บทความพิเศษ...TPP จุดตายทฤษฎี “ไก่ในเข่ง” กับม้าไม้เมืองทรอย

บทความพิเศษ...TPP จุดตายทฤษฎี  “ไก่ในเข่ง”  กับ "ม้าไม้เมืองทรอย"

“ในยามที่บ้านเมืองหรือองค์กรใดแตกความสามัคคี ความล่มสลายจะคืบคลานเข้ามา” คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอ ในยามที่เกิดวิกฤตผู้นำที่มองรอบด้าน หรือ มองภาพป่าทั้งป่าออก ย่อมนำพาให้บ้านเมืองฝ่าวิกฤตไปได้ พระพุทธเจ้ามหาศาสดาของโลก ที่สละพระองค์เพื่อหาทางพ้นทุกข์ให้ชาวโลก พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นแนวทางหาที่มาของทุกข์และแก้ทุกข์ หรือแม้แต่การให้ชาวพุทธเข้าใจหลักไตรลักษณ์ ที่ประกอบด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การละจากขันธ์ทั้งห้าที่เป็นตัวทุกข์ การรู้เท่าทันสุขทุกข์ที่เกิดกับกายใจล้วนเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ทั้งสิ้น นั่นคือแนวทางที่พระศาสดาหาวิธีแก้ปัญหาพ้นทุกข์ให้มนุษยชาติ

ทำไมผู้เขียนอ้างถึงทฤษฎีไก่ในเข่ง เพราะใกล้เทศกาลตรุษจีนที่เป็นช่วงการไหว้เจ้าที่จะต้องมีการใช้หมู เป็ด ไก่ เพื่อเป็นเครื่องไหว้ โดยในอดีตเวลาคนจีนจะฆ่าไก่เขาจะจับมารวมในเข่งก่อน

“หลายอุตสาหกรรมของไทยยามนี้เหมือนไก่อยู่ในเข่ง”
“เข่ง”
คือ “TPP” ที่รัฐบาลไทยปัจจุบันถูกแรงกดดันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องคิดใหม่ วิธีการเดิมๆ ที่เอาผลประโยชน์ชาติไปแลกเป็นวิธีที่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยปฏิบัติ ไม่เคยวางยุทธศาสตร์ตนเอง เป็นลูกไล่ประเทศใหญ่ๆ ร่ำไป

ในขณะที่ภาคปศุสัตว์ที่ต่อสู้เรื่องการคัดค้าน TPP ไป 2-3 ยกแล้วก็ยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ กำลังจะรวมตัวที่จะหาทางให้รัฐบาลคิดให้รอบด้าน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ต้องพูดถึงต่างไชโยโห่ร้องเชียร์ให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมให้เร็วที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการทำการศึกษาถึงผลได้ที่เป็นตัวเลขออกมาเลย

สำหรับภาคปศุสัตว์และประมงไทย อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลักแห่งหนึ่ง ที่ครองอันดับหนึ่งมาตลอดทั้งปริมาณและมูลค่าในช่วง 3-4 ปีก่อนที่จะมีโรคตายด่วนในกุ้ง หรือ EMS มาทำลายทำให้เวียดนามไล่จี้จนทัน นอกเหนือจากเวียดนามแล้วในอาเซียนก็มีมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นผู้ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเช่นกัน แน่นอนว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยต้องเห็นด้วยกับการเข้าร่วม TPP แน่นอน เพราะไม่งั้นจะสู้เวียดนาม มาเลเซียไม่ได้ เพราะสองประเทศทรยศ RCEP หรือ ASEAN + 6 ไปซบ TPP ซะก่อนทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมหมูไก่เวียดนามกำลังรอวันตาย ในขณะที่มาเลเซียอาจจะได้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้นเพราะมาเลเซียวางยุทธศาสตร์ด้านสินค้าของประเทศสูงขึ้น โดยปัจจุบัน มีเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ เครื่องจักรมากขึ้น น่าจะได้ประโยชน์กับตลาดอเมริกามากขึ้น

ฟันธง...อุตสาหกรรมกุ้งไทยเห็นด้วยกับ TPP 100% ทั้งๆ ที่ไทยยังแก้ปัญหาค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ไม่ได้ ยังถูกคงสถานะ Tier 3 อนาคตข้างหน้ายังไม่มีความชัดเจน....ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้ร่างกฎหมายเพื่อขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ Presidential Task Force on Combating IUU Fishing เลียนแบบ IUU สหภาพยุโรปขึ้นมาอีก หลังจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ให้ระวังอเมริกาโยงการจับปลาเพื่อไปผลิตปลาป่นที่เป็นอาหารเลี้ยงกุ้งที่ขัดกฎหมายฉบับใหม่นี้ ถึงเวลานั้นจะเป็น Dead Lock ที่ต้องตามแก้ไม่รู้จบ เพราะสหรัฐอเมริกาจะนำมาเป็นเหตุผลต่อต้านกุ้งจากไทยด้วย เพราะในสหรัฐอเมริกาเองก็มีเกษตรกุ้งเช่นกันใน 6 มลรัฐ ประกอบด้วย Alabama, Florida, Georgia, Louisiana, Mississippi และ Texas ที่ร้องเรียนเสมอมาว่าได้รับผลกระทบกุ้งถูกจากประเทศแถบเอเซียและเอกวาดอร์มาทำลายอุตสาหกรรมกุ้งในสหรัฐ ถึงแม้รัฐบาลไทยจะออกกฎหมายบังคับการทำประมงให้ถูกต้อง แต่อเมริกาไม่มองประเด็นนี้ แต่กลับไปมองประเด็นมีผู้ฝ่าฝืน ซึ่งมองแบบนี้เท่ากับหาเรื่องคล้ายนิทานอีสป "หมาป่า กับ ลูกแกะ" ที่ประวัติศาสตร์มองว่าเป็น "มูลเหตุ" ที่แท้จริงของการหาเรื่องเอาผิดกรณี ร.ศ.112 ยุคล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ 5

จะเห็นได้ว่า TPP นอกจากเป็น “เข่ง” สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศไทยแล้ว ยังเป็น “เข่ง” กับนานาประเทศในอาเซียนด้วย ทั้งๆ ที่เราตื่นเต้นกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกันมา 2-3 ปีก่อนถึงกำหนด ตอนนี้เป็นมา 1 เดือนแล้ว คำถามคือ “แล้วไงต่อ”

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทย ส่วนหนึ่งเริ่มเห็นด้วยกับ TPP เพราะมองว่าต่อไปจะได้ซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้าวโพด ข้าวสาลีถูกๆ 5-6 บาทต่อกิโลกรัมกันแล้ว คำถามตามมาคือ แล้วท่านจะผลิตไปขายใคร เพราะต่อไปหมูไก่อเมริกาจะเต็มกะบะใน TESCO LOTUS ลดกระหน่ำใน BIG C มีบรรจุภัณฑ์สวยงามตามตลาดสด

นี่แหละทฤษฎี “ไก่ในเข่ง...ภายใต้แรงกดดัน TPP” ของจริง

TPP ที่มีการรวมตัวของประเทศสมาชิกมานานกว่า 10 ปี โดยมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ ทั้งจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ  ตลอดจนท่านศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ของไทย อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) ที่คุ้นเคยกับการค้าระหว่างประเทศมาอย่างช้านานและรู้ถึงพฤติการณ์ของประเทศใหญ่ๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี ตามที่ท่านได้กล่าวไว้ในการปาฐกถาพิเศษในวาระครบรอบ 94 ปี กระทรวงพาณิชย์ โดยท่านไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม TPP โดยแนะนำให้ร่วมผลักดัน ASEAN + 6 หรือ RCEP ในการกล่าวปาฐกถาในครั้งนั้น ท่านยังให้ข้อคิดของการเกิดกลุ่มการค้าเสรีในลักษณะ TPP จะมีมากขึ้น เพราะการเจรจาการค้ากรอบใหญ่ภายใต้องค์การการค้าโลกหาข้อยุติยาก เพราะแต่ละประเทศก็ต้องมุ่งเจรจาเพื่อประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลัก การเกิดของ TPP จึงนับว่าเป็นไปตามประสงค์ของประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่ต้องการวางกฎเกณฑ์

เป็นกำลังใจให้ภาคปศุสัตว์ไทยนะครับ....อย่าทิ้งกันซะก่อน ประเทศเรายังมีทางออกถ้ารัฐบาลไทยคิดให้รอบด้าน

นักข่าวเกษตรอิสระ

5 มกราคม 2559

Visitors: 431,774