ความผิดปกติจากการขาดสารอาหารบางชนิดในสุกร โดย รศ.น.สพ.ดร.สุพล เลื่องยศลือชากุล

ความผิดปกติจากการขาดสารอาหารบางชนิดในสุกร

รศ.น.สพ.ดร.สุพล  เลื่องยศลือชากุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหาความเสียหายในฟาร์มสุกร เป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญและจัดการเข้าเฝ้าระวังควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะโรคระบาดที่ถือเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความสูญเสียให้กับฟาร์มในปัจจุบัน ทั้ง โรคพีอีดี และโรคพีอาร์อาร์เอส แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหาย หรือความผิดปกติที่พบในฟาร์มยังเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการขาดสารอาหารบางชนิด ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงสร้างความสับสนในการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของความเสียหายดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับสารอาหารต่างๆ ว่า ตรงกับความต้องการของสุกรในแต่ละช่วงอายุหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

อาการขาดไบโอติน (Biotin Deficiency)

สาเหตุ

เนื่องจากการมีปริมาณไบโอติน (biotin) หรือวิตามิน H (สูตร C10H16O3N2S) ในอาหารไม่เพียงพอแต่ความต้องการของสัตว์ไบโอตินจัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบีชนิดหนึ่ง ซึ่งมักถูกสร้างขึ้นโดยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว ไบโอตินที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์มักได้จากการสังเคราะห์ในเชิงอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยปกติในอาหารสัตว์สูตรมาตรฐานทั่วไปมักจะมี

ไบโอตินที่เพียงพอกับความต้องการร่างกายของสุกรอยู่แล้ว เช่น 50-100 พีพีบี (มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 ตัน) แต่ไบโอตินปริมาณดังกล่าวอาจจะมีการเสื่อมสลายค่อนข้างเร็ว หากอาหารสัตว์นั้นมีการเก็บรักษาไม่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม หรือมีสารบางชนิดจับตัวกับไบโอติน เช่นอะวิดีน (avidin) ที่พบในไข่ขาว ทำให้ไบโอตินไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย หรือการได้รับยาต้านจุลชีพที่ไประงับการเจริญของจุลินทรีย์ที่สร้างสารนี้ในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่เป็นเวลานาน

ไบโอตินมีหน้าที่เป็นตัวร่วมปฏิกิริยา หรือเป็นโคแฟกเตอร์ (co-factor) ของเอนไซม์ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิกิริยาคาร์บอกซิเลชั่น (carboxylation) และทรานคาร์บอกซิเลชั่น (transcarboxylation) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการเมตาบอลิซึมของไขมันในร่างกาย การขาดไบโอตินจึงมีผลทำให้การเมตาบอลิซึมของไขมันผิดปกติไป ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้ไบโอตินยังเป็นโคเอนไซม์ในการสร้างสารประกอบไพริมิดีนที่เป็นตัวเริ่มต้นของกรดนิวคลีอิก ทั้งดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดพันธุกรรม และการสร้างโปรตีนของร่ายกายด้วย การขาดไบโอตินจะทำให้การสร้างเซลล์ใหม่และการสร้างโปรตีนเกิดการบกพร่อง เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อและเซลล์ที่แบ่งตัวตลอด เช่น ขุมขน ผิวหนัง และกีบเท้าสุกรที่จะแสดงให้เห็นก่อน

อาการทางคลินิก

สุกรที่ขาดไบโอตินมักมีรอยแตกของกีบโดยเฉพาะตรงบริเวณฝ่าเท้า และส้นเท้า ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอาการผิดปกตินี้ โดยสุกรมักจะแสดงอาการคล้ายกันหลายตัวในฝูงแต่ละการดูเฉพาะรอยโรคอาจทำให้สับสนกับรอยโรคควั่นข้อเล็บเก่าของโรคติดเชื้อไวรัส อื่น เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย (FMD), วาสคิวลา สโตมาติติส (vesticular stomatitis; VS) วาสคิวลา เอกแซนธีมา (vesicular exanthema; VE), สไวน์วาสคิวลาดีซีส (swine vesicular disease; SVD) อาการขาดไบโอตินมักไม่พบในลูกสุกรระยะดูดนม หรือพบแต่ไม่มีอาการชัดเจน แต่อาการดังกล่าวจะพบได้ในสุกรระยะสืบพันธุ์แม่สุกร ลูกสุกรระยะหย่านม และสุกรระยะรุ่นขุน โดยขั้นแรกจะพบว่า สุกรมีอาการขนหลุดร่วงและผิวหนังหยาบ แห้งเป็นขุย มีอาการอักเสบแดงเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา จมูก ปาก และอวัยวะเพศ มีฝ้าขาวบนลิ้น จากนั้นสุกรกลุ่มเดิมจะเริ่มแสดงอาการขาดสารอาหารอื่นๆ ตามมา เนื่องจากการเจ็บลิ้น กินอาหารไม่ค่อยได้ ต้องใช้ช่องปากกินอาหาร หรือเคี้ยวลำบากสุกรมักซูบผอมลงและจะเริ่มมีลักษณะอาการผนังกีบมีร่องแตกโดยจะมีจุดเริ่มตรงบริเวณโคโลนารีแบนด์ (coronary band) และแตกเป็นแนวขวางของกีบจนทำให้เกิดอาการขาเจ็บ เดินขากระเพลกและมีการติดเชื้อแทรกซ้อนจนเกิดกีบอักเสบ (laminitis) สุกรอาจมีอาการหมดเรี่ยวแรง (fatique) เจ็บปวดกล้ามเนื้อ (muscle pain) แม่สุกรมีระยะเวลาว่างหลังการสืบพันธุ์ (ระยะเวลาตั้งแต่หย่านมลูกสุกรจนถึงการเป็นสัดครั้งต่อไป) ยาวนานออกไป และจำนวนลูกต่อครอกถัดไปก็จะลดลงด้วย

เมื่อส่งตัวอย่างอาหารใช้เลี้ยงสุกร เพื่อทำการวิเคราะห์หาปริมาณของไบโอตินจะพบว่า อาหารนั้นมีปริมาณไบโอตินต่ำกว่าความต้องการ ซึ่งโดยทั่วไปอาหารสุกรพันธุ์และลูกสุกรควรมีไบโอตินในปริมาณ 100-220 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

การรักษา

หากพบหรือต้องสงสัยว่า อาหารสำเร็จมีปริมาณไบโอตินไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยสุกรมีอาการขาดไบโอตินแสดงให้เห็นควรผสมไบโอตินเพิ่มลงในอาหารโดยเฉพาะในวันแรกๆ หรือสัปดาห์แรกของการแก้ไขปัญหา โดยให้ปริมาณสูงถึง 400-1,250 มิลลิกรัมต่อตัน (พีพีบี) หลังจากนั้นอาจเพิ่มปริมาณของไบโอตินในอาหารแม่สุกรอุ้มท้อง แม่สุกรเลี้ยงลูก หรือสุกรขุนที่มีปัญหาการขาดไบโอตินเป็น 200 มิลลิกรัมต่อตัน โดยการเสริมลงในสารผสมล่วงหน้าหรือ พรีมิกซ์ (premixs) ที่ใช้ผสมอาหาร โดยให้ไบโอตินมีปริมาณความเข้มข้น 1-2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับ 10-20 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกรัม และใช้พรีมิกซ์ดังกล่าวที่ระดับ 5-10 กรัมต่อตันอาหาร ซึ่งจะทำให้ได้ระดับไบโอตินในอาหารตามที่ต้องการ ทั้งต้องการควบคุมวิธีการผสมให้กระจายไปทั่วทั้งถังผสมอาหารอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกัน

1.  ต้องมีการตรวจสอบ วิเคราะห์ปริมาณไบโอตินในอาหารสำเร็จ หรือตรวจในพรีมิกซ์ เมื่อสงสัยว่า มีปริมาณไบโอตินครบถ้วนตามที่แสดงบนฉลากหรือไม่ และในการคิดคำนวณต้องถูกต้องแม่นยำ

2.  เก็บรักษาอาหารสุกรทั้งอาหารสำเร็จรูป และวัตถุดิบอาหารต้องถูกสุขลักษณะ โดยสถานที่เก็บรักษาต้องมีลักษณะแห้ง และไม่โดนแสงแดดกลางแจ้ง เพื่อเป็นการถนอมคุณภาพสารอาหารทุกชนิด ไม่ควรเก็บอาหารดังกล่าวไว้เป็นเวลานานเกิดควร และมีการสร้างระบบมาก่อนใช้ก่อน (First in/ First out; FIFO)

พยาธิสภาพเมื่อผ่าซาก

ลักษณะภายนอกโดยรวม สุกรมีอาการขนร่วง มีอาการรอยแตกที่เท้า และมีอาการผิดปกติของผิวหนัง ได้แก่ ผิวหนังแห้งหยาบกร้าน มีน้ำเหลืองซึมออกมา และมีจุดเลือดออกประปราย

ลักษณะเฉพาะที่ จะพบบริเวณจุดตายของเนื้อเยื่อที่ชั้น horny layer ของผิวหนังและกีบเท้า

อาการขาดสังกะสี หรือ พาราเคอราโตซิส (Parakeratosis)

สาเหตุ

เกิดจากการที่อาหารสุกรมีการขาดสังกะสี (Zn) โดยตรงหรือขาดกรดอะมิโนจำเป็นในอาหารบางชนิด หรือมีสารประกอบแคลเซียม สารกลุ่มไฟเตท ในระดับสูงมาก หรือ มีสารยึดจับโลหะอื่นๆ ในอาหารสุกรมีผลทำให้ความสามารถในการดูดซึมสังกะสีในระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ลดลง ร่างกายได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ทั้งๆ ที่ในอาหารมีปริมาณธาตุสังกะสีในระดับสูงก็ตาม นอกจากนี้ การขาดสังกะสียังทำให้มีปริมาณของโปรตีนที่จับเรตินอล หรือวิตามินเอ ในกระแสเลือดและตับลดลง จึงทำให้การเมตาบอลิซึมของวิตามินเอในตับลดลง ซึ่งวิตามินเอมีส่วนสำคัญในการรักษาสภาพเยื่อบุผิวหนัง เมื่อมีการขาดวิตามินเอ ทำให้ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น หยาบกร้าน แห้งแตก ขนไม่เป็นมัน

คำว่า พาราเคอราโตซิส (Parakeratosis) คือ ลักษณะที่เซลล์บนผิวหนังชั้นสตราตัมคอร์นีอัม (Stratum corneum) ที่มีหน้าที่ในการสร้างสารเคอราตินที่เป็นองค์ประกอบของผิวหนัง ยังคงมีนิวเคลียสค้างไว้อยู่บนชั้นหนังกำพร้า ซึ่งปกติจะไม่ปรากฏเห็นแล้วทำให้มีแผ่นแห้งๆ ที่เป็นสารเคอราตินสะสมอยู่มาก

อาการทางคลินิก

อาการขาดธาตุสังกะสีเห็นได้กับสุกรทุกระยะและทุกอายุ สุกรมีอาการผิวหนังหยาบแห้งหนาเป็นแผ่นแข็งแตกระแหงเป็นชิ้นเล็ก มีร่องหยาบๆ ลึกชัดมีแผ่นตกสะเก็ดเป็นขุยบางๆ คล้ายลักษณะอาการรอยโรคไรขี้เรื้อนของสุกร (sarcoptic mange) แต่ไม่มีตัวไรขี้เรือน และไม่มีอาการคัน ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีการเจริญเติบโตช้า แคระแกรน กระดูกส่วนต่างๆ มีพัฒนาการผิดปกติ โครงสร้างกระดูกไม่แข็งแรง สมรรถนะการสร้างเยื่อบุผิวหนังและเซลล์ลำไส้ลดลง ต่อมไทมัสเล็กลง อัณฑะฝ่อ ระบบสืบพันธุ์ทั้งสองเพศทำงานไม่ปกติ จนถึงขั้นแม่สุกรอาจแท้งลูกได้

การวินิจฉัยโรค

1.  ให้สังเกตอาการที่แสดงทางคลินิก ตรวจดูรอยโรคและอาการผิดปกติ ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายจะมีการสะสมของสารเคอราติน อยู่บนชั้นผิวหนังภายนอกทั่วๆ ไป เท่านั้น แต่สุกรที่ขาดธาตุสังกะสีจะเห็นอาการผิดปกติของการสะสมสารเคอราตินอย่างชัดเจนที่ข้อเท้าทั้ง 4 ลงไปปลายเท้าหลังส่วนท้าย โคนหาง ใบหู ขาด้านใน และพื้นท้อง แผ่นสะเก็ดอาจขยายลามไปทั่วลำตัวในภายหลัง อาจจะมีอาการอ่อนเพลียเบื่ออาหารร่วมด้วย สุกรมีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าปกติ

2.  เก็บตัวอย่างผิวหนังไปตรวจทางจุลพยาธิวิทยา พบลักษณะพาราเคอราโตซิส

3.  การตรวจวิเคราะห์ระดับของสังกะสีในซีรั่มอาจยืนยันร่วมกับการวิเคราะห์ปริมาณธาตุสังกะสีในอาหาร หรือตรวจในพรีมิกซ์ที่เป็นแหล่งแร่ธาตุ-วิตามิน

4.  เมื่อเสริมสังกะสีที่อยู่ในรูปเกลือ เช่น สังกะสีซัลเฟต ลงในอาหารจะทำให้อาการทุเลาลง จนเป็นปกติ

การรักษา

1.  เสริมสังกะสีที่อยู่ในรูปเกลือในอาหาร เช่น สังกะสีคาร์บอเนตสังกะสีซัลเฟตในระดับ 0.02-0.03 เปอร์เซ็นต์ หรือ 0.2-0.3 กิโลกรัม ต่ออาหาร 1 ตัน หรือจะให้รูปของสังกะสีคีเลต เช่นสังกะสีเมทไธโอนีน หรือสังกะสีไกลซีน รวมทั้งอาจเสริมกรดไขมันลิโนเลอิค (linoleicacid) ในอาหารให้สูงขึ้นสำหรับสังกะสีในรูปออกไซต์ (ZnO) ไม่น่าจะเป็นแหล่งสังกะสีที่ดี เนื่องจากการดูดซึมต่ำ แต่ที่นิยมให้ก็เพื่อบรรเทาอาการอักเสบของลำไส้กรณีท้องร่วง

2.  ไม่ให้อาหารที่มีปริมาณของแคลเซียม เกลือไฟเตท หรือสารยึดจับโภชนะโลหะที่สูงมากเกินไป

พยาธิสภาพเมื่อผ่าซาก

ลักษณะภายนอกโดยรวม (Macroscopic finding) มีอาการผื่นแดงและผิวหยาบกร้านที่ลักษณะสมดุลทั้งสองข้าง ที่บริเวณขาพับหลัง ท้อง และหู มีอาการรอยแตกของผิวหนัง ซึ่งเป็นอาการผสมผสานระหว่างอาการสะสมเคอราตินมากกว่าปกติ และอาการผิวหนังหยาบกร้าน แต่ไม่มีอาการคัน (generalize non-pruritic and crusting dermatosis)

ลักษณะเฉพาะที่ การสะสมเคอราตินมากกว่าปกติ (hyperkeratinization) การสะสมของนิวคลีไอของเซลล์ชั้นสตราตัมคอร์นีอัม (Stratum corneum cells contain nuclei)

ภาวะโลหิตจางในลูกสุกรเกิดใหม่ (Newborn Anemia)

สาเหตุ

เกิดจากการที่ลูกสุกรดูดน้ำนมแม่ที่ขาดธาตุเหล็ก ซึ่งต้นเหตุมาจากปัจจัยพื้นฐานหลายประการ คือ

1.  ตามธรรมชาติปริมาณธาตุเหล็กสะสมของลูกสุกรแรกเกิดมีต่ำมากในแต่ละตัว

2.  น้ำนมของแม่สุกรมีธาตุเหล็กในระดับต่ำเพียง 1 พีพีเอ็ม

3.  เมื่อลูกสุกรมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วมากทำให้มีความต้องการใช้ธาตุเหล็กสูง เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นโดยที่ลูกสุกรอายุ 3 ถึง 4 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักเพิ่มเป็นสี่เท่าของน้ำหนักแรกเกิด (จาก 1.6 เป็น 6 กิโลกรัม)

อาการทางคลินิก

ลูกสุกรแรกเกิดมีธาตุเหล็กสะสมอยู่ในร่างกายประมาณ 50 มิลลิกรัม และส่วนใหญ่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ในฮีโมโกลบิน ในขณะที่ลูกสุกรต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นวันละ 7-16 มิลลิกรัมต่อตัว เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต รักษาระดับเลือดและรักษาปริมาณธาตุเหล็กสำรองในร่างกายให้เพียงพอ ซึ่งปริมาณธาตุเหล็กสำรองที่มีมาในร่างกายสามารถใช้ได้เพียง 3-7 วันแรก เท่านั้น ประกอบกับในน้ำนมของแม่สุกรมีธาตุเหล็กต่ำ คือ มีเพียง 1-2 มิลลิกรัมต่อลิตร ลูกสุกรที่ถูกเลี้ยงในระบบวิธีการเลี้ยงแบบขังคอกตลอดเวลา เช่นปัจจุบัน จึงได้รับธาตุเหล็กที่ไม่เพียงพอ

มีการทดลองที่ทำการศึกษาปริมาณการผลิตน้ำนมของแม่สุกรในวันที่ 7 และ 8 หลังคลอด โดยใช้วิธีการชั่งน้ำหนักลูกสุกรก่อนและหลังดูดนมพบว่า แม่สุกรที่ให้ลูกดูดนมทุกๆ 35 นาที ผลิตน้ำนมได้ถึง 7.50 ลิตรต่อวัน และกลุ่มที่ให้ลูกดูดนมทุกๆ 70 นาที ผลิตน้ำนมได้เพียง 5.75 ลิตรต่อวัน ดังนั้น ในหนึ่งวันแม่สุกรให้ธาตุเหล็กในรูปที่ผ่านน้ำนมเฉลี่ยต่อตัวลูกจึงอาจได้ไม่ถึง 1 มิลลิกรัม ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับลูกสุกรแต่ละตัวในครอกลูกสุกรที่กินแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวจะเป็นโรคโลหิตจางได้อย่างรวดเร็วถ้าไม่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กจากแหล่งภายนอก โดยทางคลินิกลูกสุกรมักจะแสดงอาการโรคโลหิตจางภายใน 10-14 วันหลังคลอด อย่างไรก็ตาม ความต้องการธาตุเหล็กของสุกรจะลดลงตามอายุและน้ำหนักของสุกรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการเพิ่มของปริมาณเลือดลดลงปริมาณเลือดต่อหน่วยน้ำหนักของสุกรลดลงและสุกรได้รับธาตุเหล็กโดยตรงจากอาหารเมื่อเริ่มหัดกินเองได้

อาการทางคลินิกพบว่า ลำตัวลูกสุกรมีลักษณะซีดหรือเหลืองเล็กน้อยเยื่อเมือก เยื่อบุต่างๆ จะมีสีซีดขาวค่า ฮีโมโกลบิน (Hb) และค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Ht) ต่ำกว่าปกติค่า Hb ลดลงจาก 12-13 ลงเหลือ 6-7 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร สุกรขาดธาตุเหล็กจะมีเส้นขนหยาบกระด้าง ไม่เป็นมัน อัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ โตช้ากว่าลูกสุกรตัวอื่นหรือครอกอื่นที่ปกติ สุกรมักป่วยจากการติดเชื้อจุลชีพก่อโรคอื่นได้ง่าย ถ้ามีการเดินย่ำเข้าไปในคอกจนถึงตัวลูกสุกรจะเข้ามากินเศษดินที่ติดอยู่กับรองเท้าของผู้ที่เดินเข้ามาลูกสุกรที่ป่วยมากจะมีอาการเหนื่อยง่ายและหายใจลำบากอาจมีอาการถ่ายเหลวออกมาเป็นสีซีดกรณีที่ลูกสุกรมีอาการเครียดเช่น มีการจับบังคับอาจเกิดการหายใจลำบาก ตายอย่างเฉียบพลันได้จากการที่ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่ทัน

การวินิจฉัยโรค

1.  ดูจากประวัติที่ไม่ได้มีการเสริมธาตุเหล็กให้แก่ลูกสุกรและสุกรมีปริมาณฮีโมโกลบินน้อยกว่า 6-7 กรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ซึ่งเป็นปริมาณต่ำที่สุดที่ถือว่า สุกรไม่เป็นโรค สุกรที่เป็นโรคโลหิตจาง คือ สุกรที่มีฮีโมโกลบินตั้งแต่ 8 กรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตรลงไป ถ้าหากมีฮีโมโกลบิน 6 กรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร จะถือว่า เป็นโรคค่อนข้างรุนแรงแต่ถ้าฮีโมโกลบินลดลงเหลือ 4 กรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร แสดงว่า สุกรเป็นโรครุนแรงมากและทำให้เกิดการตายได้

2.  ผ่าซากสุกร ถ้าสุกรป่วยด้วยโรคโลหิตจางจะพบว่า หัวใจมีการขยายขนาดมีผนังบางลง และมีของเหลวในเยื่อถุงหุ้มหัวใจ ตับ และม้าม มีขนาดใหญ่ขึ้นปอดมีลักษณะบวมน้ำ

ลักษณะอาการของโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ (Differential diagnosis)

โรคอีเพอริโทรซูโอโนซิส (Eperythrozoonosis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ Mycoplasma hemosuis ที่มักเกิดในลูกสุกรดูดนมเช่นกัน อาการเลือดออกทางสายสะดือมากเกิน ภาวะที่เม็ดเลือดแดงแตกจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันจ้ำสีเขียวบนผิวหนังที่เกิดจากมีปริมาณเกล็ดเลือดหมุนเวียนในกระแสโลหิตน้อย การเสียเลือดจากทางอื่นๆ เช่น จากการตัดหาง หรือบาดแผลจากการตอนลูกสุกรเพศผู้

การรักษา

ฉีดยาเสริมธาตุเหล็กที่ให้ในรูปสารประกอบสารประกอบเหล็กเตร็กตราน (iron dextran) หรือ เหล็กเกลบโตเฟอริน (iron gleptoferrin) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีกว่า โดยใช้ปริมาณปกติที่เทียบเท่ากับธาตุเหล็ก คือ 100-200 มิลลิกรัมต่อตัว เข้ากล้ามเนื้อบริเวณคอหรือโคนขาหลังปริมาณธาตุเหล็กที่มากเกินขนาดได้เข็มที่ใช้ฉีดควรมีขนาดเล็ก และสั้นประมาณครึ่งนิ้ว หรือ 12 มิลลิเมตร

ในบางกรณีพบว่า สารถนอมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ฟีนอล 0.5 เปอร์เซ็นต์ อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองจนกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทของสุกรในบริเวณที่มียาฉีดสะสมอยู่ ทำให้มีการอักเสบ ปวด บวมได้ สังเกตได้ว่า ลูกสุกรไม่ใช้เท้านั้นยันพื้น เดินลากปลายเท้ากับพื้นจนเป็นแผลเปิดถลอกรุนแรง

การป้องกัน

ในการเลี้ยงปัจจุบันมีการใช้ธาตุเหล็กเสริมในลูกสุกรหลังคลอด โดยวิธีการฉีดในรูปสารเหล็กเดร็กตราน หรือ เหล็กเกลบโตเฟอริน เข้าบริเวณกล้ามเนื้อโคนขาหลังหรือกล้ามเนื้อบริเวณคอในปริมาณ 100-200 มิลลิกรัมต่อตัว ภายใน 3 วันแรกหลังคลอดหรือบางแห่งอาจให้ธาตุเหล็กเสริมโดยการกิน โดยการใช้ส่วนผสมเกลือของธาตุเหล็ก เช่น เหล็กซัลเฟต เหล็กฟูมาเรต หรือเหล็กเมทไธโอนีน ปริมาณ 100-200 มิลลิกรัมต่อตัว ป้ายลิ้นลูกสุกร ซึ่งการให้ธาตุเหล็กโดยวิธีการป้ายลิ้นควรทำใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด เนื่องจากลำไส้ลูกสุกรยังสามารถดูดซึมสารโมเลกุลใหญ่ ได้และต้องให้อีกใน 5-10 วันต่อมา

พยาธิภาพเมื่อผ่าซาก

ลักษณะภายนอกโดยรวม เยื่อบุผิวมีสีซีด ตับ และม้ามมีขนาดขยายใหญ่ ตับมีสีเหลืองอ่อน หัวใจมีขนาดขยายใหญ่ มีผนังหัวใจบางลง และมีของเหลวสะสมที่เยื่อหุ้มหัวใจ มีน้ำสะสมในช่องท้องและปอดมีอาการบวมน้ำ

ลักษณะเฉพาะที่ โรคโลหิตจางชนิดไฮโปโครมิค ไมโครไซติด (Hypochromic microcytic anemia) ปอดบวมน้ำ การสะสมของเหลวที่ถุงลมปอด และการสลายของไขมันในตับ


ขอบคุณวารสารสัตว์เศรษฐกิจ ฉบับปักษ์แรกมิถุนายน 2558

Visitors: 422,984