กรมปศุสัตว์เตรียมกำกับดูแลอาหารสัตว์ผสมยาและเชื้อดื้อยาสัตว์ตามแนว EU โดยใช้ France Model

กรมปศุสัตว์เตรียมกำกับดูแลอาหารสัตว์ผสมยาและเชื้อดื้อยาสัตว์ตามแนว EU โดยใช้ France Model

 10 กันยายน 2558 กรุงเทพฯ – กระแสการลดการใช้ยาปฏิชีวนะหลายประเทศในกลุ่ม EU ได้สร้างความกังวลถึงผลการใช้ยากลุ่มนี้ในแต่ละรูปแบบ ที่กรมปศุสัตว์กำลังใช้แนวของประเทศฝรั่งเศสเป็นกรณีศึกษา

การอบรมในครั้งนี้มีนายธนบดี รอดสม ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบและรับรองคุณภาพสัตว์อุตสาหกรรม กรมปศุสัตว์ เป็นประธานจัดการอบรมเพื่อการเตรียมพร้อมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบการกำกับดูแลอาหารสัตว์ผสมยาและเชื้อดื้อยาในสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ยาสัตว์ของประเทศไทยได้อย่างสมเหตุสมผล และใช้วางแผนการปฏิบัติงานในปีถัดไป

ในขณะที่สหภาพยุโรปเองยังไม่มีการออกกฎหมายบังคับใช้ในเรื่องนี้ แต่หลายประเทศได้เริ่มปฏิบัติกันอย่างจริงจัง โดยมีความคืบหน้าไปแล้วใน 8 ประเทศ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม สหราชอาณาจักร และสวีเดน

สำหรับประเทศฝรั่งเศสได้วางเป้าหมายลดการใช้ 25% ภายใน 5 ปี ภายใต้แผนปฏิบัติการที่ให้การสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศส ภายใต้ชื่อ “National Action Plan for the reduction of antibiotic resistance risks in veterinary medicine” ที่เรียกสั้นๆ ว่า “Ecoantibio2017” ซึ่งเป็นภาคสมัครใจ โดยปัจจุบันผ่านไป 3 ปีลดได้แล้ว 12.7% โดยเฉพาะในกลุ่มยาควิโนโลน (Quinolones) และยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ลดการใช้ลงไปถึง 15% โดยแผนนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ

  1.       ลดการกระจายของการดื้อยาซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ยาสัตว์ที่ส่งผลมาถึงปัญหาสาธารณสุข
  2.       หาวิธีการรักษาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนายาปฏิชีวนะใหม่ๆ ที่จำกัดการใช้ยาสัตว์

โดยวิทยากรจากฝรั่งเศสที่มาเล่าประสบการณ์ในการควบคุมยาผสมในอาหารสัตว์ (Medicated  feed) และการควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพ(Antimicrobial) ประกอบด้วย

  •        Dr.Catherine Lambert – Pharmacist รองผู้อำนวยการหน่วยงานผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ของฝรั่งเศส โดยทำหน้าที่ประสานงานด้านนี้กับ OIE ด้วย
  •        Dr.Sandrine Delafosse เป็นสัตว์แพทย์ประจำหน่วยงานอาหารสัตว์ เกษตรและการบริการทางสัตวศาสตร์ กระทรวงเกษตรของฝรั่งเศส

วัตถุประสงค์หลักในการต่อสู้กับปัญหาการดื้อยาในสัตว์ซึ่งมีการโต้เถียงกันถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดว่ามาจากฝั่งการให้ยากับสัตว์ที่เป็นอาหารของคนของสัตว์แพทย์หรือการให้ยาของแพทย์ที่รักษาคนยังคงเป็นข้อที่ต้องหาทางแก้ไข โดยสุดท้ายของการแก้ปัญหานี้ก็เพื่อ ความปลอดภัยของผู้บริโภค อาหารปลอดภัย สุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ และรวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวได้เคยประชุมร่วมมือกันทั้งระหว่าง Codex, OIE และ WHO ที่มุ่งไปในเรื่องการดื้อยาของสัตว์ และปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในจำนวนที่เหมาะสม  หรือแม้แต่การประชุมร่วมกันระหว่าง EU กับสหรัฐอเมริกาในเรื่องดังกล่าวที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เข้าร่วมประชุมด้วยในประเด็นดังกล่าว

สำหรับรูปแบบการปฏิบัติของฝรั่งเศสจะเป็นในแนวของ ANSES ที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่อง อาหาร สิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบอาชีพด้านสุขภาพ และความปลอดภัย โดยหน่วยงานนี้มีการทำงานร่วมกันกับหลายองค์กรในยุโรป เช่น EFSA, ECHA , EEA, EU-OSHA และ EMA   

สำหรับแนวทางปฏิบัติของกรมปศุสัตว์ที่คาดว่าจะใช้แนวทางของฝรั่งเศส ซึ่งการจะออกเป็นประกาศกระทรวงที่เป็นกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 หรือจะออกเป็นภาคสมัครใจนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาในรายละเอียดแผนปฏิบัติงานของ ANSES ต่อไปซึ่งในเบื้องต้นภาคเอกชนน่าที่จะนำไปปฏิบัติเพื่อลดการใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์ลงมาก่อน

Visitors: 397,127