STOP TPP ผลกระทบต่อ เกษตรกรรายย่อย
คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.)ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ในวันที่ 29 เมษายน 2559 นี้ ทั้งนี้โดยการสนับสนุนของกลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในประเทศหลายกลุ่ม มีการอ้างผลการศึกษาของ "สถาบันปัญญาภิวัตน์" มาใช้เป็นเหตุผลสนับสนุน ทั้งๆที่ผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ดังกล่าวไม่เคยมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ถูกท้วงติงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากสถาบันปัญญาภิวัฒน์เป็นกิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์เจ้าของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกิจการส่วนใหญ่ของบริษัทในเครือจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม TPP
สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้จัดประชุมเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของ TPP โดยมีองค์กรของเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกร สมาคมปศุสัตว์ กลุ่มเกษตรผู้ปลูกข้าวโพด เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และนักวิชาการด้านปศุสัตว์ พันธุ์พืช และทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งจากสถาบันการศึกษา และองค์กรสาธารณประโยชน์ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผลสรุปจากการประชุมพบว่า TPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและต่อทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างร้ายแรง ดังนี้
1. ผลกระทบต่อภาคการเลี้ยงปศุสัตว์
เกษตรกรที่เลี้ยงสุกรและไก่ จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยสูงกว่าสหรัฐมาก เช่น ต้นทุนการเลี้ยงไก่ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 35 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 23 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนการเลี้ยงสุกรของไทยโดยเฉลี่ยก็สูงกว่าต้นทุนของสหรัฐในลักษณะเดียวกัน การเข้าร่วม TPP จะทำให้เนื้อสัตว์จากสหรัฐทั้งสุกรและไก่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์พวกเครื่องในสัตว์ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของการผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์ ไหลทะลักเข้ามาภายในประเทศไทย
ประเทศไทยมีบทเรียนที่ภาคปศุสัตว์ของไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการเปิดเสรีการนำเข้าเนื้อสัตว์จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ โดยการลดภาษีการนำเข้าเนื้อสัตว์เหลือเพียง 10% ในปัจจุบัน และจะลดเหลือ 0% ในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้เนื้อวัวจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เข้ามาตีตลาดเนื้อวัวในประเทศ ปริมาณการเลี้ยงวัวเนื้อซึ่งเคยมีสูงถึง 9 ล้านตัว ลดลงเหลือเพียง 5 ล้านตัวเท่านั้น กรณีการเลี้ยงวัวนมก็ได้รับผลกระทบคล้ายคลึงกัน
การเข้าร่วม TPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรประมาณ 190,000 ครัวเรือน (โดยในจำนวนนี้ประมาณ 95% เป็นเกษตรกรรายย่อย เลี้ยงสุกรประมาณ 1-50 ตัว) และเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ประมาณ 32,000 ครอบครัว (โดยมีผู้เลี้ยงที่มีจำนวนไก่ไม่เกิน 10,000 ตัวคิดเป็น 90.4% ของผู้เลี้ยงไก่ทั้งหมด)
การเข้าร่วม TPP จึงจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว
2. ผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เป็นต้น
สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ของโลก โดยราคาข้าวโพด ณ วันที่ 27 เมษายน 2559 ที่ตลาดชิคาโกอยู่ที่ 5.8 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคารับซื้อข้าวโพดในประเทศมีราคาสูงถึง 8.15-8.35 บาท/กิโลกรัม การเข้าร่วม TPP โดยลดภาษีการนำเข้าข้าวโพด เป็นผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และผู้เลี้ยงไก่เนื้อรายใหญ่ไม่กี่บริษัทที่จะได้ประโยชน์จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาถูก แต่จะกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดมากกว่า 410,000 ครัวเรือน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ประเภทอื่นๆด้วยนอกเหนือจากข้าวโพด โดยหากผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยต้องเปลี่ยนอาชีพหรือลดจำนวนการเลี้ยงสัตว์ลง จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวนกว่า 470,000 ครัวเรือน เป็นต้น
3. ผลกระทบอันเกิดขึ้นเนื่องจากการเปิดเสรีสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ (จีเอ็มโอ)
การเข้าร่วม TPP ทำให้ประเทศสมาชิกต้องขจัดอุปสรรคทางการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ โดยในความตกลงได้กำหนดให้มีความตกลงเรื่องนี้เป็นการเฉพาะใน Article 2.29 : Trade in Products of Modern Biotechnology โดยใน Chapter 2: National Treatment and Market Access for Goods แสดงวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการเปิดเสรีและขจัดอุปสรรคการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ทั้งนี้โดยได้กำหนดขั้นตอนเพื่อดำเนินการในกรณีการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘low level presence’ (LLP) นั้น ต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ทุกประเทศในโลกเป็นภาคียกเว้นสหรัฐฯ
ประเทศที่เข้าร่วมความตกลงจะถูกกดดันให้ยอมรับสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ มิฉะนั้นอาจถูกฟ้องร้องได้ ตาม “TPPA’s dispute settlement procedures” โดยประเทศที่มิได้เป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยีหรือมิได้ทำการผลิตจีเอ็มโอ เช่น ประเทศไทย จะได้รับผลกระทบต่อความตกลงนี้ ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจรวมไปถึงการต้องยอมรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรม อุปสรรคในการติดฉลากสินค้าดัดแปลงพันธุกรรม และอาจรวมไปถึงการถูกกดดันให้ต้องยอมรับการปลูกพืชจีเอ็มโอในอนาคต
4. ผลกระทบกรณีทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับพันธุ์พืช ทรัพยากรชีวภาพ และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
การเข้าร่วมใน TPP ทำให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศและต้องยอมรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา ดังต่อไปนี้
- การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตาม UPOV1991 (Article QQ.A.8) โดยประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 ให้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ขยายการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ไปยังผลผลิตและผลิตภัณฑ์ คุ้มครองอนุพันธ์ของพันธุ์พืชใหม่(EDV) เพิ่มเงื่อนไขให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ห้ามเกษตรกรไม่ให้เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ และอาจต้องตัดกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ เป็นต้น
- ขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต โดยครอบคลุมการให้สิทธิบัตรในจุลินทรีย์ พืช และนวัตกรรมที่ได้จากพืช แต่ยกเว้นสัตว์ (Article QQ.E.1) เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากต่างชาติสามารถจดสิทธิบัตรยีนจากพันธุ์พืชและสมุนไพรต่างๆของประเทศไทย ลดทอนโอกาสในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
- การเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ จะเอื้ออำนวยให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต และขัดขวางการพัฒนากลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ เป็นต้น
- การยอมรับให้มีการคุ้มครองโดยใช้เครื่องหมายการค้าเพื่อคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบในการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ที่มาจากแหล่งทางภูมิศาสตร์ ดังกรณีศึกษาในอดีตที่ บริษัทเอกชนในสหรัฐจดเครื่องหมายการค้าที่อ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย เป็นต้น
จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยรายงานการศึกษาที่สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พบว่า ผลกระทบของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐฯจะทำให้
- เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาแพงเพิ่มขึ้น จาก 28,542 ล้านบาท/ปี เป็น 80,721-142,932 หรือเพิ่มขึ้น 52,179-114,390 ล้านบาท/ปี
- การสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,740 – 48,928 ล้านบาท/ปี
- ผลกระทบระยะยาวจากการถูกกีดกันการพัฒนายาสมัยใหม่สมัยใหม่ที่มาจากสมุนไพรซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท/ปี
รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 122,717-223,116 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการสูญเสียอธิปไตยเหนือทรัพยากรซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้
5. การยอมรับกลไกการคุ้มครองนักลงทุนโดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนฟ้องรัฐ (ISDS)
นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ในกรณีที่ดำเนินนโยบายที่ถูกตีความว่าขัดขวางการลงทุน หรือส่งผลกระทบต่อผลกำไรและการดำเนินงานของบริษัท เช่น หากรัฐบาลผลิตเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายหรือจำหน่ายในราคาถูกแก่เกษตรกร จนส่งผลกระทบต่อยอดขายเมล็ดพันธุ์ของบริษัทที่เข้ามาลงทุน หรือรัฐบาลออกกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพที่ถูกตีความว่าสร้างผลกระทบต่อการนำเข้าพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูกในประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐ (Investor-state Dispute Settlement : ISDS) ผ่านกลไก “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ซึ่งจากการศึกษาพบว่าอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการพิจารณาและตัดสินข้อพิพาท มักจะดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายหรืออยู่ในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเอกชน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อนุญาโตตุลาการจะทำหน้าที่เอื้อประโยชน์หรือปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนมากกว่าที่จะพิจารณาข้อพิพาทอย่างอิสระและเป็นกลาง
แม้ว่าประเทศจะอยู่ในยุคสมัยที่คณะทหารปกครองประเทศ แต่เชื่อว่าการตัดสินเข้าเข้าร่วม TPP จะทำให้เกษตรกรรายย่อยลุกฮือประท้วงรัฐบาลอย่างกว้างขวางแน่นอน
ที่มา : BIOTHAI