การปฏิบัติตามวาระแห่งชาติโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร…ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมมืออย่างเต็มที่

การปฏิบัติตามวาระแห่งชาติโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร…ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมมืออย่างเต็มที่

26 เมษายน 2562 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 จากการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม สามารถโยงงบประมาณเพื่อทำความเข้าใจมาตรการแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย ดังนี้

รายละเอียดแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในประเทศไทย

กรมปศุสัตว์ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรโดยมีระยะเวลาการดำเนินการ 3 ระยะ 8 มาตรการ โดยเสนอเป็นวาระแห่งชาติ มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ.2562-2564) เป็นเงินทั้งสิ้น 1,822,542,900 บาท ประกอบด้วย

  • การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค วงเงิน 148,542,900 บาท
  • การทำลายและค่าชดใช้ในการทำลายสุกรและซากสุกร วงเงิน 1,674,000,000 บาท
  • งบกลางในปีงบประมาณ 2562 สำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินใช้เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร วงเงิน 53,604,900 บาท

สำหรับงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีมีเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ คือ วงเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินใช้เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร วงเงิน 53,604,900 บาท

ปัจจุบันงบประมาณดังกล่าว ถูกใช้ไปในขั้นของการป้องกันเฝ้าระวัง ประกอบไปด้วยการเข้มงวด ตรวจค้น ทำลายบริเวณด้านกักกันสัตว์ การเข้าออกของคน ตรวจจับสินค้าที่มีความเสี่ยง การพ่นฆ่าเชื้อยานพาหนะ คนผ่านแดน โดยภาคเอกชนโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและกลุ่มผู้เลี้ยงได้ร่วมสมทบทำโรงล้างรถ สถานีพ่นฆ่าเชื้อไป 5 สถานี ประกอบด้วย

  1. ด่านหนองคาย ดำเนินการโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดใช้งานแล้ว….โดยอีก 4 ด่านอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการก่อสร้าง
  2. ด่านเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ดำเนินการโดยบริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)
  3. ด่านจังหวัดมุกดาหาร ดำเนินการโดยบริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)
  4. ด่านจังหวัดนครพนม ดำเนินการโดยเครือเบทาโกร
  5. ด่านปอยเปต จังหวัดสระแก้ว ดำเนินการโดยบริษัท ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)

               แผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย แบ่งการดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้

 

              1. โครงสร้างการบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ จัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ และภาคเอกชน

               2. แผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ

                       2.1 ระยะก่อนเผชิญเหตุการณ์ระบาด เป็นการดำเนินการเฝ้าระวัง เตือนภัย ป้องกันโรค และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อป้องกันและลดความเสียหายหากมีโรคระบาดเกิดขึ้น

                       2.2 ระยะเผชิญเหตุการณ์ระบาด การตอบสนองในภาวะฉุกเฉินเมื่อมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยการจัดการควบคุมโรคที่เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน เพื่อเผชิญเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลดความสูญเสียจากการแพร่กระจายของโรคที่จะมีต่อทรัพย์สินของเกษตรกรและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคให้น้อยที่สุด

                       2.3 ระยะภายหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาด เป็นการดำเนินการฟื้นฟูเพื่อปรับสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบให้กลับสู่ภาวะปกติ หรือพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม ลดปัญหาการเกิดโรคอุบัติซ้ำ โดยการนำปัจจัยในการลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมาใช้ในการฟื้นฟู

               โดยประกอบด้วย 8 มาตรการ คือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อน การป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของฟาร์ม การเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังโรค การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ  การพัฒนาการควบคุมโรค การเพิ่มศักยภาพในการสื่อสารความเสี่ยง และการจัดการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร

               ทั้งนี้ หากกรณีที่ประเทศไทยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดเป็นไปตามมาตรฐานสากล  สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้ จะเป็นโอกาสทางธุรกิจเนื่องจากความต้องการสุกรของสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา เพิ่มสูงขึ้น

สรุปงบประมาณวาระแห่งชาติ ปี 2562 จำนวน 53,604,900 บาท เป็นวงเงินจาก การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค วงเงิน 148,542,900 บาท ส่วนวงเงินที่จะขออนุมัติเพิ่มสำหรับการทำลายและค่าชดใช้ในการทำลายสุกรและซากสุกร วงเงิน 1,674,000,000 บาท ถ้าเกิดการระบาด รวมทั้งสิ้น 1,822.54 ล้านบาท ที่มีการขออนุมัติกรอบวงเงินไว้ก่อนหน้าแล้วโดยกรมปศุสัตว์

ภาคอาหารสัตว์ไทยเริ่มกังวล หลังยอดขายอาหารสุกรในเวียดนามลดลง 30-50%

               ยอดจำหน่ายอาหารสัตว์ในกลุ่มอาหารสุกรลดลง 30-50% ในประเทศเวียดนาม สร้างความกังวลกับกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ไทยไม่น้อยในขณะนี้ โดยนอกเหนือจากการปฏิบัติงานของกรมปศุสัตว์ตามงบประมาณของวาระแห่งชาติที่ทำงานร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในระบบเฝ้าระวังป้องกันรอบนอกแล้ว Biosecurity ในระดับฟาร์มสำคัญที่สุด

               ล่าสุดนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้แต่งตั้งคุณสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประธานคณะกรรมการเฝ้าระวังป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีการประชุมแต่งตั้งรายจังหวัดในวันนี้(26 เมษายน 2562) ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขอนแก่น

มาตรการเฝ้าระวังในประเทศต่างๆ

โดยระดับการเฝ้าระวังป้องกันของไทยกับนานาชาติจะมีกรอบในลักษณะเดียวกัน ยกตัวอย่างมาตรการของสหรัฐอเมริกาได้มีมาตรการ 6 ข้อ คือ

          1. การเพิ่มกำลังทีมสุนัขดมกลิ่น ซึ่งได้จัดทีมใหม่เพิ่มขึ้น 60 ทีมรวมทั้งหมดกว่า 179 ทีม ในการตรวจจุดเทียบสินค้าของสหรัฐทั้งในสนามบินและในท่าเรือเพื่อตรวจหาสินค้าลำเลียงที่มีสุกรหรือผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ผิดกฎหมายและเพื่อความมั่นใจว่าผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรจะถูกตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้งเพื่อยืนยันความปลอดภัย

          2. เพิ่มระดับการตรวจสอบและการบังคับใช้สำหรับการจัดการขยะเปียกเพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดการให้ความร้อนจนถึงจุดที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อได้

          3. เพิ่มการเฝ้าระวังในส่วนของผู้ผลิตรวมไปถึงความสำคัญของการประเมินตนเองของการดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพในการเพาะเลี้ยงของผู้ผลิต

          4. ความถูกต้องของงานวิจัย และวิธีตรวจสอบที่น่าเชื่อถือเพื่อคัดกรองเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรในเมล็ดพืช อาหารสัตว์สารเติมแต่งในอาหารสัตว์ และตัวอย่างสารคัดหลั่งในปากของสุกร

          5. ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐของแคนาดาและเม็กซิโกเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรในอเมริกาเหนือมีเป้าหมายในการตอบรับและฟื้นฟูการค้า

          6. ความร่วมมือกับผู้นำในการผลิตสุกรในสหรัฐเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อสู้กับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุม ย้ำในที่ประชุมเรื่องแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย ถ้ามีการระบาดเกิดขึ้นจะต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะถ้าเกิดการระบาดขึ้นประเทศจะเสียหายมาก ซึ่งทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตอนนี้

 

 

 

Visitors: 396,688