สรุปผลการประชุมเตรียมความพร้อมยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตามแนวชายแดนจังหวัดสระแก้ว - กัมพูชา

สรุปผลการประชุมเตรียมความพร้อมยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตามแนวชายแดนจังหวัดสระแก้ว - กัมพูชา

วันที่ 10 เมษายน 2562จังหวัดสระแก้ว - นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในการประชุมเตรียมความพร้อมยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตามแนวชายแดนจังหวัดสระแก้ว - กัมพูชา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบริเวณชายแดน อันได้แก่ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจพืช ด่านตรวจสัตว์น้ำ ด่านควบคุมโรค ด่านศุลกากร และเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ โดยมี ผอ.กสก. หัวหน้าด่านกักกันสัตว์สระแก้ว ปศุสัตว์อำเภออรัญประเทศ และผู้แทนจากสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรค (สคบ.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว

เนื่องด้วยสภาวการณ์ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ประเทศกัมพูชา ข้อเสนอให้เป็นวาระแห่งชาติได้รับการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 9 เมษายน 2562 ประกอบกับในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์จะมีการสัญจรระหว่างประเทศอย่างคับคั่ง ในขณะที่จังหวัดสระแก้วมีจุดผ่านแดนในการส่งออกสุกรไปยังประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรค

ที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของด่านกักกันสัตว์และมาตรการเฝ้าระวังโรคของกรมปศุสัตว์ จึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเต็มที่ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้

  • กองสารวัตรและกักกัน(กสก.) จัดกำลังคนเพื่อช่วยในจุดที่ยังขาดแคลนกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อบูรณาการงานให้เกิดประสิทธิภาพในช่วงวันเทศกาลสงกรานต์
  • หลังจากมีการยึดของกลางที่ติดตัวมากับผู้เดินทาง ให้ใช้มาตรการทางการปกครอง เช่น การกักตัว และ/หรือยึดบัตรผ่านแดนชั่วคราว (รายวัน) เพื่อให้เกิดผลกระทบ และหากเป็นการลักลอบนำเข้าเพื่อขาย เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศกรมปศุสัตว์ โดยกรมฯ มีอำนาจให้จับกุมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
  • สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะภาคเอกชนที่กำกับดูแลผู้ประกอบการส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ให้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง เป็นการนำยานพาหนะขนถ่ายข้ามแดน ถ่ายสุกรส่งออกจากประเทศไทยที่บริเวณแนวพรมแดนไทย และห้ามนำรถภายในประเทศ เข้าไปส่งสุกรในประเทศกัมพูชา พร้อมทั้งให้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งก่อน และหลังการขนส่ง
  • สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั้ง 6 ภาค พิจารณาเตรียมเงินชดเชย เพื่อให้จ่ายได้ทันท่วงที ในกรณีที่มีการแจ้งโรคเป็นครั้งแรก
  • การประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นด้วยสื่อต่างๆ ทั้งเสียงตามสาย และประกาศที่จุดพรมแดน
  • ปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอ ให้เน้นการประชาสัมพันธ์โดยใช้เนื้อหาคำพูดเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนงดการนำเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากกัมพูชาเข้ามาค้าขายหรือประกอบอาหาร และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ให้ปฏิบัติตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด

รองอธิบดีได้เน้นย้ำให้ใช้มาตรการ 3+3 เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคอย่างเข้มแข็งคือ ต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรจึงจะได้ความร่วมมือ และการรู้โรคเร็ว เข้าควบคุมโรคเร็ว โรคก็จะสงบเร็ว 

ช่วงบ่ายของวันที่ 10 เมษายน เข้าตรวจเยี่ยมพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นจุดที่มีการส่งออกสุกรมีชีวิตจากประเทศไทย และมีการก่อสร้างตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และชำระล้างยานพาหนะขนส่งสุกรทั้งนี้รองอธิบดีได้ขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทหารบก ทหารพราน ตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช ด่านตรวจสัตว์น้ำ ด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ในการเฝ้าระวังและป้องกันการนำเข้าสุกร ซากสุกร และผลิตภัณฑ์จากสุกร ทั้งการลักลอบนำเข้ามาขาย และการนำติดตัวของผู้คนที่สัญจรระหว่างประเทศ  อีกทั้งมาตรการต่างๆ อาทิ การออกอากาศประชาสัมพันธ์บริเวณจุดผ่านแดน การทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ให้สื่อสารได้อย่างรวดเร็ว และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ช่วงเย็นได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นจุดที่มีการสัญจรข้ามแดนอย่างคับคั่ง รองอธิบดีได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังบูรพา ในการตรวจค้นสัมภาระจากชาวกัมพูชา ซึ่งจะเดินทางกลับเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยหลังวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่ประมาณวันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไป

ที่มา : กรมปศุสัตว์

Visitors: 431,775