China's Eradication of Poverty

การแก้ปัญหาความยากจนของสาธารณรัฐประชาชนจีน

รวบรวมเรียบเรียงโดย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตีพิมพ์ลงวารสารสุกร ฉบับที่ 100 (เมษายน-มิถุนายน 2565)

              การแก้ปัญหาความยากจน สำหรับเมืองไทยดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงวลีที่ใช้ในการหาเสียงกับประชาชน เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นการกระทำเชิงนโยบายที่ลงรายละเอียดชัดเจน ถึงขนาดที่สแกนเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ  จึงขอนำเสนอแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ประเทศจีนใช้ขจัดความยากจนซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความสำเร็จประสบผลจนสหประชาชาติให้การยกย่องว่าจีนสามารถทำให้คนจีนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนได้ก่อนเวลาที่ทางสหประชาชาติและตั้งเป้าหมายไว้ซะอีก

              การแก้ปัญหาความยากจนของจีนนอกจากจะเป็นประโยชน์กับคนจีนทั้งหมดแล้ว ยังเป็นบทเรียนและแนวทางที่ประเทศกำลังพัฒนาสามารถนำบทเรียนดังกล่าวไปใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนของคนในประเทศของตนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  โดยทางการจีนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลืออีกด้วยเช่นกัน

              ในการดำเนินนโยบายขจัดความยากจน  เช่นเดียวกับที่ประเทศจีนได้กระทำ จนประสบความสำเร็จนั้น ในยุคแรกๆ ของการเปิดประเทศผู้นำจีนในช่วงนั้น คือ ประธานาธิบดี เติ้ง เสี่ยว ผิง มีวลีคำพูดที่ทุกคนจำได้เป็นอย่างดีเมื่อนึกถึงท่าน คำว่า “แมวสีขาวหรือสีดำไม่สำคัญ ถ้าจับหนูได้ก็ถือว่าเป็นแมวที่ดี”  (It doesn't matter whether a cat is white or black, as long as it catches mice, it is a good cat.) นั่นก็คือไม่ว่าระบบใดหรือทฤษฎีใดหรือวิธีการใดสามารถสร้างความสำเร็จให้แก่ประเทศได้ ก็ถือว่าเป็นระบบหรือทฤษฎีหรือวิธีที่ดีได้ ดังที่ เติ้ง เสี่ยว ผิง ได้ปฏิรูปและเปิดประเทศ6 แล้วนำเอาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของซีกโลกตะวันตกมาใช้ร่วมกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หรือที่เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน” ซึ่งอาจจะมีลักษณะแตกต่างไปจากระบบตลาดในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแท้ๆ ก็ได้ และสามารถทำให้จีนสามารถพัฒนาประเทศไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุดดังที่ได้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกนั่นเอง

              นับตั้งแต่การประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 18 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลังจากการต่อสู้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาแปดปีภายในสิ้นปี 2563 จีนได้เสร็จสิ้นภารกิจการบรรเทาความยากจนในยุคใหม่ตามกําหนดและคนจนในชนบททั้ง 98.99 ล้านคนในปี 2555 ถูกยกออกจากความยากจนภายใต้มาตรฐานปัจจุบัน  มณฑลที่ยากจน 832 แห่งได้ถูกกําจัดออกไปทั้งหม หมู่บ้านยากจน 128,000 แห่งได้รับการจดทะเบียนทั้งหมดและความยากจนในภูมิภาคโดยรวมได้รับการแก้ไขเสร็จสิ้นภารกิจที่ยากลําบากในการขจัดความยากจนอย่างแท้จริง

              หลังจากได้อ่านความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาของจีนแบบคร่าวๆ แล้วก็เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการบริหารจัดการประเทศในระดับต่างๆ ขึ้นอยู่กับ “ภาวะผู้นำ” ของผู้นำประเทศเป็นสำคัญตั้งแต่เหมา เจ๋อตง เติ้ง เสี่ยวผิง และสี จิ้นผิง ดังจะได้กล่าวถึง ในการแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาของจีนในลำดับต่อไป

              ระยะแรกของการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีนตั้งแต่ปี 2492 ถึง 2520 โดยมี เหมา เจ๋อตง เป็นประธานาธิบดี  มีลักษณะการแก้ปัญหาความยากจนที่เน้นการบรรเทามากกว่า โดยมุ่งช่วยเหลือประชาชนให้อยู่รอดจากความยากจนข้นแค้นอย่างแสนสาหัสทั้งนี้เพราะประเทศตกอยู่ในความยากจนเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงและความว่างเปล่าทางวัฒนธรรม อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกก็ว่าได้ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนขนาดใหญ่ใดๆได้

เหมา เจ๋อตง กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบสังคมนิยม โดยพยายามเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมหัตถกรรม และอุตสาหกรรมแบบทุนนิยมและการพาณิชย์

              ได้มีการกำหนดระบบรับประกัน 5 ประการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ยากไร้คือ

  1. ทุกคนต้องท้องอิ่ม
  2. ทุกคนต้องอุ่นกายเพราะมีเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม
  3. ทุกครัวเรือนต้องมีเชื้อเพลิง
  4. ทุกครัวเรือนต้องมีการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน
  5. ทุกครัวเรือนต้องมีค่าทำศพผู้ล่วงลับไปแล้ว

              สภาวะที่เป็นอยู่ในขณะนั้นประชาชนทั้งประเทศร้อยละ 80 ของประเทศอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อัตราการเข้าเรียนในโรงเรียนของเด็กในขณะนั้นมีเพียงร้อยละ 20 ของประชากรเด็กทั้งประเทศการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศก็ย่ำแย่มากในขณะนั้น

              การแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาการประเทศก็ประสบปัญหามากมายอาจสรุปได้ดังนี้

  1. พยายามนำนโยบายที่ไม่สะท้อนความจริงไปปฏิบัติได้แก่

1.1.      พยายามรวมครอบครัวขึ้นมาเป็นคอมมูนและหวังว่าจะสามารถผลิตอาหารได้เป็น 2-3 เท่าที่เรียกว่าก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าแต่ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงผลผลิตทางการเกษตรตกลงมาอย่างมากมาย คนจนอดอาหารตายไปหลายสิบล้านคน

1.2 การปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นการล้มล้างสิ่งเก่าๆหรือที่เรียกว่า 4 ของเก่าได้แก่

              1 ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม

              2 วัฒนธรรมเก่าแก่

              3 นิสัยเก่าๆ

              4 ความคิดเก่าๆ

  1. พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง ยังสำคัญผิดในเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจนนั่นก็คือเหมา เจ๋อตง เข้าใจว่าการสร้างสรรค์ความสมบูรณ์พูนสุขถ้วนหน้านั้นสามารถทำได้พร้อมๆ กันทั่วประเทศทำให้ความสามารถในการแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาประเทศชะลอตัวลงอย่างมากเพราะทรัพยากรมีจำกัดแต่ต้องกระจายไปทั่วประเทศ
  2. สังคมทั่วไปของคนจีนก็มองหรือเข้าใจการแก้ปัญหาความยากจนเพียงครึ่งเดียว คือเข้าใจว่าการแก้ปัญหาความยากจนคือ การบรรเทาความเดือดร้อนหรือการแบ่งปันสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น ดังที่รัฐบาลไทยก็เข้าใจเช่นนั้นมาตลอดเช่นกัน

              เหมา เจ๋อตง ถึงแก่อสัญกรรมวันที่ 9 กันยายน 2519 การปฏิวัติวัฒนธรรมก็ยุติลง ทิ้งความเสียหายอย่างย่อยยับทั้งสิ่งที่เป็นตัวแทนของขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม แนวคิด และความเชื่อต่างๆ ถูกทำลายมากมาย  ผู้คนล้มตายอย่างมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเติบโตทางเศรษฐกิจแทบจะเป็นศูนย์ตั้งแต่ปี 2500 ถึง 2519 ไม่มีความแตกต่างกันเลยในช่วงเวลาที่แตกต่างกันนั้น

การแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาในสมัยของเติ้ง เสี่ยวผิง ระหว่างปี 2521 ถึง 2536

              เติ้ง เสี่ยวผิง ไม่เชื่ออย่างที่เหมา เจ๋อตง เชื่อ ที่ว่าจะสามารถสร้างสรรค์ความสมบูรณ์พูนสุขทั่วหน้าได้พร้อมกันทั่วประเทศเติ้ง เสี่ยวผิง เชื่อว่าไม่สามารถทำได้เช่นนั้น และเขายังเห็นว่าควรพัฒนาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ให้เจริญเติบโตและร่ำรวยขึ้นมาก่อน  แล้วขยายไปจนทั่วประเทศตามกำลังความสามารถของรัฐบาล

               เติ้งเสี่ยวผิงใช้นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบกับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง  นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ จึงนำมาสู่นโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศและการนำเอาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของโลกตะวันตกมาใช้ร่วมกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม จนเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบตลาดที่มีลักษณะของจีนโดยเฉพาะได้อย่างกลมกลืนและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาความยากจนได้เป็นอย่างดีตามมา

เติ้ง เสี่ยวผิงได้ประกาศนโยบาย 4 ทันสมัยในแผนพัฒนาประเทศระหว่างปี 2521 ถึง 2528 ดังนี้

  1. นโยบายการพัฒนาการเกษตรอย่างขนานใหญ่ไปพร้อมๆ กับการปฏิรูประบบการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร  กล่าวคือเดิมคนจีนเป็นเพียงผู้ใช้แรงงานบนที่ดิน จึงขาดแรงจูงใจไม่กระตือรือร้นในการผลิตในนารวมในสมัยก่อนหน้านี้ เขาปฏิรูประบบการใช้ที่ดินเสียใหม่โดยให้ที่ดินที่ยังคงเป็นของรัฐแต่เกษตรกรทำสัญญากับองค์กรของรัฐว่าต้องผลิตให้ได้ตามโควต้าที่รัฐบาลกำหนดและถ้าผลิตได้มากกว่าโควต้าก็สามารถเป็นเจ้าของผลผลิตที่เกินโควต้านั้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อีกด้วย  มูลค่าของผลผลิตด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.23 ในปี 2527 รายได้สุทธิของเกษตรกรทั่วประเทศถึง 355 หยวนต่อคนต่อปี  สูงขึ้นถึงร้อยละ 14.7 มากกว่าปีที่ผ่านมาในปี 2528 รายได้สุทธิของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 เท่า  ประชาชนมีที่มีความยากจนแบบสมบูรณ์ได้ลดลงจาก 250 ล้านคนเหลือเพียง 125 ล้านคนซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่มีการลดความยากจนลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนทีเดียว

              ปี 2529 ได้มีการใช้แผนการแก้ปัญหาความยากจนฉบับใหม่และเป็นแผนขนาดใหญ่ที่เน้นการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ได้มีการจัดตั้งสถาบันพิเศษเฉพาะเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนขึ้นมา ทั้งนี้เพราะเกิดช่องว่างระหว่างคนร่ำรวยกับคนยากจนมากขึ้น เนื่องจากมีช่องว่างด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบทในภูมิภาคที่แตกต่างกันมีความห่างกันมากยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาบันพิเศษเฉพาะนั้นก็คือ The State Council Leading Group for Economic Development in Poor Areas ซึ่งภายหลังในปี 2533 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The State Council leading Group of Poverty Alleviation and Development พร้อมทั้งสำนักงานของสภานี้ด้วย

              มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมาเรียกว่า Funds for Food and Clothing in Minority Area พร้อมทั้งมีนโยบายทางเลือกสำหรับเกษตรกรว่าจะเลือกการแก้ปัญหาความยากจนโดยเลือกเอาเครดิตหรือจะเลือกเอาการศึกษา หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขณะเดียวกันก็สร้างระบบประกันสังคมขึ้นมาปรากฏว่าการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการพัฒนาจนประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด

  1. การพัฒนาอุตสาหกรรม เติ้ง เสี่ยวผิงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เพราะจะได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กัน เขาเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นปล่อยให้การผลิตเป็นไปตามกลไกตลาด รัฐไม่เข้าไปยุ่งหรือควบคุมเหมือนแต่ก่อนหลังจากเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนได้แล้วได้ทำเสร็จเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone)ขึ้นมากมายได้แก่ เซินเจิ้น เทียนจิน ต้าเหลียน เซี่ยงไฮ้ หนิงปอ ฝูโจวเจิ้งโจว ชิงเต่าเป่ยไห่ กว่างโจว จ้านเจียว หนานทง เหยียนไถ่ เหลียนหลุนถัง

  1. การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เติ้ง เสี่ยวผิง ให้ความสำคัญสูงมากเช่นกันมีการทุ่มงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงมากทำให้เกิดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งวิศวกรรมสาขาต่างๆ มากพอที่จะป้อนเข้าสู่วงการอุตสาหกรรมของประเทศ
  2. ด้านการป้องกันประเทศ ได้มีการปลดทหารประจำการถึง 1 ล้านคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารสูงวัยแล้วบรรจุทหารหนุ่มเข้ามาแทนที่เท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน  ตัดงบประมาณด้านทหารออกไป ทุ่มด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อนำมาพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ในกองทัพทำให้ทันสมัยตามไปด้วย

              ปัญหาที่ตามมาจากการปฏิรูปและเปิดประเทศก็คือ เงินเฟ้อ คอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ภาคตะวันออกกับภาคกลางและตะวันตก คนจีนรับข่าวสารจากทั่วโลกได้โดยง่ายทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองโดยการประท้วงของนักศึกษาที่จตุเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 และก็จบด้วยโศกนาฏกรรม ในที่สุด

 

เจียง เจ๋อหมินระหว่างปี 2537-2548 ได้มีการใช้ “แผน 7 ปีเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนที่เหลืออีก 80 ล้านคน”เป็นแผนที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นหลัก รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ยุคการปฏิรูปและการเปิดประเทศ เพื่อเข้าไปช่วยพื้นที่ยากจนมากๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศ

              นอกจากนี้ยังได้ยกเลิกกองทุนต่างๆในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ช่วยตัวเองได้แล้ว เพื่อนำไปใช้เป็นกองทุนเพื่อพื้นที่ที่จำเป็นในภาคกลางและภาคตะวันตก

              รัฐบาลได้จัดระบบพี่ช่วยน้องนั่นก็คือพื้นที่ร่ำรวยทางภาคตะวันออกมาจับคู่กับพื้นที่ในภาคกลางและภาคตะวันตกที่ยังอ่อนแอและช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ มีการระดมทั้งเงินทุนและทรัพยากรบุคคลเข้าไปช่วย ดังปรากฏว่า 13 มณฑลที่อยู่ชายฝั่งทะเลทางตะวันออกได้เข้าไปช่วย 10 มณฑลและพื้นที่ในภาคกลางและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามแนวคิดของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ว่า “รวยก่อนแล้วไปช่วยให้คนอื่นรวยตามในภายหลัง”(The rich first push on those being rich later.) ทั้งนี้เพื่อทำให้ความฝันที่ว่า การสร้างสรรค์ความสมบูรณ์พูนสุขทั่วหน้าเป็นจริงนั่นเอง

 

หู จิ่นเทาได้ออกคำสั่งให้ยกเลิกการเก็บภาษีการเกษตรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ซึ่งได้ใช้มาตั้งแต่วันที่  3 มิถุนายน 2501 และการยกเลิกการเก็บภาษีการเกษตรทำให้ชาวนา 900 ล้านคนได้ประโยชน์โดยตรงและถือเป็นการส่งเสริมสิทธิพลเมืองและดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมในการเก็บภาษีสมัยใหม่

              ในยุคของหู จิ่นเทา ไม่มีอะไรหวือหวานอกจากสานต่อต่อยอดสิ่งที่คนก่อนๆได้ทำไว้ไม่ให้ตกต่ำไปกว่าเดิมเท่านั้น

 

สี จิ้นผิง2556 ถึงปัจจุบัน สี จิ้นผิง ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ 4 ด้านโดยนำมารวมกันเป็นกลุ่มของเป้าหมายอย่างครบถ้วนเป็นครั้งแรก คือ

  1. การสร้างสรรค์สังคมแบบสมบูรณ์พูนสุขอย่างถ้วนหน้า
  2. ขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงลึกอย่างถ้วนหน้า
  3. การปกครองบริหารประเทศตามหลักนิติธรรมอย่างถ้วนหน้า
  4. ปกครองบริหารภายในพรรคด้วยความเคร่งครัดเข้มงวดอย่างถ้วนหน้า

นอกจากนี้ยังได้นำเสนอแผนการพัฒนา 5 ภาคส่วนที่ต้องดำเนินการเป็นองค์รวมเดียวกัน ได้แก่

  1. การสร้างสรรค์พัฒนาเศรษฐกิจเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลายเป็นรากฐานนำไปสู่การบูรณาการการสร้างสรรค์เศรษฐกิจภาคการตลาดในระบอบสังคมนิยมให้ยั่งยืนสืบไป
  2. การพัฒนาการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นดังจะสังเกตเห็นได้จากการปกครองท้องถิ่นแบบกระจายอำนาจทุกระดับตั้งแต่มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
  3. การพัฒนาวัฒนธรรมให้มีความก้าวหน้าและทันสมัย เป็นการดูแลสังคมให้มีความสมานฉันท์
  4. การพัฒนาสังคมให้มีความสุขอย่างถ้วนหน้าปลอดพ้นจากอาชญากรรมและสิ่งเสพติดทั้งมวล
  5. อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านระบบนิเวศที่สอดคล้องกับหลักอารยธรรม ทั้งนี้เป็นการผนึกกำลังเพื่อขับเคลื่อนให้ประชาชนเกิดความมั่งคั่งประเทศชาติแข็งแกร่งและสร้างสรรค์ให้ประเทศจีนมีความงดงาม

 

              สี จิ้นผิง กล่าวว่าการแก้ปัญหาความยากจนไม่ใช่แค่การบรรเทาความเดือดร้อนหรือการแจกสิ่งของและทรัพย์สินใดๆเท่านั้นแต่การแก้ปัญหาความยากจนต้องเน้นที่การพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และการแก้ปัญหาความยากจนจะต้องตรงจุดอย่างแท้จริง ถ้าจะให้การแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุดจะต้องตอบคำถามทั้ง 4 ข้อนี้ให้ได้ด้วยความถูกต้องแม่นยำอีกด้วย

  1. เราจะต้องช่วยใครบ้าง

1.1.      ใครบ้างที่เป็นคนยากจน

1.2.      คนยากจนนั้นๆ มีความยากจนมากน้อยเพียงใด

1.3.      เพราะเหตุใดคนเหล่านั้นจึงยากจน

  1. ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการช่วยเหลือคนยากจนเหล่านั้น
  2. ความช่วยเหลือนั้นๆ ควรกระทำอะไรบ้าง
  3. คนที่พ้นจากความยากจนแล้วจะออกจากโครงการได้อย่างไร

              เพื่อที่จะตอบคำถามทั้ง 4 ข้อเหล่านั้นรัฐบาลจีนภายใต้การนำของสีเยี่ยง Pink ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. เราจะต้องช่วยใครบ้าง จากเมษายนถึงตุลาคม 2557 ได้มีการตระเตรียมคนจากทั่วประเทศ 8 แสนคนเพื่อไปศึกษาวิเคราะห์ค้นหาความจริงครอบครัวยากจนและสมาชิกในครอบครัวยากจนเหล่านั้นและจัดทำทะเบียนประวัติและมีการลงทะเบียนเพื่อจำแนกบ่งชี้กลุ่มเป้าหมายผู้ยากจนซึ่งจะประกอบด้วย 1) กลุ่มครัวเรือนยากจน 2) หมู่บ้านยากจน 3) อำเภอยากจน และ 4) พื้นที่ยากจนพิเศษที่เชื่อมต่อกันเป็นผืนใหญ่

              ตามที่ส่งคนลงไปตรวจสอบและศึกษาวิเคราะห์ก็ได้พบว่ามีหมู่บ้านยากจนถึง 1.28 แสนหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนยากจนเท่ากับ 29.48 ล้านครอบครัว ประชาชนผู้ยากจนจำนวน 89.62 ล้านคน

              ระหว่างเดือนสิงหาคม 2558 ถึงมิถุนายน 2559 รัฐบาลได้ส่งบุคลากรเกือบ 2 ล้านคนจัดทำแฟ้มทะเบียนประวัติและให้ทำหน้าที่ทบทวนผลงานของคน 8 แสนคนว่ามีความถูกต้องแม่นยำมากน้อยเพียงใด ก็ปรากฏว่ามีการบันทึกเพิ่มเติมประชากรผู้ยากจนเพิ่มขึ้นอีก 8.07 ล้านคนและได้ทำการลบข้อมูลที่ไม่แม่นยำอีก 9.29 ล้านคนทำให้เกิดความแม่นยำมากขึ้นในการจำแนกบ่งชี้ผู้ยากจนทั้งนี้เป็นการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งหนึ่งนั่นเองดับเบิ้ลเช็ค

  1. ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการช่วยเหลือคนยากจนเหล่านั้น

2.1.  รัฐบาลจากส่วนกลางเป็นผู้รับผิดชอบระดับนโยบาย กำหนดกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและแนวปฏิบัติให้แก่หน่วยงานท้องถิ่น มณฑล จังหวัด เทศบาลขนาดใหญ่ อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน

  • พรรคคอมมิวนิสต์จีน
  • ผู้นำในฐานะสะพานระดับชาติเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนา
  • กระทรวงต่างๆและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ

o   ธนาคารพัฒนาแห่งประเทศจีน

o   ธนาคารพัฒนาการเกษตร

o   ธนาคารเพื่อการเกษตร

o   ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย

o   ธนาคารโลก

2.2.      การปกครองท้องถิ่น

  • ระดับที่ 1 ประกอบด้วย 33 หน่วย 22 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง 4 เทศบาลขนาดใหญ่ 2 เขตบริหารพิเศษ(มาเก๊าและฮ่องกง)
  • ระดับที่ 2 คือระดับจังหวัดมี 334 แห่ง
  • ระดับที่ 3 คือระดับอำเภอมี 2,851 แห่ง
  • ลำดับที่ 4 คือระดับตำบลมี 29,864 แห่งระดับที่ 5 คือระดับหมู่บ้านมี 662,393 แห่ง

2.3.  เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในระดับมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มีถึง 775,000 คน ซึ่งจะถูกส่งไปเป็นทีมงานช่วยเหลือความยากจนในระดับหมู่บ้านและครัวเรือนทั่วประเทศ

2.4.  องค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เมื่อสิ้นปี 2558 NGO ถึง 662,000 แห่ง กลุ่มทำประโยชน์เพื่อสังคม 329,000 กลุ่ม มีมูลนิธิในรูปแบบต่างๆ 4,784 มูลนิธิ และหน่วยวิสาหกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไรจำนวน 329,000 แห่ง หน่วยงานเหล่านี้ได้สร้างงานขึ้นมาเป็นจำนวนมากถึง 7,348,000 ตำแหน่งงาน มีสินทรัพย์ถึง 231.1 พันล้านหยวนทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานลงทุนเชิงวิสาหกิจ และ ประชาชนผู้ยากจนทุกคน จะต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐและพัฒนาตนเอง ให้มีความพร้อมที่หลุดพ้นจากความยากจน

  1. ความช่วยเหลือนั้นควรทำอะไรได้บ้าง จะช่วยในด้านใดบ้างนั้นคงต้องได้ข้อมูลจากทีมงานช่วยเหลือความยากจนว่าใครบ้าง ยากจนยากจนมากน้อยขนาดไหนและมีสาเหตุมาจากอะไร คงจะต้องช่วยตามสาเหตุของความยากจน

3.1.      สาเหตุของความยากจนที่ได้ค้นพบก็มีดังต่อไปนี้

3.1.1                                 ผลิตภัณฑ์ที่ล้าหลัง (Underdevelopment productivity)เป็นรากเหง้าของความยากจนส่วนใหญ่ของคนยากจนในชนบท ผลิตภาพสะท้อนถึงความสามารถของมนุษย์ที่จะเอาชนะหรือใช้ประโยชน์ ควบคุม และเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างแท้จริง สี จิ้นผิง ได้ชี้ให้เห็นความไม่สมดุลระหว่างความต้องการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า กับการพัฒนาที่ยังไม่มากพอทั้งนี้เพราะความสามารถในการผลิตของประชาชนผู้ยากจนอย่างล้าหลังผลผลิตที่ได้ต่ำ และรายได้ก็ต่ำไปด้วยจึงเป็นปัญหาของคนยากจนไม่รู้จบคำตอบนี้คงจะหนีไปจากการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเรานี้ให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้สามารถผลิตสินค้า และบริการได้มากขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิตผลนั้นๆ

3.1.2                                 เหตุผลทางประวัติศาสตร์ ประเทศจีนเป็นประเทศกำลังพัฒนามานาน ความยากจนและความล้าหลังของจีนโบราณเป็นสาเหตุสำคัญของความยากจนในจีนปัจจุบัน ขณะนี้สาเหตุของความยากจนเกิดจากจำนวนประชากรมากเกินไป ความผิดพลาดในการตัดสินใจ ประสิทธิภาพในการผลิตต่ำมากมาเป็นเวลานาน และระบบการลงทะเบียนครัวเรือนมีส่วนทำให้บดบังอิสรภาพทางจิตใจของประชาชน ประชาชนไม่สามารถช่วยตัวเองได้ในขณะที่คนที่อาศัยในเมืองก็ได้รับค่าแรงต่ำมากมาเป็นเวลานานก็เป็นสาเหตุของความยากจนของคนเมืองเหล่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้าหลังด้านจิตใจและทักษะในการทำงาน

3.1.3                                 เหตุผลทางธรรมชาติ ความแตกต่างของความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินก็มีส่วนทำให้กระทบต่อรายได้และมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน บางอำเภอตั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพต่ำมาก เช่น พื้นที่ที่เป็นภูเขาและที่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และพื้นที่ภาคกลางของประเทศ และมักจะเป็นชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ในบริเวณที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้น ประกอบกับมักมีภัยธรรมชาติเสมอๆ

3.1.4                                 ความไม่สมดุลของการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ การพัฒนาในจีนมักเน้นในพื้นที่ภาคตะวันออก ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตกยังล้าหลังกว่ามากทำให้มีความแตกต่างด้านรายได้และมาตรฐานการดำรงชีวิตแตกต่างกันไปด้วย มาตรการที่ช่วยให้มาตรฐานการครองชีพของคนในภาคกลางและภาคตะวันตกดีขึ้นก็คือการจับคู่ช่วยเหลือกันแบบระบบ พี่ช่วยน้องระหว่างภูมิภาคกับภูมิภาค ระหว่างมณฑลกับมณฑล หรือระหว่างอำเภอกับอำเภอก็ได้

3.1.5                                 ขาดความรู้ความสามารถ ในศตวรรษที่ 21 นี้ความรู้ความสามารถในโลกสมัยใหม่มีผลกระทบโดยตรงกับการสร้างสรรค์ความมั่งคั่งและคุณค่าส่วนบุคคลเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้การที่บุคคลขาดความรู้และความสามารถจึงนำไปสู่ความยากจนได้อย่างไม่ต้องสงสัย

3.1.6                                 เหตุผลส่วนบุคคล โครงสร้างครอบครัวของคนจีนมีลักษณะดังนี้ มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว ครอบครัวของคนพิการ พ่อแม่ เจ็บป่วยรุนแรงมาก และคนชราที่ปราศจากเงินบำเหน็จบำนาญ และมีการศึกษาค่อนข้างต่ำคนชราอาศัยอยู่คนเดียว และไม่มีใครดูแลเลย หรือผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือแม้หรือมีรายได้แต่ก็ต่ำมากๆ เหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความยากจนทั้งสิ้น จากสถิติ มีคนพิการหรือไร้ความสามารถถึงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดมีจำนวนถึง 60 ล้านคนทีเดียว

3.2    วิธีการช่วยเหลือก็เป็นไปตามสาเหตุของปัญหาที่แตกต่างกัน ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และพื้นที่ยากจนโดยมีหน่วยงานระดับอำเภอเป็นผู้ปฏิบัติการช่วยเหลือในบังคับบัญชาของหน่วยงานระดับสูงขึ้นไป

3.2.1                                 ขจัดความยากจนด้วยบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน หมายถึงสภาพแวดล้อมอันเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการดำรงชีพของประชาชนในสังคม เป็นไปตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมรวมถึงภาพรวมของระดับการพัฒนาของประเทศ

3.2.2                                 ขจัดความยากจนด้วยการพัฒนาการศึกษาสีจิ้นผิงได้เสนอความคิดใหม่โดยเน้นคำว่าการศึกษาถือเป็นกลยุทธ์ต้นๆ ที่จะหยุดยั้งความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น ปัญหาในชนบทยากจนก็คือมีโครงสร้างการศึกษาพื้นฐานที่อ่อนแอ ขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาไม่เพียงพอคุณภาพการศึกษาพื้นฐานไม่เป็นไปตามมาตรฐานและความนิยมทางการศึกษา ทำให้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกทั้งจะต้องยกระดับอาชีวศึกษาเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              การศึกษาระดับสูงจะต้องสามารถเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในชนบทยากจนให้ได้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาที่อยู่ในเขตพื้นที่ยากจนได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีชื่อเสียงให้มากยิ่งขึ้น

3.2.3                                 ขจัดความยากจนด้วยการเสริมสร้างสุขภาพประชาชน สิ้นปี 2558 ครอบครัวยากจนที่ประสบความยากจนเพราะสมาชิกในครอบครัวมีอาการป่วยหรือเนื่องจากป่วยไข้จนต้องย้อนกลับไปยากจนเหมือนเคยมีทั้งสิ้น 20 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 44.1 ของครัวเรือนยากจนทั้งหมดที่มีการตั้งเป้าหมายทะเบียนประวัติ และที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้

ดังนั้นการสร้างหลักประกันในสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนผู้ยากไร้เพื่อป้องกันการย้อนกลับไปยากจนเหมือนเคยอีกจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและตรงจุด

3.2.4                                 ขจัดความยากจนด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นวิธีการสร้างนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นสิทธิพิเศษของคนยากจน เพื่อให้ครอบครัวที่ยากจนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยตรงหรือที่เรียกว่า หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มผลักดันอุตสาหกรรมในชนบทที่ยากจน สนับสนุนเกษตรกรรมพื้นฐานที่โดดเด่น ให้มีระดับสูงขึ้นด้วยความร่วมมือของกลุ่มคนผู้ยากไร้  ส่งเสริมสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนได้เข้ามาร่วมกับอุตสาหกรรมชุมชน สนับสนุนอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่า เพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ยากจน

นอกจากนี้ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในชนบท การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชนบทยากจนให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อคนในชนบททุกคนจะได้รับอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจใช้ได้สำหรับครอบครัวเรือนหรือใช้ได้กับทั้งหมู่บ้านหรือตำบลของครัวเรือนยากจนและสามารถลดความยากจนได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่งด้วย

3.2.5                                 การกระจัดความยากจนด้วยการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน สำหรับชนบทที่มีสภาพแวดล้อมของการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่แรงแค้นอย่างหนัก สภาพแวดล้อมที่เปราะบางหรือพื้นที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง โดยเร่งดำเนินการให้อพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ไปอยู่ที่ใหม่ให้เหมาะสมและพร้อมที่จะมีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

3.2.6                                 การขจัดความยากจนโดยการประสานความร่วมมือระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันตก เป็นการดำเนินการในลักษณะจับคู่ระหว่างเมืองที่เจริญพัฒนาแล้วในภูมิภาคตะวันออกชายฝั่งทะเลกับเขตพื้นที่ยากจนในภูมิภาคตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ภายในส่วนลึกของจีน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การสร้างสรรค์ความสมบูรณ์พูนสุขร่วมกันแบบถาวรแบบถ้วนหน้า ทั้งจากภาครัฐ ทั้งจากความร่วมมือของผู้ประกอบการรวมทั้งจากความช่วยเหลือจากสังคม โดยมีรูปแบบที่ 1 เป็นความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ เช่น 14 หัวเมืองในมณฑลซันตง ตะวันออกได้จับคู่กับอำเภอยากจน 14 แห่งในภาคตะวันตกในพื้นที่มหานครฉงชิ่ง รูปแบบที่ 2 ) เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการลงทุนและพัฒนาโดยมีการประชุมร่วมกันปีละครั้ง ระหว่างมณฑลฮกเกี้ยนกับเขตปกครองตนเองชนชาติหุย หนิงเซีย (มุสลิม) รูปแบบที่ 3 เป็นความร่วมมือระหว่างปักกิ่งกับมองโกเลีย ใน ดังนี้เป็นต้น

4                               จะถอนความช่วยเหลือออกจากแผนงานหรือโครงการได้อย่างไร เมื่อหมดความยากจนไปแล้ว สี จิ้นผิงกล่าวว่าควรมีการกำหนดระยะเวลาของความช่วยเหลือ และวันเวลาที่จะต้องถอนโครงการออกมาเป็นลำดับๆ ไป การถอนความช่วยเหลือต้องทำเป็นรายครอบครัว แต่ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลทุกคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือก็คือคนยากจนจะต้องมีส่วนร่วมในการชี้ว่าความยากจนของพวกเขาหมดไปหรือยังอีกด้วย

              ตามแผนก็คือภายในปี 2563 จะต้องรับประกันได้ว่าจะต้องขจัดความยากจนให้ได้ทั้งหมดทั่วประเทศและรับประกันว่าอำเภอยากจนทั้งหมดต้องได้รับการปลดป้ายถอนออกจากทะเบียน “อำเภอยากจน” ทั้งหมด  และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าความยากจนหมดไปแล้วจริงๆ ก็ได้กำหนดให้มีการประเมินผล ทุกมณฑล ทุกจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับอำเภอซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรง ทุกครัวเรือนและทุกคนที่ยากจนอีกด้วย ประเมินโดยบุคคลที่ 3 ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือ และการประเมินผลนั้นจะต้องทำทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพเพื่อให้ปราศจากอคติ และความถูกต้องแม่นยำในการประเมิน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียวนั่นเอง

              ถอดป้ายอำเภอยากจนออกก็จริง  แต่ยังไม่ถอนนโยบายความช่วยความยากจนออกทันที สีจิ้นพิง เสนอว่า เมื่ออำเภอยากจนได้รับการถอดป้ายจากทะเบียนความยากจนแล้วยังคงต้องดำเนินภารกิจช่วยเหลือประชาชนยากจนต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละครอบครัวแต่ละคนในครอบครัวนั้นๆ หลุดพ้นจากความยากจนอย่างแท้จริง ทีมงานขจัดความยากจนต้องไม่ถอนออกทันทีเพื่อดูแลว่าคนจนจะไม่หวนกลับมายากจนอีกนั่นเอง

Visitors: 397,160