนกระบวนการแช่เยือกแข็งจึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้การควบคุมอุณหภูมิตลอดทั้งกระบวนการผลิต และการเก็บรักษาก็เป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าด้วย

        หน่วยงานกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ได้กำหนด Code of Practice for the Processing and Handling of Quick Frozen Foods (CAC/RCP 8-1976) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการผลิต และจัดการสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ โดยเน้นเรื่องการจัดการระบบห่วงโซ่ความเย็นอย่างเหมาะสม ตั้งแต่การรับ การเตรียม การเก็บรักษา การขนส่ง การขายปลีก สินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งเกือบทุกชนิด ยกเว้นน้ำแข็ง ไอศกรีม และนม

สินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งของประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เช่น ในปี 2554 เฉพาะกุ้งสดแช่เยือกแข็งประเทศไทยส่งออกมากกว่า 200,000 ตัน มูลค่ากว่า 52,000 ล้านบาท เหตุผลที่สินค้าประเภทนี้เป็นที่นิยมเนื่องจากกระบวนการแช่เยือกแข็งเป็นวิธีถนอมอาหารที่สามารถยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้นานและสามารถรักษาคุณภาพของสินค้าได้ใกล้เคียงกับของสด และสามารถใช้ได้กับสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ เช่น ปลาทูน่าทั้งตัว หรือสินค้าพร้อมบริโภคสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว สามารถอุ่นและรับประทานได้ทันที

        กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งเพื่อการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการเน้นย้ำภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ จึงให้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง โดยอ้างถึงจาก Code of Practice for the Processing and Handling of Quick Frozen Foods และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์การปฏิบัติ: หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร (มกษ.9023) ซึ่งเทียบเท่ากับมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ เรื่อง General Principles of Food Hygiene (CAC/RCP 1-1969)

สาระสำคัญของมาตรฐาน

ขอบข่ายของมาตรฐานสินค้าเกษตรกำหนดหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งที่ผ่านกระบวนการลดอุณหภูมิจนอุณหภูมิ ณ จุดที่มีอุณหภูมิสูงสุดของสินค้าถึง -18 C หรือต่ำกว่า และคงอุณหภูมินี้ไว้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การเตรียม การแช่เยือกแข็ง การจัดการ การเก็บรักษา และการขนส่ง

        มาตรฐานนี้ครอบคลุมสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยแบ่งแยกอย่างชัดเจนตามพิกัดศุลกากร ดังนี้

  •       สินค้าประเภทปศุสัตว์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ (HS 02) เครื่องในสัตว์ (HS 02 และ HS 05) ไข่ (HS 04)
  •       สินค้าประเภทประมง (HS 03)
  •       สินค้าประเภทพืช ได้แก่ ผัก (HS 07) ผลไม้ (HS 08)

มาตรการในการควบคุมการผลิต มีดังนี้

        1.  สถานประกอบการ จำนวน 5 รายการ ได้แก่ ทำเลที่ตั้ง โรงงานและสายการผลิต ห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง เครื่องมือและอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก

        2.  การควบคุมการปฏิบัติงาน จำนวน 3 รายการ ได้แก่ น้ำ การจัดการและการกำกับดูแล การตามสอบ และการเรียกคืน

        3.  การควบคุมกระบวนการผลิต เก็บรักษา และการขนส่ง จำนวน 9 รายการ ได้แก่ วัตถุดิบ ซึ่งรวมถึงการรับและการเก็บรักษาวัตถุดิบ และการเตรียมวัตถุดิบ การแปรรูปก่อนการแช่เยือกแข็ง กระบวนการแช่เยือกแข็ง การใช้กระบวนการแช่เยือกแข็งเพื่อควบคุมปรลิตก่อนโรค การบรรจุ การเก็บรักษาสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง การเคลื่อนย้ายและการขนส่ง การตรวจเฝ้าระวังอุณหภูมิ และการจัดการผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา

        4.  การบำรุงรักษาและสุขาภิบาล

        5.  สุขลักษณะส่วนบุคคล

        6.  การฝึกอบรม

        7.  การจัดเก็บบันทึกข้อมูล

การดำเนินการเมื่อประกาศมาตรฐานเป็นมาตรฐานบังคับ

เมื่อกฎกระทรวงประกาศให้มาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตสำค้าเกษตรแช่เยือกแข็งเป็นมาตรฐานบังคับได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีระยะเวลาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปรับเปลี่ยนนาน 540 วัน หรือ 18 เดือน ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

        1.  ผู้ผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งที่เป็นไปตามมาตรฐานนี้ (มีกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งที่ลดอุณหภูมิลงต่ำกว่า -18 C และมีการรักษาผลิตภัณฑ์ให้มีอุณหภูมิ -18 C หรือต่ำกว่าตลอดกระบวนการจนสิ้นสุดการขนส่ง) เพื่อการค้าต้องมีใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง และได้รับการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้

        2.  ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานนี้และในการนำเข้าแต่ละครั้ง ผู้นำเข้าต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ (1) สำเนาใบรับรองสำหรับผู้ผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งตามมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ (2) มีหนังสือแจ้งการนำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานยังคับ

        3.  ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานนี้ และในการส่งออกแต่ละครั้ง ผู้ส่งออกต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ (1) สำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรของผู้ผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง (2) สำเนาใบรับรองการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง ที่ผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานออกให้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ (3) มีหนังสือแจ้งการส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ

ขอบคุณนิตยสาร FOOD FOCUS Vol.10 No.113 August 2015

Visitors: 398,107