เมล็อกซิแคมยาลดอักเสบชนิดใหม่ในวงการปศุสัตว์

เมล็อกซิแคมยาลดอักเสบชนิดใหม่ในวงการปศุสัตว์

โดย น.สพ.ศุภชัย  จมะวัตร Senior Technical Advisor, Boehringer IngeIheim (Thai) Ltd.

         หากกล่าวถึงยาแก้อับเสบ หรือ ยาลดอักเสบ หลายๆ ท่านคงนึกถึงยาอะม็อกซีซิลิน เนื่องจากเป็นชื่อยาที่คุ้นหู และเรียกกันติดปาก แต่ในความเป็นจริงแล้วยาอะม๊อกซีซิลิน นั้นไม่ใช่ยาแก้อักเสบ หากแค่เป็นยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรใช้ในกรณีที่สุกรมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียเท่านั้น เช่นเดียวกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ เช่น ไทอะมูลิน, ซีทีซี, โคลิสติน เอ็นโรฟลอกซาซิน เป็นต้น ส่วนยาลดอักเสบนั้นจะไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ใช้สำหรับลดปัญหาการอักเสบของเนื้อเยื่อเท่านั้น

        การอักเสบ คือ กลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งต่างๆ ที่มาทำลาย หรือ สร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ การอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อของร่างกายถูกทำลายทางกายภาพ เช่น บาดแผลที่เกิดจากมีดบาด หรือ ไฟลวก เป็นต้น อีกชนิดหนึ่งคือการอักเสบแบบมีการติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อโรค และมีการทำลายเซลล์ของร่างกาย เป็นต้น

        เมื่อเซลล์ร่างกายถูกทำลาย จะทำให้เกิดการหลั่งสาร สื่ออักเสบต่างๆ ออกมา เช่น ทรอมบอกเซน (Thromboxane) และ โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งสารเหล่านี้จะส่งผลให้เซลล์ หรือ เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น หลอดเลือดขยายตัวมากขึ้น ระบบประสาทมีความไวต่อความรู้สึกมากขึ้น น้ำในหลอดเลือดสามารถออกจากหลอดเลือดมาอยู่บริเวณถูกทำลายได้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดขบวนการในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณที่เสียหาย หรือ ทำลายเชื้อโรคที่ติดเชื้อในบริเวณนั้น แต่ขบวนการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ บริเวณดังกล่าวจะเกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน สูญเสียการทำหน้าที่ หรือที่เราเรียกว่าการอักเสบนั่นเอง

        เมื่อเกิดการอับเสบสิ่งที่เราจะต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน คือ การให้ยาลดการอักเสบเพื่อให้เซลล์ หรือเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวกลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยเร็วที่สุด ซึ่งยาลดอักเสบนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

        1. ยาลดอักเสบชนิดที่เป็นสเตียรอยด์ (sterold) เช่นเต็กซาเมทาโซน (dexamethasone), เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นต้น

        2.  ยาลดอักเสบชนิดที่ไม่สเตียรอยด์ (Non-steroldalanti Inflammatory drugs หรือ NSAIDs, เอ็นเสด) เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol), ไดไพโรน (Dipyrone), ฟลูนิซีน เมกลูมีน (Flunixine meglumine), กรด โทลฟีนามิก (Tolfenamic acid) และ เมลอกซีแคม (meloxicam) เป็นต้น

        ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความสามารถในการลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ โดยการยับยั้งไม่ให้เกิดสารอักเสบ Thromboxane และ Prostaglandlns เหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่าง คือ ขั้นตอนในการยับยั้งการเกิดสารดังกล่าวที่แตกต่างกันดังรูปที่ 1

                                                                              ดูภาพประกอบ 

รูปที่ 1  แสดงกลไกการยับยั้งสารสื่ออักเสบ โดย Steroid จะไปยับยั้ง เอนไซม์ฟอสโฟโลเปส Phospholipase ส่วน NSAIDs จะไปยับยั้งที่เอนไซม์ ชัยโคออกซีจีเนส Cyclo-oxygenase

 

        นอกจากนี้เอนไซม์ ชัยโคออกซีจีเนส (Cyclo-oxygenase) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

        1.  เอนไซม์ Cyclo-oxygenase ชนิดที่ 1 หรือ ค๊อก 1 (Cox 1) ซึ่งเป็นเอนไซม์ชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ช่วยในกระบวนการเคลือบของกระเพาะอาหาร และช่วยในการทำงานของไต ซึ่งหากเอนไซม์ Cox 1 ถูกยับยั้งจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

        2.  เอนไซม์ Cyclo-oxygenase ชนิดที่ 2 หรือ ค๊อก 2(Cox-2) เป็นเอนไซม์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการอักเสบของเนื้อเยื่อทำให้เกิดสารอักเสบ Thromboxane และ Prostaglandins ทำให้เกิดอาหาร ปวด บวม แดง ร้อน เป็นต้น

        ดังนั้นจะเห็นได้ว่า NSAIDs ที่ดี คือ NSAIDs ที่เด่นในเรื่องของการยับยั้งเอนไซม์ Cox 2 เป็นหลัก โดยในปัจจุบัน NSAIDs ที่ใช้อยู่ทั้งในวงการยาคนและยาสัตว์นั้นมีอยู่หลายชนิด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้เกณฑ์ความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ Cyclo-oxygenase เป็นหลักคือ

        1.  NSAIDs กลุ่มที่ไม่จำเพาะต่อเอนไซม์ Cox (Non selective Cox)

        -  NSAIDs กลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ในการยับยั้งทั้งเอนไซม์ Cox 1 และ Cox 2 ส่งผลให้สุกรที่ได้รับยาในกลุ่มนี้อาจได้รับผลข้างเคียงจากการที่เอนไซม์ Cox 1 ถูกยับยั้งด้วย เช่น กระเพาะทะลุ เป็นต้น โดยยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Dypyrone, Phenylbutazone, Flunixin meglumine เป็นต้น

        2.  NSAIDs  กลุ่มที่จำเพาะต่อเอนไซม์ Cox 2 มากกว่า Cox 1 ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ชนิด

        -  จำเพาะต่อ Cox 2 มากกว่า Cox 1 (Preferential Cox 2) : ยากลุ่มนี้จะยังมีผลต่อเอนไซม์ Cox2 มากกว่า Cox 1 เช่น เมล็อกซิแคม (Meloxicam), คาโปรเฟน (Carprofen) เป็นต้น

        -  จำเพาะต่อ Cox 2 เท่านั้น (Selective Cox 2) : เช่น ซีลีค๊อกซิบ (Celecoxib) เป็นต้น

        ในปัจจุบันยาลดอักเสบที่มีใช้อยู่ในวงการปศุสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็น NSAIDs กลุ่มที่ไม่จำเพาะต่อเอนไซม์ Cox ซึ่งจะมีความสามารถในการลดอักเสบ แต่จะมีความปลอดภัยจะน้อยกว่า NSAIDs ชนิดที่จำเพาะเจาะจงต่อ Cox 2

        เมล็อกซิแคม (Meloxicam) เป็นยาลดอักเสบกลุ่ม NSAIDs ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางนั้งในยาคน และยาสัตว์ โดยออกฤทธิ์เจาะจงต่อเอนไซม์ Cox 2 เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีความสามารถเด่นในด้านการลด สารพิษจาก แบคทีเรีย หรือ endotoxin ดังนั้นควรใช้ยานี้ในแม่สุกรหลังคลอดเป็นโปรแกรมมาตรฐานเพื่อลดปัญหาเต้านมอักเสบทั้งแบบแสดงอาการ และแบบไม่แสดงอาการ นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์ในด้านการลด endotoxin ที่มาจากเชื้อ E.coli ซึ่งปกติแล้วสารดังกล่าวมักจะพบได้เสมอในภาวะที่แม่สุกรมีความเครียดจากการคลอด หรือ จากการติดเชื้อเข้าสู่เต้านม ซึ่งสาร  endotoxin ดังกล่าวจะมีฤทธิ์ในการกดการหลั่งฮอร์โมนโปรแลกตินจากสมอง ซึ่งจะส่งผลให้แม่สุกรนมแห้งได้

        ดังนั้นหากแม่สุกรได้รับยาเมล็อกซิแคม (Meloxicam) ที่สามารถลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ รวมถึงลดปัญหาจาก endotoxin ได้ ก็จะมีผลดีต่อทั้งตัวแม่สุกร และลูกสุกรโดยประโยชน์โดยตรงต่อตัวแม่สุกร คือ แม่จะมีสุขภาพดีขึ้นจากการที่หายจากอาการเจ็บปวดหลังคลอด สามารถลุกกินอาหารได้เร็ว ส่งผลให้สามารถผลิตน้ำนมได้เต็มที่ ส่วนลูกสุกรจะพบว่าเปอร์เซ็นต์ตายก่อนหย่านมลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกสุกรที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ น้ำหนักหย่านมรวมทั้งครอกดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำนมแม่ที่ดีขึ้น เนื่องจากไม่มีปัญหาเต้านมอักเสบนั่นเอง

        ในที่นี้ผู้เขียน ขอเสนอการศึกษาของฟาร์มสุกรในประเทศสเปน ซึ่งมีปัญหาเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการโปรแกรมยาพื้นฐานหลังคลอดของฟาร์มนี้คือ แม่สุกรทุกตัวจะได้รับยาปฏิชีวนะ อะม๊อกซีซิลิน และ ฮอร์โมน อ๊อกซีโตซิน (oxytoin) หลังคลอด โดยในการศึกษานี้ได้ทำการทดลองโดยให้ยาลดอักเสบเมล็อกซิแคมเพิ่มเติม เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาตามโปรแกรมพื้นฐานของฟาร์ม การศึกษานี้วัดผลโดยประเมินจากอัตราการตายของลูกสุกรก่อนหย่านม และน้ำหนักหย่านมของลูกสุกร โดยมีรายละเอียดดังตารางที่ 1

                                                                            ดูภาพประกอบ

        จากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่าแม่สุกรกลุ่มที่ได้รับยาเมล็กซิแคมช่วงหลังคลอด มีเปอร์เซ็นต์ลูกตายก่อนหย่าลดลง (3.4% เทียบกับ 4.6%) นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำหนักหย่านมในลูกสุกรกลุ่มดังกล่าวยังดีกว่ากลุ่มควบคุมถึง 0.5 กิโลกรัมต่อตัว ซึ่งเมื่อคิดเป็นน้ำหนักหย่านมรวมต่อครอกจะพบว่าได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 6.4 กิโลกรัม

        โดยสรุปจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ยาเมล็อกซิแคม สามารถช่วยลดปัญหาเต้านมอักเสบหลังคลอดได้อย่างชัดเจน ช่วยเพิ่มจำนวนลูกสุกรหย่านม และ น้ำหนักหย่านมของลูกสุกร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตสุกร เนื่องจากลูกสุกรที่มีน้ำหนักหย่านมสูง จะเป็นพื้นฐานที่ดี ทำให้การเลี้ยงสุกรในระยะอนุบาลและสุกรขุน มีอัตราการเจริญเติบโต และ อัตราเลี้ยงรอดที่ดีตามไปด้วย สุดท้ายนี้ทางผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนา และปรับปรุงการดูแลแม่หลังคลอด เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์มที่ดีขึ้นต่อไป

ที่มา : http://www.pigprogress.net/PageFiles/27314/001_boerderij-down-load-PP5312Do1.pdf

 

ขอขอบคุณนิตยสาร "สัตว์บก"

 

 

Visitors: 396,260