จัดการเล้าคลอดถูกต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์มหมู

จัดการเล้าคลอดถูกต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์มหมู

โดย รศ.น.สพ. กิจจา อุไรรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

 

        อ.กิจจา แนะ การจัดการเล้าคลอดที่ถูกต้อง เน้นทำให้สุขภาพของทางเดินอาหารลูกหมูสมบูรณ์ ให้นมน้ำเหลืองเร็วและมากที่สุด พร้อมควบคุมปัญหา PDS ในแม่

        รศ.น.สพ.กิจจา  อุไรวงค์  คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวในหัวข้อ ความสำคัญของการควบคุม PDS  และอิทธิพลของนมน้ำเหลือง ในสัมมนาวิชาการ “Gut Health…Power of Growth-Profit” ซึ่งจัดโดย บริษัท สมาร์ทเวท จำกัด ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี ว่า

        Gut Health หรือ สุขภาพของทางเดินอาหาร เป็นเรื่องสำคัญของลูกสุกรตั้งแต่เกิด Gut หรือลำไส้เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุด และมีบทบาทต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยทางเดินอาหารเป็นจุดเริ่มต้นของภูมิคุ้มกัน การเติบโตที่ดีต้องมาจาก Gut Health ที่ดีเท่านั้น

        Gut Health เริ่มต้นที่เล้าคลอดเพราะลูกเกิดมาสัมผัสเชื้อทั้งเชื้อที่ปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม และเชื้อส่วนใหญ่ที่ลูกได้รับคือ เชื้อที่มาจากแม่ โรคต่างๆ ที่ลูกพบในช่วงอนุบาล ขุน ต้นตอมาจากเล้าคลอด แม่เป็นตัวแพร่เชื้อทั้งเชื้อที่ร้ายแรง และไม่ร้ายแรงให้กับลูกสุกร

        นมน้ำเหลือง (Colostrum)  จำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกจะต้องได้รับ เพื่อสร้างความต้านทานต่อแบคทีเรียที่เป็นตัวร้าย ขณะเดียวกันลูกดูดนมก็จะได้เชื้อแบคทีเรียที่ดี การเลี้ยงจัดการสุกรสำคัญที่สุด ต้องทำให้ Gut Health สมบูรณ์ ควบคุมความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอดทางเดินทางอาหารได้ เพื่อให้ลำไส้มีความสมบูรณ์ในการดูดซับสารอาหารได้เต็มที่

        ปัจจัยสำคัญต่อ Gut Health ได้แก่ 1.แหล่งที่มาของสารอาหาร 2.จุลชีพประจำถิ่นในลำไส้ 3.ไทด์ จังค์ชั่น 4.การกินได้

        สารอาหารที่ดี ต้องกินไปแล้วสร้างการอักเสบต่อทางเดินอาหารให้น้อยที่สุด เพื่อให้ลำไส้, วิลไล, ผนังลำไส้, เยื่อหุ้มลำไส้ มีความสมบูรณ์ เพิ่มการเติบโต และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อจุลชีพประจำถิ่นในลำไส้

        ตัวอย่างสารอาหารที่ดี ได้แก่ โปรตีนที่ย่อยง่าย, โปรตีนที่ไม่สร้างการอักเสบ ไม่สร้างการแพ้ต่อลำไส้ และโปรตีนจากถั่วเหลือง กากถั่ว ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ลดการสร้างภูมิแพ้ให้แก่ลำไส้

        จุลชีพประจำถิ่นในลำไส้ มีหลายตัว ได้แก่ กลุ่ม Lactobacillus, Bifido-bacteria ฯลฯ ซึ่งช่วยลดปริมาณของแบคทีเรียก่อโรคตัวหลักคือ อี.โคไล ถ้าจุลชีพที่ดีเติบโตได้ดี ก็จะเบียนไม่ให้ อี.โคไล มีบทบาทสร้างปัญหา อี.โคไล มีหลายสายเชื้อ พิษของอี.โคไลมีหลายรูปแบบ ทั้งท้องเสีย บวมน้ำ ช็อคตายก่อนหรือหลังหย่านม จุลชีพประจำถิ่นในลำไส้ยังเพิ่มการสร้าง butyrate ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของเยื่อเมือกทำให้ลำไส้มีการเติบโต วิลไลมีการงอกขยาย เพิ่มขีดความสามารถในการดูดซึมสารอาหาร

        ไทด์ จังค์ชั่น คือ  จุดเชื่อมต่อของเซลล์เยื่อเมือกที่สมบูรณ์ ซึ่งถ้ามีการอักเสบของลำไส้จะมีช่องโหว่ เรียกว่า leaky junction ความสมบูรณ์ของไทด์ จังค์ชั่น เป็นเรื่องสำคัญที่สุดต้องเน้นสารอาหาร การจัดการที่จะลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

        การกินได้ ผลการวิจัยส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าถ้าสุกรอนุบาลหลังหย่านม มีการเติบโตที่ดี แสดงว่ามีการอักเสบของลำไส้ลดน้อย และมีการเพิ่มความยาวของวิลไล เพิ่มการดูดซึมสารอาหาร ลดการเกิดโรคจากเชื้ออี.โคไล, colibacillosis

        น.สพ.กิจจา กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันมีการศึกษาหาสารที่อยู่ในกลุ่มของโปรไบโอติก และพรีไบโอติกมาใช้ เพื่อช่วยจัดการสุขภาพแม่สุกร โดยเฉพาะเรื่องของ PDS ซึ่งการจัดการสุขภาพในช่วง 10-15 ปี ที่ผ่านมา จะเน้นไปที่การควบคุมอี.โคไล โดยเฉพาะในส่วนของแม่พันธุ์ซึ่งเป็นต้นตอของการผลิต โปรไบโอติก และพรีไบโอติกช่วยควบคุมความเสียหายจากเชื้ออี.โคไลหลายรูปแบบ หรือ colibacillosis ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงก่อนและหลังหย่านม

        ทั้งนี้การศึกษาหาพรีไบโอติก และโปรไบโอติกมาใช้เนื่องจากในอนาคตอันใกล้จะถูกควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ควบคุมการติดเชื้ออี.โคไล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในภาพรวมของการเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน โดยมีข่าวห้ามใช้โคลิสติน ยาต้านจุลซีพหลักที่ใช้ควบคุมอี.โคไล

        ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับนมน้ำเหลืองค่อนข้างมาก และเป็นเรื่องใหม่พลิกโฉมหน้าองค์ความรู้ที่มี ภูมิคุ้มกันในนมน้ำเหลือง มี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ Colostral antibodies เรียกว่า อิมมูโนกลอบลินประกอบด้วย lgG, lgM, lgA ซึ่งลูกสุกรต้องได้รับอิมมูโนกลอบลินจากนมน้ำเหลืองของแม่ ซึ่งอิมมูโนกลอบลินก็ดูดซึมเข้ากระแสเลือดของลูกไปสร้างภูมิคุ้มกันในกระแสเลือด หรือในเนื้อเยื่อต่างๆ

        ปัจจุบันมีงานวิจัยชี้ออกมาว่าในนมน้ำเหลืองมี Clostral lymphocyte ซึ่งเชื่อว่าเป็นลักษณะของ CMI ที่ลูกได้รับจากแม่ผ่านทางนมน้ำเหลือง เป็น lymphocyte ที่แม่เคยสัมผัสเชื้อ เคยรับวัคซีนต่อโรคนั้นๆ ก็จะมี lymphocyte พิเศษต่อต้านการติดโรคนั้นออกมาทางนมน้ำเหลืองแล้วภายใน 24 ชั่วโมง lymphocyte จะแพร่กระจายไปที่ปอด ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการติดเชื้อ ในขณะที่แอนทาบอดี้ตัวนี้มันดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดแล้วไปอยู่ในกระแสเลือดส่วนใหญ่

        มีการศึกษาพบว่า ทุก 6 ชั่วโมง การดูดซึมภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลืองผ่านลำไส้ลดลง 50% เพราะฉะนั้นเมื่อลูกเกิดมาต้องเน้นให้ได้รับนมน้ำเหลืองให้เร็วที่สุด เพราะลำไส้จะดูดซึมเอาภูมิคุ้มกันเข้าสู่กระแสเลือดลดลง ในขณะที่ specific lymphocyte ในน้ำนมเหลืองจากแม่ตัวเองท่านั้น ที่ดูดซึมผ่านเยื่อเมือกลำไส้เข้าสู่เนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะที่ต่อต้านการติดเชื้อ

        ถ้าย้ายฝากทันทีโดยนำลูกสุกรแรกเกิดไปกินนมน้ำเหลืองของแม่ตัวอื่น จะดูดซึมเฉพาะอิมมูโนกลอบอลินเท่านั้น ทังนี้ถ้าได้รับเฉพาะอิมมูโนกลอบอลินจะไม่สามารถต่อต้านการติด PRRS ได้ ต้องเป็นนมน้ำเหลืองที่มี lymphocyteออกมาด้วยจึงจะต่อต้านเชื้อได้ ช่วง 5-6 สัปดาห์แรก

        การย้ายฝากทันทีสร้างความเสียหายทันที การนำนมจากแม่ตัวอื่นให้ลูกกินได้เฉพาะ อิมมูโนกลอบอลิน ส่วน CMI ไม่ได้ และมีแนวโน้มว่า CMI หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกมากับนมน้ำเหลืองนั้น เมื่อลูกได้รับแล้วมีโอกาสสูงที่เวลาได้รับเชื้ออื่นจะสร้างภูมิคุ้มกันสองต่อได้เลย เป็นเรื่องที่กำลังศึกษาวิจัย นมน้ำเหลืองเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องปรับการจัดการให้เข้ากับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่

        “โดยหลักการแล้วในซีรั่มของแม่อิมมูโนกลอบอลินยิ่งมีสูงเท่าไรจะเข้มข้นในนมน้ำเหลืองประมาณ 3 เท่า เพราะฉะนั้นต้องทำให้แม่มีภูมิคุ้มกันสูงที่สุด เพื่อส่งผ่านไปที่นมน้ำเหลืองไปให้ลูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ค่อนข้างเร็ว เช่น อหิวาต์สุกร พีอาร์อาร์เอส และต้องจัดการให้ลูกสุกรวันแรกกินนมน้ำเหลืองให้เร็วและมากที่สุด เพราะเมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมง อิมมูโนกลอบอลินลดลงอย่างรวดเร็ว 48 ชั่วโมง แทบไม่เหลือแล้วนอกจากนี้ต้องสร้างความอบอุ่นให้ลูก วันแรกไม่ควรไปยุ่งกับตัวลูกสุกร ไม่ต้องตัดเขี้ยว ตัดหางเพื่อสร้างความเจ็บปวด และกระทบกับการดูดนมน้ำเหลืองของลูกสุกร”  น.สพ.กิจจากล่าว

        น.สพ.กิจจากล่าวต่อถึงกลุ่มอาการ PDS ว่า PDS (Post parturient Dysgalactua syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่ไม่มีน้ำนม นมแห้งช่วงก่อนและหลังคลอด มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการจัดการ

        แต่ขบวนการที่ทำให้เกิดนมแห้ง เป็นการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากแบคทีเรียแกรมลบ เช่น อี.โคไล โดยเป็นสาเหตุของ PDS มากกว่า 70-80%

        นอกจากนี้ยังมีจุลชีพอื่นที่มีโอกาสสร้างความเสียหายคือ S.suis, Pmultocida, Eubactorium suis และภาวะไข้ เครียด ล้วนมีผลต่อการเกิด PDS

        ลักษณะของ PDS แม่สุกรคาบเกี่ยวการคลอด มีไข้ กินอาหารลดลง ส่งผลกระทบต่อการสร้างน้ำนม และการหลั่งนมน้ำเหลือง มีผลโดยตรงต่ออัตราการป่วย อัตราตายของแม่สุกร ในภาคสนามจะคอยระวังเปอร์เซ็นต์แม่ป่วย เปอร์เซ็นต์แม่เลิกเลี้ยงลูก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงการจัดการ คุณภาพการดูแลแม่ท้องแก่ ตั้งแต่ 80-90 วันขึ้นไป

        การเจ็บป่วยในช่วงจังหวะนี้มีผลกระทบต่อจำนวนเมมโมรี่เซลล์ที่จะสร้างน้ำนม นอกจากนี้ยังมีผลต่อน้ำหนักเพิ่มต่อครอกต่อวันของลูกสุกร ซึ่งจะต่ำจากแม่ป่วยนมไม่ดี และกระทบต่อการตายก่อนหย่านมซึ่งกระทบต่อตัวเลขการผลิต ลูกหย่านมต่อแม่ต่อปี

        ลักษณะทางคลินิกในภาคสนามของกลุ่มอาการ PDS ได้แก่เต้านมอักเสบเฉียบพลัน โดยเต้านมบวมแดง ซึ่งมักจะพบจากการเตรียมสุกรสาวไม่ดี สุกรสาวไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อแม่ต่อเชื้อที่เป็นปัญหาเดิมอยู่ในฟาร์ม สุกรสาวไม่มีการปรับสภาพความคุ้มโรคต่อสายเชื้อโรคสำคัญที่เป็นโรคประจำถิ่นอยู่ในฟาร์ม โดยเฉพาะเชื้ออี.โคไล ยิ่งมีข้อบกพร่องเรื่องการจัดการก็จะพบปัญหามาก และถ้าพีอาร์อาร์เอสไม่นิ่ง จะพบหน้าตาเต้านมอักเสบเฉียบพลันมาก

        นอกจากนี้ยังพบเต้านมอักเสบไร้อาการ แม่สุกรเข้าคลอดนมไม่ค่อยลงเต้าที่เหลือเป็นหน้าตาของมดลูกอักเสบ หนองไหล กระเพาะปัสสาวะ ไตและกรวยไตอักเสบ ซึ่งรูปแบบของโรคที่เกิดขึ้นอยู่กับสาเหตุและตำแหน่งของการติดเชื้อ

        แหล่งที่มาของการติดเชื้อ ได้แก่

        -พื้นคอกสกปรก เกิดจากการล้างพักคอกไม่ทันเป็นจุดเริ่มต้นเชื้อจะมาที่เต้านมเข้าทางรูหัวนม แต่เนื่องจากสุกรมีความคุ้มโรคระดับหนึ่ง จะติดเชื้ออ่อนๆ ภายใน แต่การติดเชื้อจะสร้างสารพิษ

        -ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ในกระเพาะปัสสาวะมีเชื้อแบคทีเรีย เช่น Eubacterium suis เช่น อี.โคไล ซึ่งการกินน้ำ การปัสสาวะปกติ เป็นตัวควบคุมปริมาณเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ แต่เมื่อใดที่ปล่อยให้แม่สุกรขาดน้ำ แรงดันน้ำไม่พอ ปั๊มน้ำเสีย สุกรปัสสาวะไม่ได้ตามปกติ เชื้อจะเพิ่มจำนวน สร้างสารพิษ เกิดปัสสาวะอักเสบ ถ้ารุนแรงมากไปที่ท่อไต ทำให้ไตอักเสบ ปัสสาวะเป็นเลือด

        -ติดเชื้อในโพรงมดลูก เกิดขึ้นได้ง่ายมาก ถ้าแม่สุกรร้อนก่อนคลอด หรือก่อนคลอดไม่มีแรงเบ่ง แล้วล้วงช่วยคลอด ซึ่งต่อให้ล้างมือสะอาด การล้วงช่วยคลอดก็เป็นการผลักเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในโพรงมดลูก เพราะในช่องคลอดมีแบคทีเรียมากกว่า 10 ชนิด แม่สุกรทุกตัวที่ล้วงช่วยคลอดติดเชื้อในโพรงมดลูก ซึ่งเมื่อติดเชื้อก็จะสร้างสารพิษ

        -อี.โคไลในลำไส้เพิ่มจำนวน โดยปกติอี.โคไลจะอาศัยในลำไส้ใหญ่ ซึ่งอี.โคไลเป็นแบคทีเรียฉวยโอกาส จะอาศัยอยู่แบบไม่สร้างปัญหา แต่ถ้าท้องผูกจากเยื่อใยในอาหารไม่พอ ขาดน้ำ หรือให้โปรตีนย่อยยาก ให้โปรตีนที่มากเกินไป ย่อยได้ไม่หมด โปรตีนที่เหลือค้างในลำไส้ pH เป็นด่าง ทำให้ อี.โคไล เพิ่มจำนวนแล้วสร้างสารพิษ

        สารพิษที่เกิดขึ้นทั้งที่เต้านม กระเพาะปัสสาวะ โพรงมดลูก ลำไส้ แม้เพียงเล็กน้อยถ้าดูดซึมเข้ากระแสเลือดไปมีผลที่ไฮโปทาลามัส ซึ่งจะไปลดการหลั่งโปรแลกตินที่ต่อมใต้สมอง โปรแลกตินคือ ฮอร์โมนที่กระตุ้นแมมโมรี่แกรนด์ ให้สร้างน้ำนม กระบวนการดังกล่าวจะกระทบการหลั่งนมน้ำเหลือง กระทบการสร้างน้ำนม

        การจัดการในปัจจุบัน ต้องเน้นเล้าคลอด ซึ่งถ้าเล้าคลอดดีส่งผลดีต่ออนุบาล สุกรขุน ทั้งนี้คงต้องมองต้นทางก่อนว่าสุกรทดแทนเตรียมมาถูกต้องหรือไม่ สุกรสาวทดแทนต้องไม่ติดพีอาร์อาร์เอสในกระแสเลือด เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อพีอาร์อาร์เอสให้กับแม่นางโดยตรง ไม่เช่นนั้นจะสร้างปัญหาให้คุณภาพเล้าคลอด

        การจัดการเล้าคลอด ต้องดูแลแม่อุ้มท้องโดยเฉพาะแม่ท้องแก่ 90 วันขึ้นไป ถ้าย้ายเข้าคลอดป่วยจะมีผลกระทบต่อคุณภาพการสร้างเซลล์นมน้ำเหลือง คุณภาพอาหารและน้ำเป็นเรื่องสำคัญ น้ำต้องไม่ปนเปื้อนเชื้ออี.โคไล ซัลโมแนลล่า และมีโปรแกรมคุมโรคสำคัญเพื่อให้คุณภาพเล้าคลอดดี

        ในภาคสนามในช่วงแม่รอคลอดจะถูกกดภูมิ จะต้องควบคุมการป่วยของแม่ เพราะการป่วยของแม่จะกระทบกับคุณภาพนมน้ำเหลือง ลูกต้องได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่เพื่อลดการติดเชื้อสำคัญๆ ที่แม่แพร่มาต้องสร้างสมดุลระหว่างการสัมผัสเชื้อ และสร้างภูมิให้เรียบร้อยก่อน หลายโรคต้องทำเช่นนี้โดยเฉพาะแบคทีเรียฉวยโอกาส ต้องอาศัยกลไกสัมผัสเชื้อพอเพียงในช่วยที่มีภูมิจากแม่ ส่วนใหญ่จะใช้ยาเพื่อควบคุมการติดเชื้อตรงนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อขบวนการสร้างนมน้ำเหลือง อย่างน้อยในช่วง 1 สัปดาห์ ก่อนและหลังคลอด แต่ช่วงเลี้ยงลูกจนถึงหย่านมไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

        แม่หอบเป็นเรื่องใหญ่ ตั้งแต่เข้าไปรอคลอดจนถึงอย่านม ต้องไม่มีแม่หอบให้เห็น ถ้าแม่ไม่หอบจะมีอัตราการหายใจน้อยกว่า 12-14 ครั้งต่อนาที ส่วนใหญ่นอนตะแคงให้ลูกกินนม ถ้าแม่นอนหมอบหายใจถี่ แสดงว่าหอบ ซึ่งระบบน้ำหยดที่ดี ช่วยได้ ทั้งนี้เมื่อแม่เริ่มหอบก่อนคลอดควรราดน้ำเบาๆ บนตัวแม่ เพื่อคลายความร้อน ควรเบาน้ำหยดในช่วง 2-3 วันแรกที่ลูกเกิดไม่ให้น้ำถูกตัวลูกมากเกินไป ต้องเตรียมกล่องกก และทำให้อุ่น (30-32 องศาเซลเซียส) ประมาณ 2-3 ชั่วโมงก่อนการคลอด ช่วงก่อนกำลังคลอด แม่ควรอยู่ในสภาพที่เงียบสงบ ปลอดการรบกวน ขบวนการคลอดเป็นไปโดยธรรมชาติ ล้วงช่วยคลอดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

        การให้ออกซีโตชิน ยาฉีดลมเบ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ไม่แนะนำให้ใช้ในช่วงคลอดถ้าไม่จำเป็น ให้ใช้ช่วงหลังคลอดเป็นหลักเพราะถ้าฉีดออกซีโตชินช่วงคลอดเกินขนาดจะทำให้มดลูกหดเกร็งถึงขั้นมดลูกแตก เลือดตกในแม่ตาย หรือทำให้สายสะดือขาด ขาดออกซิเจน ทำให้ลูกตายคลอดลูกอ่อนแอ ปกติจะฉีดออกซีโตชินหลังคลอดเพื่อเร่งให้มดลูกเข้าอู่ ลดการติดเชื้อผ่านทางปากมดลูก ขนาดของออกซีโตชินที่ใช้อยู่ที่ 10 ยูนิตต่อตัวเข้าเส้นเลือด 20 ยูนิตต่อตัวเข้ากล้ามเนื้อ

        การฉีด NSAIDA หลังคลอดช่วยป้องกันควบคุมปัญหา PDS ได้ดี แต่ถ้ามีพาราเซทตามอล ผสมในอาหารแม่ช่วงก่อนและหลังคลอด ก็ไม่จำเป็นต้องฉีด NSAIDS ผลดีของการฉีด NSAIDS ได้แก่ ด้านการอักเสบ ระงับปวด ลดไข้ ด้านฤทธิ์ของชีวพิษภายในแบคทีเรีย สามารถใช้ในกรณีติดเชื้อ หรือภาวะกดภูมิคุ้มกันได้

        แต่การฉีด NSAIDS เกินขนาดจะชักนำให้เกิดแผลเลือดออกในกระเพาะอาหารได้โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ลูกดกๆ ถ้ามีแผลในกระเพาะอาหารระดับหนึ่งอยู่แล้วจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เลือดออกตาย มักจะเกิดขึ้นช่วงหลังคลอด

        ถ้าแม่ป่วยควรให้สารน้ำชนิดเป็นด่างช่วย เพื่อเร่งการขับพิษออกจากร่างกาย ลดภาวการณ์เป็นกรดของร่างกาย ทำให้สุกรฟื้นตัวเร็ว

        เร่งการกินได้ของแม่หลังคลอดให้มากที่สุดเพื่อสร้างน้ำนม ฉีดยาด้านจุลชีพ 2-3 วันติดต่อกันหลังคลอด เพื่อควบคุม PDS ในกรณีที่แม่ผ่านการล้วงช่วยคลอด หรือแสดงอาการป่วยชัดเจน ทั้งนี้แม่ท้องแรกจะเครียดง่ายและไวต่อการติดเชื้อ

        ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้ โพรสตาแกรนดิน เหนี่ยวนำการคลอด มีงานวิจัยชี้ชัดว่าการใช้ โพรสตาแกรนดินสร้างผลเสียมากกว่าผลดี เพราะ 15-20% จะเป็นการคลอดก่อนกำหนดซึ่งกระทบต่อการได้รับนมน้ำเหลือง ยิ่งลูกดกภาพความเสียหายยิ่งชัดเจน

        ปัจจุบันแนะนำให้ฉีด 24-36 ชั่วโมงหลังคลอดจะช่วยให้มดลูกบีบตัวอย่างต่อเนื่อง มดลูกเข้าอู่สมบูรณ์ลดโอกาสการติดเชื้อ เพิ่มอัตราการผสมติดสูง

        กรณีลูกดกมาก ลูกที่มีขนาดเล็ก ต้องเพิ่มความสามารถในการกินนมน้ำเหลือง ให้สารเพิ่มความแข็งแรงกระตุ้นการกินนมน้ำเหลือง จับกินนมน้ำเหลืองเพิ่มเติม

        การย้ายฝาก ตัดเขี้ยว ตัดหาง ในวันถัดไปหลังวันคลอด ทำวันที่ 2-3 หลังคลอด เริ่มให้กินอาหารเลียรางที่สดใหม่เสมอ ที่อายุ 10-15 วัน เพื่อกระตุ้นการพัฒนาการสร้างเอนไซม์ ไม่ควรหย่านมต่ำกว่า 24-25 วัน ไม่เช่นโอกาสที่จะเสียหายจากสเตรปโตคอกคัส เกลสเซอร์ มากเป็นพิเศษ

 

ที่มา : นิตยสารโลกสุกร ฉบับที่ 155 เดือนพฤศจิกายน 2558

       

        

Visitors: 396,258