เอฟทีเอ ว็อทช์เตือน'ประยุทธ์' อย่าเข้าร่วม'ทีพีพี'
เอฟทีเอ ว็อทช์เตือน'ประยุทธ์' อย่าเข้าร่วม'ทีพีพี'
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 "เอฟทีเอ ว็อทช์" เตือน"ประยุทธ์" อย่าหลงคารมสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เข้าร่วม"ทีพีพี" ชี้กกร.และสถาบันวิจัยบางแห่งปั่นตัวเลขเกินจริง
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ระบุว่า ตามที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ.นี้ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมด้วยนั้น เชื่อว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ผู้นำสหรัฐฯจะใช้เป็นโอกาสสำคัญในการโน้มน้าวให้ประเทศอาเซียนที่เหลืออีก 7 ชาติ รวมทั้งประเทศไทยให้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) เพื่อให้บรรลุนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ คือการกลับมาปักหมุดในเอเชียและปิดล้อมจีน ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งแบบเบ็ดเสร็จให้กับบรรษัทข้ามชาติซึ่งจำนวนมากมีฐานอยู่ในสหรัฐ ขณะที่ประโยชน์ที่จะตกกับประเทศไทยไม่ชัดเจน
"หลังจากที่การเจรจา TPP จบลง ผู้นำสหรัฐฯประกาศว่า นับจากนี้ สหรัฐจะเป็นผู้กำหนดกติกาการค้าในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นการลดอำนาจของอาเซียนที่เพิ่งรวมกลุ่มกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน บรรษัทต่างชาติของสหรัฐจะมีอำนาจเหนือรัฐบาลในการแสวงหากำไรสูงสุด ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาและค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น จากการผูกขาดตลาดยา การห้ามต่อรองราคายา และจำกัดไม่ให้รัฐบาลออกนโยบายสาธารณะในการคุ้มครองผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เพราะรัฐบาลเกรงว่าจะถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องล้มนโยบาย-เรียกค่าเสียหายจากงบประมาณแผ่นดินผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไทยต้องเปิดรับสินค้าจีเอ็มโอ ต้องยอมรับการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งเกษตรกรต้องแบกค่เมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-6 เท่าตัว"
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าขณะนี้มีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการในไทยจำนวนหนึ่งในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) และนักลงทุนจากญี่ปุ่นให้ไทยเข้าร่วมเจรจา แต่ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ย้ำว่า การตัดสินใจว่าจะเข้าหรือไม่เข้าร่วม TPP ประเทศไทยต้องใช้ข้อมูลความรู้และงานวิจัยอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน
"เท่าที่ทราบ งานศึกษาที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ทำให้กับกระทรวงพาณิชย์ ที่ว่าหากไทยเข้าร่วม TPP จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.77% และหากไทยเข้าร่วม TPP และมีสมาชิกอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.06% ซึ่ง กกร.นำมาอ้างอิงให้รัฐบาลเข้าร่วมเจรจา TPP นั้น คณะกรรมการตรวจรับส่งให้กลับไปแก้ไขหลายเรื่องโดยเฉพาะความไม่สมเหตุสมผลในหลายจุด ขณะที่ในส่วนราชการต่างๆกำลังเร่งศึกษาข้อบทและวิเคราะห์ผลกระทบ จึงอยากให้งานศึกษาต่างๆเสร็จสมบูรณ์ ผู้นำรัฐบาลด้านนโยบายเศรษฐกิจไม่ควรไปกดดันให้เร่งสรุปหาทางเยียวยา เพราะนั่นเท่ากับเป็นการตั้งธงให้ข้าราชการชงข้อมูลที่เป็นเท็จ"
จากงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุดโครงการความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งสนับสนุนโดย สกว. ชี้ว่า แม้ประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา FTA ไม่ได้กระตุ้นการส่งออกมากนัก หากพิจารณาจากสถานการณ์การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 ตลาดที่ไทยลงนาม FTA ด้วยมักมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกติดลบ นอกจากนั้น อัตราการใช้ประโยชน์จาก FTA ก็ยังมีจำกัด กล่าวคือ มูลค่าการขอใช้สิทธิ FTA (ทุกๆ กรอบรวมกัน) ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกรวม (ใช้และไม่ใช้สิทธิ FTA) ตัวเลขการใช้สิทธิ FTA ทางด้านการนำเข้าก็อยู่ในระดับตํ่า เพียงไม่ถึง 1 ใน 5 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ขณะที่การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นคงทำได้ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะแต้มต่อภาษีที่จะได้จาก FTA ไม่มากพอที่จะชดเชยต้นทุนส่วนเพิ่มจากการปฏิบัติตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด และต้นทุนธุรกรรมในการขอใช้สิทธิ
"ดังนั้น เราคงต้องย้อนถามว่า การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านี้คุ้มค่าหรือไม่ ทั้งในแง่งบประมาณ บุคลากร และเวลาที่ใช้ไปกับการเจรจา ก่อนที่จะเร่งเดินหน้าเจรจาและลงนามต่อไป เวลานี้นับเป็นช่วงเวลาที่ดีเพราะขณะนี้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเดินหน้าเจรจา FTA ใหม่ๆ โดยเฉพาะ New Normal FTA อย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เรียกร้องให้ลดภาษีสินค้าจำนวนมากให้เป็นศูนย์ทันที และการเจรจาต้องครอบคลุมประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะประเด็นที่ยังไม่ตกผลึกอย่างข้อตกลงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ" งานวิจัย สรุป
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ขนขบวนเข้ามาโน้มน้าวรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ มองว่า ล้วนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ตนเองทั้งสิ้น ไม่ใช่ผลประโยชน์ของไทย ผู้นำรัฐบาลจึงต้องใช้สติปัญญาอย่างมากในการพิจารณาแยกแยะ
"หากนักลงทุนญี่ปุ่นจะมีการย้ายฐานการผลิตจริงดังที่สถาบันวิจัยบางแห่งกล่าวอ้าง อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าคงย้ายไปนานแล้ว เพราะมีความพยายามเป็นระยะ แต่ที่ย้ายไม่ได้เพราะเครือข่ายโรงงานและห่วงโซ่อุปทานฝังรากลึกในประเทศไทยและเป็นคลัสเตอร์ที่ใหญ่มาก ดังนั้น สภาพขณะนี้จึงเป็นการช่วยกันตีปีป ‘กลัวตกขบวน’ ของภาคเอกชนในและต่างประเทศบางส่วนร่วมกับสถาบันวิจัยบางแห่งโดยไม่มีความชัดเจนว่าไทยจะได้ประโยชน์จริงจากการเข้า TPP ซึ่งมีข้อบทที่ซับซ้อนและปฏิบัติเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยากมาก แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นจริงกับประชาชนทั้งประเทศหากไม่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ เคยหลงเชื่อกับการตีปีบเช่นนี้ จนลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA เปิดทางให้นำเข้าขยะสารพิษมาทิ้งที่ประเทศไทยเต็มบ้านเต็มเมือง นี่จึงเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำ"
นอกจากนี้ เมื่อวันวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ได้ส่งจดหมายถึงผู้นำอาเซียน 10 ชาติที่จะไปร่วมการประชุมสุดยอดกับผู้นำสหรัฐ ให้ปฏิเสธการเข้าร่วมและให้สัตยาบันกับความตกลง TPP ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อระบบสาธารณสุขทั้งภูมิภาค ขณะที่ทุกรัฐบาลกำลังมุ่งหน้าเพื่อให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและก้าวเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “หลายล้านชีวิตกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงนี้
Linked URL : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/686606
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์