เซอร์โคไวรัสในสุกร แรง...ร้าย...ลึก !!!

เซอร์โคไวรัสในสุกร แรง...ร้าย...ลึก !!!

น.สพ.ยุทธพล  เทียมสุวรรณ Technical Manager  M G PHARMA Co., Ltd.

          หากจะกล่าวถึงโรคใหม่มาแรง ที่บรรดาแวดวงการเลี้ยงสุกรกล่าวขวัญถึงกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นาทีนี้ยังคงหนีไม่พ้นโรคติดเชื้อเซอร์โคไวรัสหรือ PCV2 ส่วนใหญ่รู้กันดีแล้วว่าโรคนี้ก่อให้เกิดกลุ่มอาการซูบผอมเรื้อรังหลังหย่านม (PMWS) ทำให้สุกรป่วยแคระแกร็น เจริญเติบโตช้าน้ำหนักน้อย ใช้วันเลี้ยงยาวนานขึ้น

          นอกจากผลเสียในแง่ประสิทธิภาพการผลิตแล้ว โรคนี้ยังก่ออันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพสุกร ไม่ว่าจะเป็นต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะและสืบพันธุ์ ระบบทางเดินหายใจที่มักพบมีการติดเชื้อหลายชนิดร่วมกันแบบซับซ้อน (PRDC) อันเกิดจากสาเหตุที่ว่าไวรัสเซอร์โคได้ทำอันตรายลึกซึ้งลงไปถึงระบบภูมิคุ้มกันร่างกายพบว่าสุกรที่ติดเชื้อ PCV2 และแสดงอาการ PMW จะมีเนื้อเยื่อน้ำเหลืองบวมโต มีการอักเสบภายใน และมีการเสื่อมการตายของเซลล์ในเนื้อเยื่อน้ำเหลือง โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ที่ลดจำนวนลงอย่างมากทั้งชนิด T เซลล์ (CD3+ , CD4+ , CD8+) และชนิด B เซลล์ รวมถึงเดนไดรติกเซลล์ ซึ่งเซลล์เหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญมาก ในการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเมื่อติดเชื้อ หรือทำวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ

          นั่นหมายความว่าร่างกายสุกรที่ติดเชื้อ PCV2 หรือป่วยด้วยโรคเซอร์โคไวรัสอาจจะมีภาวะกดภูมิคุ้มกันทำให้ไวรับติดเชื้อโรคอื่นง่ายขึ้น รวมถึงอาจไม่ตอบสนองต่อการทำวัคซีน เกิดความล้มเหลวประเด็นนี้จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผลกระทบต่อวัคซีนป้องกันโรคที่มีความสำคัญ และจำเป็นเช่น พีอาร์อาร์เอส (PRRS) ที่มักพบร่วมกันเสมอๆ ในสุกรที่แสดงอาการ PRDC

          Opriessnig และคณะ (2006) จากมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตต สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาในสุกรจำนวน 69 ตัวที่ปลอดเชื้อโรค (SPf) PRRS และPCV2 แบ่งลูกสุกรอายุประมาณ 2 สัปดาห์ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 9-10 ตัว เมื่ออายุ 6 สัปดาห์ทำการหยอดเชื้อ PCV2 เข้าทางจมูกสุกรกลุ่ม 4, 5, 6

          จากนั้นเมื่ออายุได้ 8 สัปดาห์ ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค PRRS (เชื้อเป็น สายพันธุ์ US) เข้ากล้ามเนื้อคอในสุกรกลุ่ม 3, 4, 6, 7 และเมื่อสุกรอายุได้ 12 สัปดาห์ ทำการฉีดเชื้อพิษ PRRS ทับเข้าทางจมูกสุกรกลุ่ม 2, 3, 4 ตรวจความผิดปกติ และอาการทางคลินิก รวมถึงเก็บตัวอย่างเลือดตลอดการทดลองทำการผ่าซากตรวจรอยโรคสุกรทุกตัว เมื่อสิ้นสุดการทดลองที่อายุ 14 สัปดาห์ รูปแบบกลุ่มการทดลองแสดงดังแผนภาพ

          ในเบื้องต้นพบว่าสุกรที่ได้รับเชื้อพิษ PRRS (2, 3, 4) มีไข้สูง โดยเฉพาะกลุ่ม2 ที่ไม่ได้ทำวัคซีน จะมีอุณหภูมิร่างกายสูงที่สุด ร่วมกับมีคะแนนความผิดปกติของการหายใจเช่น หอบ หายใจลำบาก ใช้ช่องท้องช่วยหายใจ ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มทำวัคซีน หรือกลุ่มที่ไม่ได้รับเชื้อพิษ แสดงถึงความจำเป็นและสำคัญของวัคซีน PRRS เชื้อเป็นที่ช่วยลดความผิดปกติ และอาการทางคลินิกลงได้อย่างมีนัยสำคัญอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดที่สำคัญคือ อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน ADG ของสุกรที่ป่วยจาก PRRS จะต่ำกว่าสุกรปกติ

          จากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่าการทำวัคซีน PRRS เชื้อเป็นไม่ได้ก่อโรคทำให้สุกรป่วย จนมี ADG ลดต่ำลงอย่างที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด (ADG1) และที่สำคัญการทำวัคซีนยังช่วยลดอาการป่วยทางคลินิกจากเชื้อพิษให้น้อยลงเห็นได้จากค่า ADG2 ของกลุ่ม 3, 4 ที่สูงกว่าสุกรป่วยโดยไม่ได้ทำวัคซีน(2) ส่วนสุกรที่ติดเชื้อ PCV2 ก่อนทำวัคซีนPRRS (4) จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าค่า ADG3 จึงแทบไม่แตกต่างไปจากสุกรป่วย

โดยไม่ได้ทำวัคซีน (2)

สอดคล้องกับผลการชันสูตรรอยโรคที่ปอดพบว่าสุกรที่ได้รับเชื้อพิษ PRRS (2, 3, 4) มีอุบัติการณ์รอยโรคที่ปอดทุกตัว (100%) โดยกลุ่ม4 ที่ติดเชื้อ PCV2 ก่อนทำวัคซีน PRRS จะมีคะแนนความรุนแรงของรอยโรคปอดที่สูงกว่า (31.7%) เมื่อเทียบกับกลุ่ม3 ที่ไม่ได้ติดเชื้อ PCV2 ก่อนทำวัคซีน (13.2%) หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เคยได้รับเชื้อ PRRSซึ่งรอยโรคทางจุลพยาธิวิทยาก็ให้ผลยืนยันเช่นเดียวกันว่า สุกรที่ติดเชื้อ PCV2 ก่อนทำวัคซีนจะมีคะแนนรอยโรคปอดสูงใกล้เคียงกับสุกรที่ไม่ได้ทำวัคซีน (ตารางที่ 2)

          จากตารางที่ 2 การตรวจด้วยวิธี PCR และ IHC แสดงให้เห็นว่าสุกรที่ติดเชื้อ PCV2 ก่อนทำวัคซีน (4) อาจพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่ดีทำให้หลังได้รับเชื้อพิษ จึงยังมีอุบัติการณ์ตรวจพบแอนติเจนไวรัส PRRS ในปอดสุกรกลุ่มนี้ได้มากไม่แตกต่างไปจากสุกรที่ไม่ได้ทำวัคซีน (2) ยืนยันผลของไวรัส PCV2 ที่มีต่อระดับภูมิคุ้มกันตอบสนองภายหลังการทำวัคซีน PRRS ด้วยวิธี ELISA (ภาพที่ 1) แสดงว่าสุกรที่ติดเชื้อ PCV2 ก่อนทำวัคซีน PRRS (ลูกศรสีเทา) จะมีระดับแอนติบอดีตอบสนองต่ำกว่าสุกรที่ไม่ได้ติดเชื้อ PCV2 (ลูกศรสีขาว) คลอดช่วงการทดลอง

          ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นอาการทางคลินิกที่รุนแรงอัตราการเจริญเติบโตต่อวันที่ลดต่ำลง อุบัติการณ์พบรอยโรคปอดทั้งเห็นด้วยตาเปล่า และทางจุลพยาธิวิทยาที่มากและมีความรุนแรงสูง อุบัติการณ์พบแอนติเจนไวรัสPRRS ที่มากในปอด รวมถึงภูมิคุ้มตอบสนองด้วยวิธี ELISA ในระดับต่ำกว่าของสุกรที่ติดเชื้อ PCV2 ก่อนการทำวัคซีน PRRS ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าการติดเชื้อ PCV2 จะมีผลต่อการทำงานและปริมาณของเม็ดเลือดขาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิมโฟไซต์ภาวะกดภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นแม้มิได้มีผลหักล้างการทำวัคซีนทั้งหมดแต่ก็ส่งผลให้การทำวัคซีน PRRS ยังไม่ได้ประสิทธิภาพ และไม่มีประสิทธิผลที่ดีเพียงพอ อาการทางคลินิกที่เกิดจาก PCV2 ร่วมกับ PRRS จึงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นพบภาวะ viremia ได้ยาวนานกว่า

          ซึ่งนอกจาก PRRS แล้วยังมีอีกหลายเชื้อในกลุ่ม PRDC ที่ให้ผลเช่นเดียวกันนี้ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สุกร มัยโคพลาสมา ทำให้ปัญหา PRDC จึงยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่หมดไปจากวงการเลี้ยงสุกรเสียที ดังนี้แล้วการทำวัคซีนป้องกันโรคเซอร์โคไวรัส ทั้งในลูกสุกรและฝูงแม่พันธุ์จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งยวดทั้งเป็นการควบคุมตัวโรคเอง และยังป้องกันช่วยให้วัคซีนชนิดอื่นๆ ทำแล้วได้ผลดีเต็มที่ ไม่มีล้มเหลว จนโรคอื่นเข้ามาซ้ำเติมดังนั้นหากขอ 3 คำเพื่อนิยามได้แก่ “เซอร์โคไวรัสในสุกร” คงไม่มีคำไหนเหมาะไปมากกว่าแรง...ร้าย...ลึก.. อีกแล้ว!!!

เรียบเรียงจาก

Opriessnig T., McKeown N.E., Harmon K.L., Meng X.J. and Halbur
P.G. 2006. PorcineCircovirusType 2 Infection Decreases the Efficacy
Of a Modified Live Porcine Reproductive and Respiratory
Syndrome Virus Vaccine. Clin Vaccine Immunol.13(8) : 923-929.

ขอบคุณ...วารสารโลกสุกร ฉบับที่ 150 เดือนมิถุนายน 2558 และ MG Pharma Co.,Ltd.

 

 

Visitors: 395,756