ทันโรค ทันสถานการณ์ ตอน อีเพอร์ริโทรซูโนซิส

ทันโรค ทันสถานการณ์ ตอน อีเพอร์ริโทรซูโนซิส (Eperythrozoonosis)

น.สพ.ยุทธพล เทียมสุวรรณ Techmical Manager, M G PHARMA Co., Ltd.

 

        หลายโรคในสุกรมักเกิดขึ้นช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนฤดู โดยโรคที่มักพบได้บ่อยๆ ในช่วงเปลี่ยนฤดูนี้ คงหนีไม่พ้นต้องมี โรคอีเพอร์ริโทรซูโนซิส (Eperythrozoonosis) รวมอยู่ด้วยเป็นแน่แท้

        ความผิดปกติที่เกษตรกรผู้เลี้ยงมักพบได้บ่อยๆ คือ สุกรป่วย ไม่กินอาหาร มีไข้สูง ซีด เหลืองดีซ่าน ที่พบได้ในสุกรทุกช่วงอายุ ส่วนแม่พันธุ์มักแท้งลูกแรกคลอดอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์พันธุ์ มักสับสนกับโรคเลปโตสไปโรซิส ทริปปาโนโซม และขาดธาตุเหล็ก จัดเป็นโรคสำหรับโรคหนึ่งในสุกร ก่อความสูญเสียแฝงอย่างมากทางเศรษฐกิจ มีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และปัญหาที่เกิดขึ้นในฟาร์ม เพื่อที่จะได้แก้ไข หรือป้องกันต่อไป

                โรคอีเพอร์ริโทรซูโนซิสเกิดจากสาเหตุใด

                โรคปรสิตในเลือดนี้เกิดจากเชื้อริคเก็ตเซีย Eperythrozoon suis มักมีรูปร่างกลม แต่อาจพบเป็นแท่ง วงแหวน หรือสายคล้ายโซ่ เชื้ออาศัยเกาะบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง ในปัจจุบันเชื้อนี้ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Mycoplasma suis (haemosuis) มีระยะฟักตัวนานประมาณ 7 วัน (3-20)

                ระบาดวิทยา พบโรคที่ใดบ้าง

                พบกระจายได้ทั่วโลกตั้งแต่ปี 1932 ไทยพบได้ทั่วทุกภาค

                มักพบโรคนี้ระบาดในฤดูใด

                เนื่องจากการติดต่อของโรคนี้ อาศัยผ่านแมลงดูดเลือดเป็นพาหนะสำคัญ เช่น เหลือบ ยุง เหา ไร จึงมักพบโรคนี้ระบาดในฤดูที่มี

                นอกจากแมลงแล้ว โรคนี้ยังติดต่อผ่านทางใดได้อีกบ้าง

                ที่สำคัญยังติดต่อผ่านเลือดที่ปนเปื้อนในเข็มฉีดยา อุปกรณ์ผ่าตัด น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่มีเลือดปน และยังติดเชื้อผ่านรกจากแม่สู่ลูก รวมถึงผ่านการกิน กัดต่อสู้กันที่มีเลือดออก

                มีปัจจัยเสริมใดบ้าง โน้มนำให้เกิดโรค หรือแสดงอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นได้

                โรคนี้ถือเป็น multifactorial disease สุกรที่แสดงอาการส่วนใหญ่จะมีปัจจัยเสริมมาจากความเครียด จากสภาพการเลี้ยงที่หนาแน่น การเคลื่อนย้าย อุณหภูมิ คุณภาพอากาศ คุณภาพอาหาร และการติดโรคเรื้อรังอื่นๆ

                เชื้อนี้ทำให้สุกรป่วยด้วยกลไกอย่างไร

                ขณะถูกแมลงที่มีเชื้อดูดกินเลือด ก็จะปล่อยเชื้อเข้าตัวสุกรไปด้วย เชื้อจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เมื่อไปสัมผัส หรือเกาะกับผิวเม็ดเลือดแดง จะเกิดปฏิกิริยากับแอนติเจนที่ผิว

        จนทำให้โครงสร้างผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงเปลี่ยนแปลงไป ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายสุกรมองเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเม็ดเลือดแดงตัวเองที่ติดเชื้อ จากนั้นจะถูกกำจัดทำลายที่ม้าม ทำให้สุกรเกิดภาวะโลหิตจางชนิด autoimmune hemolytic anemia และมีอาการดีซ่านตามมา ล่าสุดพบว่า เชื้อยังสามารถรุกรานแทรกเข้าไปอาศัยอยู่ภายในเม็ดเลือดแดงได้ ส่งผลต่อการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน และยา

               โรคนี้มักจะก่อความรุนแรงในสุกรช่วงอายุใดบ้าง

                เชื้อก่อให้เกิดการป่วยรุนแรงได้ในสุกรทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ลูกสุกรไปจนถึงแม่สุกรอุ้มท้องที่แสดงอาการของโรคนี้ได้

                อาการในลูกสุกร ที่ติดเชื้ออีเพอร์ริโทรซูโนซิสเป็นอย่างไร

                ลูกสุกรที่ป่วยจะซึม มีไข้สูง เบื่ออาหาร โลหิตจาง ซีด เหลืองดีซ่าน หอบ หายใจลำบาก ปลายหูมีสีม่วง บางครั้งมีสีแดงดำ เป็นเนื้อตายที่ขอบใบหู อัตราการเจริญเติบโตลดลง อาจพบผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ลูกสุกรที่ติดเชื้อจากแม่ผ่านรก มักตายในที่สุด

                อาการในสุกรขุน สุกรใหญ่ ที่ติดเชื้ออีเพอร์ริโทรซูโนซิสเป็นอย่างไร

        สุกรมักป่วยแบบเฉียบพลัน ซีด โลหิตจาง เหลืองดีซ่าน อัตราการเจริญเติบโตลดลง เลือดออกง่าย ผอมโทรม และมักพบการติดเชื้อแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร

                อาการในสุกรแม่พันธุ์ ที่ติดเชื้ออีเพอริโทรซูโนซิสเป็นอย่างไร

                แม่สุกรมักแสดงอาการหลังย้ายเข้าคอกคลอด หรือหลังคลอดแล้ว จะมีไข้สูง เหนื่อยหอบ ไม่มีแรง เครียด เบื่ออาหาร มดลูกเฉื่อย คลอดยาก ลูกแรกคลอดอ่อนแอ เต้านมและอวัยวะเพศบวม นมแห้ง ไม่มีน้ำนมเลิกเลี้ยงลูก และยังพบปัญหาไม่เป็นสัด ผสมไม่ติด อัตราการผสมติดต่ำ แท้งลูกได้ทุกระยะของการตั้งท้อง บางรายอาจพบปากช่องคลอดบวมน้ำ มีเลือดคั่งรุนแรง เลือดออก ถึงตายได้

                อัตราการป่วยการตายมากน้อยอย่างไร

                อัตราการป่วยค่อนข้างต่ำ อัตราการตายน้อยมาก (<1%)

                การผ่าชันสูตรซากสุกร จะพบรอยโรคสำคัญที่ช่วยวินิจฉัยแยกแยะอะไรได้บ้าง

                สภาพซาก-เยื่อเมือกซีด มีสีเหลืองของดีซ่าน ม้ามบวมโตขยายใหญ่ สีแดงคล้ำ ตับนิ่มมีสีเหลือง-น้ำตาล ถุงน้ำดีโต ผนังมีจุดเลือดออกน้ำดีข้นเป็นเจลาติน มีน้ำในถุงหุ้มหัวใจและช่องท้อง ท้องมาน หัวใจซีด และอ่อนปวกเปียก

                หากสงสัยว่าสุกรป่วยด้วยโรคอีเพอร์ริโทรซูโนซิส ควรวินิจฉัยอย่างไร

                นอกจากอาการ และรอยโรคแล้ว ยังอาจตรวจหาตัวเชื้อในเลือดด้วยวิธี PCR ตรวจหาแอนติบอดีด้วยวิธี IHA, CFT หรือ ELISA แต่อย่างไรก็ตามยังนิยมตรวจหาตัวเชื้อที่อยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดง ด้วยการเก็บเลือด 1 CC ใส่สารกันเลือดแข็งตัว เช่น EDTA, Heparin สเมียร์ และย้อมด้วยสี Wright-Giemsa หรือ Acridine orange ส่วนปัสสาวะจะมีสีปกติ ไม่พบมีเม็ดเลือดแดง หรือฮีโมโกลบินแต่อย่างไร

                ค่าทางโลหิตวิทยาช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติมได้อย่างไร

                เลือดจากสุกรที่มีไข้สูงจะใสเป็นน้ำ ดูเป็นมันคล้ายแลคเกอร์ หากตั้งทิ้งไว้จะพบเป็นเม็ดขนาดเล็กมาก เกาะที่ผนังหลอดเก็บเลือด บ่งชี้เฉพาะต่ออีเพอร์ริโทรซูโนซิส ภาวะโลหิตจางเป็นแบบ normochromic normocytic จำนวนเม็ดเลือดแดง-เกร็ดเลือด ความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน และค่าฮีมาโทคริตลดต่ำลง แต่สาร Bilirubin จะเพิ่มสูงขึ้น การแข็งตัวของเลือดก็ใช้เวลานานขึ้น เลือดเป็นกรด น้ำตาลในเลือดต่ำ

                หากตรวจพบว่าสุกรติดเชื้อ จะแนะนำ หรือทำการรักษาอย่างไรดี

                ไม่ควรรักษาเฉพาะกับตัวที่แสดงอาการป่วยเท่านั้น แต่จะต้องให้ยารักษากับสุกรทั้งคอก หรือทั้งฝูงด้วย แนะนำให้ใช้อ๊อกซิเตตร้าชัยค

                วันละ 4 ครั้ง หรือ 1-2 ครั้งในทางปฏิบัติ นาน 3 วันเป็นอย่างน้อยหากออกฤทธิ์นานให้ใช้ 3 ครั้ง วันเว้นวัน ในฝูงซึ่งมีโรคประจำถิ่นควรฉีด OTC แก่สุกรก่อนเครียด เช่น ย้ายคอก ตอน เปลี่ยนอาหาร ในแม่พันธุ์อาจตัดยาในอาหารเป็นช่วงๆ นอกจากนี้ยังมียาในกลุ่มอื่นอีกหลายชนิด ที่ออกฤทธิ์ได้ดีเช่นกัน

                โรคนี้มีวัคซีนไหม

                ยังไม่มีวัคซีน

                แล้วจะป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร

                ป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงไม่เลี้ยงสุกรให้เกิดความเครียด เน้นรักษาสุขศาสตร์สิ่งแวดล้อม นำสุกรเข้าทดแทนเฉพาะจากฝูงที่ปลอดโรคเท่านั้น มีการกำจัดแมลงพาหนะนำโรคให้ลดน้อยลง ไม่ให้สุกรถูกแมลงดูดเลือดกัด และที่สำคัญยิ่งคือ ระมัดระวังการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ควรใช้ 1 เข็ม / 1 ตัวเท่านั้น หรือหากใช้ซ้ำก็ควรต้องทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน

                นอกจากสุกรแล้ว เชื้อนี้ยังสามารถติดต่อก่อโรคในสัตว์ชนิดอื่นได้หรือไม่ และติดต่อสู่คนได้หรือไม่

                เชื้อในสกุลนี้มีความจำเพาะกับชนิดสัตว์ สปีซีส์ suis นี้จึงก่อโรคแต่ในสุกรบ้าน หรือสุกรเลี้ยงเท่านั้น ไม่ติดสัตว์ชนิดอื่น และที่สำคัญยังไม่เคยมีรายงานการติดต่อสู่คน

                แล้วสรุปว่าโรคนี้รุนแรง และอันตรายมากหรือไม่

                บางครั้งอาจกลายเป็นโรคระบาดที่รุนแรงมาก เมื่อมีเชื้ออื่นติดร่วม หรือมีโรคอื่นนำมาก่อน ดังเช่น ในประเทศจีน ช่วงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ที่พบอีเพอร์ริโทรซูโนซิส ระบาดหนักทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2002 ที่สำรวจพบว่าสุกรในจีนจะมีอัตราการป่วยประมาณ 30% อัตราการตาย 10-20% หากรวมคัดทิ้งด้วยจะสูงถึง 60% ในฝูงที่มีการติดเชื้อจะมีอัตราการป่วยเกือบ 100% อัตราการตาย 50% ล่าสุดปี 2009 ยังคงมีรายงานข่าวสุกรตายจากโรคนี้เป็นจำนวนมากอยู่ในบางมณฑล ก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาล

                โดยสรุปแล้ว โรคอีเพอร์ริโทรซูโนซิส ในสุกรนี้ แม้ไม่ค่อยก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง หรือรวดเร็ว ดังเช่นหลายโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ก็ก่อให้เกิดความเสียหายแบบช้าๆ ที่แฝงลึกในสุกรทุกช่วงอายุ และที่สำคัญโรคนี้ไม่มีวัคซีนสำหรับใช้ป้องกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทดแทนด้วยการใช้ยา และวิธีจัดการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันโรค ในช่วงเปลี่ยนฤดูนี้ก็คงหนีไม่พ้นการควบคุมกำจัดแมลงดูดเลือด ที่มีชุกชุมมากมาย หากคนเลี้ยงใส่ใจทำให้สุกรมีสุขภาพกาย และใจที่ดี ไม่เครียดแล้ว โอกาสเกิดโรคนี้ รวมถึงโรคต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ผลของทุกข์มากมายที่ระงับลงได้ด้วยการแก้ที่จุดต้นเหตุแห่งทุกข์ฉันใด โรคอี เพอร์ริโทรซูโนซิส ที่พบมากในช่วงเปลี่ยนฤดู ก็จะระงับดับลงได้ด้วย ความรู้ความเข้าใจแห่งสาเหตุจากบทความนี้ได้เช่นกัน ฉันนั้น...

 

เอกสารอ้างอิง

Diseases of Swine 9th edition. 2006.Blackwell Publishing.

Groebel et al., 2009. Infect Immun. 77(2) : 576-584.

Oberst et al., 1993. J vet Diagn Invset. 5 : 351-358.

Wu et at., 2006. Ann N Y Acad Sci. 1081 : 280-286

 

ที่มา :  โลกสุกร ปีที่ 14 ฉบับที่ 156 เดือนธันวาคม 2558 หน้า 43-44

Visitors: 396,695