4 กลุ่มเกษตรกรเดินหน้าเรียกร้องเพิ่มโครงสร้างค่าใช้จ่าย 85% ต่อ แม้เข้าใจรัฐพยายามแก้ปัญหางบประมาณแผ่นดิน

4 กลุ่มเกษตรกรเดินหน้าเรียกร้องเพิ่มโครงสร้างค่าใช้จ่าย 85% ต่อ แม้เข้าใจรัฐพยายามแก้ปัญหางบประมาณแผ่นดิน

11 กุมภาพันธ์ 2562 สภาเกษตรกรแห่ง – 4 กลุ่มเกษตรกรเห็นชอบเดินหน้ายื่นร้องเรียนต่อรัฐกำหนดค่าใช้จ่ายให้ประเมินตามหลักความจริงแม้เข้าใจเป้าหมายหลัก คือ ให้ทุกคนเข้าระบบภาษี เดินหน้าเรียกร้องยืนยันที่ 85% ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 นี้หน้าทำเนียบ

                ใกล้จะเข้าข่ายมหากาพย์อีกเรื่องหนึ่งแล้ว กับ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ๖๒๙) พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นร้อยละ 60 สำหรับรายได้ที่เกิดกับการจับสัตว์น้ำ การทำเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ จากเดิมกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๕๐๒ ที่ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นร้อยละ 85

            ปมปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประกาศเก่าหรือใหม่ที่น่าจะเป็นปัจจุบันกว่า แต่ตามความเป็นจริงการให้หักค่าใช้จ่ายเป็นร้อยละ 85 จะมีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าสำหรับ 4 กลุ่มรายได้ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ที่ประกอบด้วย

            (๓๑) การจับสัตว์น้ำ - กลุ่มการประมงทั้งหลาย เช่น เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา

            (๓๖) การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาติ - อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ฯลฯ 

            (๓๘) การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ - สุกร ไก่ไข่ ไก่เนื้อ โคเนื้อ โคนม 

            (๔๐) การทำนาเกลือ

โดยตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินร้อยละ ๖๐ เท่ากัน ทั้งหมดจาก 43 ประเภทรายได้ตามมาตรา 40(8)

 

           ซึ่งโดยสภาพความเป็นจริงที่เกษตรกรทั้ง 4 กลุ่ม ไม่สามารถกำหนดราคาจำหน่ายผลผลิตของตัวเองได้  ซึ่งตามสภาพความเป็นจริง กำไรส่วนเกินกลุ่มนี้จะมีเพียง 5-15% โดยเฉลี่ย ทำให้การกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินร้อยละ ๖๐ เท่ากับไปประเมินว่ากลุ่มนี้มีกำไรส่วนเกินถึงร้อยละ 40 ที่จะนำไปหักค่าลดหย่อนแล้วไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามโครงสร้างอัตราภาษี

 อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2560 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ.2561 เป็นต้นไป

ขั้นเงินได้สุทธิตั้งแต่

เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของขั้น

อัตราภาษี

ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้นเงินได้

ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น

0   -     150,000

 150,000

 5

 ยกเว้น*

 0

 เกิน 150,000   -     300,000

 150,000

 5

 7,500

 7,500

 เกิน 300,000   -     500,000

 200,000

 10

 20,000

 27,500

 เกิน 500,000   -     750,000

 250,000

 15

 37,500

 65,000

 เกิน 750,000   -  1,000,000

 250,000

 20

 50,000

 115,000

 เกิน 1,000,000  -  2,000,000

 1,000,000

 25

 250,000

 365,000

 เกิน 2,000,000  -  5,000,000

 3,000,000

 30

 900,000

 1,265,000

 เกิน 5,000,000  บาท ขึ้นไป

 

 35

 

 

            จากกลุ่มรายได้ทั้งหมดจาก 43 ประเภทรายได้ตามมาตรา 40(8) ส่วนใหญ่สามารถกำหนดอัตราค่าบริการ ราคาจำหน่ายได้หมด มีแต่ 4 ภาคเกษตรกรรมนี้เท่านั้นที่จะไม่สามารถทำกำไรส่วนเกินขั้นต้นได้ถึงร้อยละ 40 ด้วย 2 เหตุผลคือ

  1. เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ราคาขายขึ้นลงตามราคาตลาดและอุปสงค์อุปทาน
  2. หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ ข้อ 21 ถึง 26 และ หมวดอาหาร ข้อ 36 ไข่ไก่ และข้อ 45 สุกร เนื้อสุกร เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการที่ 1/2561 โดยในทางปฏิบัติภาครัฐโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะเข้ามาควบคุมสินค้าหมวดอาหาร โดยเฉพาะข้อ 36 ไข่ไก่ และข้อ 45 สุกร เนื้อสุกร เป็นพิเศษกรณีราคาตลาดสูงขึ้นโดยแนวทางจะควบคุมในลักษณะขอความร่วมมือ โดยเฉพาะสุกรขุนหน้าฟาร์มจะมีเกณฑ์ที่ทราบกันดีที่กำไรส่วนเกินจะไม่เกินร้อยละ 20

 

ซึ่งยากที่จะปฏิบัติตามได้ในกรณีของการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสุกร โดยการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องจะเป็นได้ยาก ในส่วนของการจัดหาใบกำกับภาษีกับต้นทุนอาหารต่างๆ ที่ได้มาจากเกษตรกรพืชอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นเหตุผลใหญ่เหตุผลหนึ่งที่เกษตรกรไม่สามารถจัดหาตามข้อกำหนดของกรมสรรพากร กระทรวงการคลังได้ โดยตัวแทนจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ช่วงนี้ราคาอ้อยตกต่ำตันละ 600-700 บาทเท่านั้น นอกจากการให้หักค่าใช้จ่ายที่ต่ำเกินความเป็นจริงแล้ว ในยามที่มีการขายผลผลิตทางการเกษตรที่ขาดทุนแล้ว การคิดภาษีในลักษณะนี้เท่ากับเกษตรกรต้องจ่ายภาษีจากส่วนของต้นทุนของตัวเองด้วย แต่ที่ผ่านมาตนเองก็ยินดีจ่ายเพราะเป็นหน้าที่ของพลเมืองอยู่แล้ว ซึ่งน่าเป็นห่วงมากกับกรณีที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอถึงแม้จะใช้ค่าใช้จ่ายที่ 85% ก็ตาม และยิ่งจะเสียหายมากถ้ามาให้หักค่าใช้จ่ายเพียง 60%

คุณสมคิด เรืองวิไลทรัพย์ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครปฐมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณานำต้นทุนการผลิตสุกรที่คำนวณโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คำนวณทุกไตรมาสมาเป็นข้อมูลในการเรียกร้อง และขอให้ใช้ในการพิจารณาต้นทุนและกำไรส่วนเกินของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรด้วย เพราะเป็นข้อมูลที่ภาครัฐจัดทำขึ้นตามสภาพความเป็นจริงซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ระหว่างภาครัฐเองต้องใช้ข้อมูลระหว่างกันให้เป็นประโยชน์ที่สุด

คุณนุกูล ปิยะศิริสิงห์ กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเห็นด้วยกับแนวทางเรียกร้องต่อและขอให้มีการพิจารณายกเลิกอีกทางเลือกของสรรพากรด้านการจัดเก็บเหมาจากเงินได้พึงประเมินแบบเหมาที่ 1,000 บาทละ 5 บาท ที่ถึงแม้ทำบัญชีถูกต้องและไม่มีกำไรก็ตามสรรพากรยังมีทางเลิกที่จะเก็บเหมาเป็น 1,000 บาทละ 5 บาทด้วย ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร  

คุณสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือคนใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อ 18 มกราคม 2562 ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย ได้กล่าวในที่ประชุมว่าต้องการเห็นการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินที่สะท้อนตามความจริงที่สุด และเห็นด้วยกับการร่วมร้องเรียนเพื่อให้เกษตรกรโดยเฉพาะภาคอีสานที่มีผู้เลี้ยงรายเล็กรายน้อยเป็นจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว

คุณสมพร กมลพรสิน ผู้จัดการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้กล่าวในที่ประชุมว่าเกษตรกรและทุกท่านทราบดีว่ารัฐบาลต้องการแก้ปัญหาการจัดทำงบประมาณแผ่นดินในอนาคตของประเทศ ที่มีงบประมาณรายจ่ายสูงขึ้น ในขณะที่ประมาณการรายรับตามหลังอยู่ทุกปี จึงขอเสนอให้ในการเรียกร้องในครั้งนี้กำหนดระยะเวลาในการผ่อนผันจะทำให้การพิจารณาของรัฐบาลจะเข้าใจและให้เวลากับเกษตรกรซึ่งจะเป็นผลดีกับผลที่จะออกมาของการเรียกร้อง

ที่ประชุมมีมติยื่นข้อเรียกร้องให้คงกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินที่ร้อยละ 85 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อขอเวลาให้เกษตรกรปรับตัวในการทำบัญชีหรือดำเนินการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งฟาร์มสุกรส่วนใหญ่น่าจะสามารถทำได้ซึ่งผลดีจะเอื้อให้ฟาร์มมีการบริหารจัดการทางบัญชีและภาษีได้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยการยื่นข้อเรียกร้องจะร่วมกันยื่นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยระหว่างนี้ให้เกษตรแต่ละแขนงไปรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเพื่อประกอบรายชื่อในการยื่นร้องเรียนดังกล่าว โดยรายชื่อจะต้องสรุปให้ได้ภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้เพื่อให้การยื่นข้อเรียกร้องสมบูรณ์ที่สุด  

                ปัจจุบันหนี้สาธารณะภาครัฐของไทย ณ 31 ธันวาคม 2561 6,833,645.93 ล้านบาท ประมาณการ GDP ปี 2561 จำนวน16,349,100.00 ล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็น 41.80%

ด้านการจัดทำงบประมาณภาครัฐจะเป็นงบประมาณขาดดุลอีก 10 ปี ตามที่กระทรวงการคลังของบประมาณขาดดุลอีก 10 ปี 2562-2572 ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายจัดทำงบประมาณแบบสมดุลภายในปี 2573 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อกันเงินไว้ลงทุนโครงการพื้นฐาน

อยากเห็นภาครัฐประเมินผลได้จากการลงทุนเมกะโปรเจกต่างๆ ในช่วง 10 ปีนี้ ทั้งประเมิน GDP ที่เป็นผลได้โดยตรงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงการพิเศษนั้นๆ ตลอด 10 ปีของการจัดทำงบ การจัดเก็บภาษีที่เป็นผลได้ตรงกับโครงการลงทุนทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดาจากการจ้างงาน ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรกับโครงการเหล่านั้น เพราะป้องกันปัญหาความขัดแย้งแบบที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสว่ารัฐบาลเอื้อภาคเศรษฐกิจต่างๆ แล้วมาบีบภาษีจากพลเมืองชั้นกลางหรือเกษตรกรในการเพิ่มภาษีน้ำมันด้วยเหตุผลแก้ปัญหาโลกร้อนของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสที่มีแผนลดภาษีนิติบุคคล จาก 33% เป็น 21% เช่นเดียวกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์กับการลดภาษีนิติบุคคลในปี 2561 จาก 35% เป็น 21% ซึ่งหลายประเทศมีการนโยบายการคลังคล้ายกัน คือ การสร้างหนี้สาธารณะเพื่อไล่ล่า GDP ซึ่งรัฐบาลโดนัลด์ ทรั๊มป์ ก็กำลังเผชิญปัญหาด้านงบประมาณรายจ่ายเช่นกัน

 

Visitors: 396,746