ชุติมาเรียกประชุมแก้ปัญหาข้าวสาลี แง้มสูตรให้นำเข้าแค่ส่วนต่างที่จำเป็น

ชุติมาเรียกประชุมแก้ปัญหาข้าวสาลี แง้มสูตรให้นำเข้าแค่ส่วนต่างที่จำเป็น

19 มิ.ย. 2559 แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้จะมีการประชุมคณะทำงานแผนการผลิต การตลาด วัตถุดิบอาหารสัตว์ครบวงจร ปี 2559 ซึ่งมีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2559 และกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโดยปกติไทยจำเป็นต้องมีการนำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้านเพื่อมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เฉลี่ยปีละ 1.6 แสนตัน เพราะผลผลิตไม่เพียงพอ แต่อาจต้องกำหนดแนวทางดูแลเพื่อไม่ให้ส่งราคาผลผลิตข้าวโพดในประเทศ ปี 2559 ที่จะออกสู่ตลาดในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ประกอบกับก่อนหน้านี้ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ทำหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ถึงปัญหาการนำเข้าข้าวสาลี เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ปริมาณเพิ่มมากขึ้น จนโรงงานอาหารสัตว์หยุดรับซื้อผลผลิต

ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง 4.5 แสนครัวเรือน ทั้งนี้ สภาเกษตรกรฯได้เรียกร้องให้กรมการค้าภายในกำหนดมาตรการดูแลหลังข้าวสาลี ตามที่จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 มีมติขึ้นบัญชีสินค้าข้าวสาลีเป็นสินค้าควบคุม แต่ยังไม่มีมาตรการดูแล พร้อมทั้งขอให้กำหนดมาตรการดูแลการนำเข้า จากปัจจุบันที่เอกชนสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้อย่างเสรีไม่มีโควตาภาษี

"กระทรวงต้องเชิญทุกฝ่ายมาหารือเพื่อกำหนดมาตรการดูแลที่เหมาะสมและสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยในส่วนของเกษตรกร รวมไปถึงกลุ่มโรงสีที่ขายบายโปรดักต์ของข้าวมาเป็นอาหารสัตว์ กังวลว่าราคาพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์จะลดต่ำลง ขณะที่ฝ่ายผู้รับซื้อซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ ก็มีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาใช้ผลิต เพื่อให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ก็ต้องมาหาทางออกร่วมกัน"

แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวทางเบื้องต้นอาจจะหารือถึงความไปได้ที่อาจต้องให้มีการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แต่ต้องไม่ให้กระทบต่อผลผลิตข้าวโพดที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ และหากผู้ผลิตอาหารสัตว์ยืนยันว่าจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีอีก อาจจะต้องหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะให้รับซื้อผลผลิตข้าวโพด มันสำปะหลังจากเกษตรกรให้หมดก่อน และหากผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพออีกปริมาณเท่าไร ก็ให้นำเข้าเท่านั้น ตามความจำเป็น เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์มีต้นทุนที่ไม่สูง สามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ เพื่อแข่งขันส่งออกเนื้อไก่กับตลาดโลกได้

สำหรับปริมาณการนำเข้าข้าวโพดในปี 2558 มีปริมาณ 1.66 แสนตัน ส่วนในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) 2559 มีปริมาณนำเข้า 74,000 ตัน ส่วนข้าวสาลีมีการนำเข้า 3.4-3.5 ล้านตัน และในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ปี 2559 มีการนำเข้ามาแล้ว 1.1 ล้านตัน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Visitors: 397,110