อดีตบิ๊ก ปตท. แนะรัฐบาลตัดสินใจรอบคอบ ยุทธศาสตร์การค้า TPP
'ปานปรีย์' แนะรัฐบาลตัดสินใจรอบคอบ ยุทธศาสตร์การค้า 'ทีพีพี'
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 17 พ.ย. 2558 06:15
“ปานปรีย์” แนะรัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมทีพีพี หรือไม่และในช่วงเวลาใด เพราะภาคเอกชนรอคอยคำตอบ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน แต่ต้องมีความรอบคอบคำนึงข้อดีข้อเสียทุกๆด้าน ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง เพราะทุกประเทศที่เข้าร่วมก็มีเหตุผลที่แตกต่างกัน
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยในอดีตเคยตัดสินใจจัดทำข้อตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีกับหลายประเทศ มาถึงวันนี้ รัฐบาลต้องตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) หรือทีพีพี ที่เป็นเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก มีมูลค่าการค้าคิดเป็น 40% ของมูลค่าการค้าโลกหรือไม่ เบื้องต้น TPP สามารถบรรลุข้อตกลงได้แล้ว เมื่อเดือน ต.ค. จากนี้ไป ต้องรอการผ่านกระบวนการความเห็นชอบทางกฎหมาย (ratify) ของ 12 ประเทศสมาชิกเสียก่อน ซึ่งมี 4 ประเทศจากอาเซียน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวสูง หากย้อนเวลากลับไปนับตั้งแต่ปี 2533 ที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง จะเห็นได้ว่า โลกเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐฯเป็นหัวเรือใหญ่ ได้แพร่กระจายระบบทุนนิยมไปทั้งโลก ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็ยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับทุนนิยม ไม่เว้นแม้แต่จีน ที่ก่อนหน้านี้ผู้นำจีนมองเห็นการณ์ไกล ตัดสินใจยกเลิกระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง แบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มาเป็นระบบเศรษฐกิจ โดยกลไกตลาดเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ ทำให้คนจีนพ้นจากความยากจนไปหลายร้อยล้านชีวิต ส่งให้ในวันนี้ จีนผงาดขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ
“การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกของจีน ณ เวลานั้นทำให้โลกวันนี้หันกลับมาให้ความสนใจกับเศรษฐกิจเอเชียและจีนมากขึ้น แต่ต่อมาภายหลังปี 2549 เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในซีกโลกตะวันตก ทำให้สหรัฐฯต้องกลับมาทบทวนว่าภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จะกำหนดทิศทางประเทศเพื่อรักษาอำนาจอิทธิพลในเอเชีย-แปซิฟิกต่อไปได้อย่างไร ที่สำคัญคือ สกัดอิทธิพลของจีนในภูมิภาคไปด้วย”
ทำให้ปี 2550 ประธานาธิบดีจอร์จ บุช จึงประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม TPP ที่มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มมาก่อนหน้านี้ของ 4 ประเทศ บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ หรือ 4P โดยอ้างถึงเหตุผลที่คลุมเครือว่า “เพื่อให้ธุรกิจของสหรัฐฯมีความสามารถแข่งขันในเอเชีย-แปซิฟิก” และปี 2551 ประธานาธิบดีโอบามาก็เข้ามาสานต่อและเร่งผลักดันจน 12 ประเทศสมาชิกบรรลุข้อตกลง TPP กันได้
แต่ละประเทศมีผลประโยชน์แตกต่างกัน
นายปานปรีย์กล่าวว่า ตนเคยมีโอกาสร่วมจัดทำนโยบายและเป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีรายประเทศ คือประเทศอินเดีย ฯลฯ จึงขอให้ข้อคิดเห็นและมุมมองเกี่ยวกับ TPP อาทิ 1. สหรัฐฯ ไม่ได้มอง TPP เป็นเพียงการร่วมกลุ่มทางการค้า แต่มองเป็นยุทธศาสตร์ในการเข้าแข่งขันทั้งในเวทีการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ ที่จะคงอิทธิพลในเอเชีย-แปซิฟิกไว้อย่างเหนียวแน่น TPP จึงมีความแตกต่างจาก FTA ที่ไทยเคยเจรจากันมา ทั้งด้านเนื้อหาในข้อตกลงที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ขั้นตอนการเจรจา วิธีการเข้าร่วมเป็นสมาชิก หรือการมีทั้งประเทศสมาชิกที่เป็นมหาอำนาจร่วมกับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่อยู่ห่างไกลรวมกันเป็นกลุ่ม ที่แตกต่างจากความต้องการของการเจรจา FTA แบบภูมิภาคที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่อยู่ใกล้ชิดกัน
2. TPP ในสายตาของแต่ละประเทศที่เข้าร่วม มีมุมมองและเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น สหรัฐฯ เน้นการเป็นผู้นำเศรษฐกิจระดับโลก หรือมาเลเซีย ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ให้ความสำคัญกับการเจรจาในเรื่องการเปิดเสรีการลงทุน เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาเป็นหลัก เวียดนามที่เน้นเรื่องการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ตั้งเป้าไปสู่การเป็นประเทศฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งใหญ่ในอาเซียน หรือญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็ยังเข้าร่วม ทั้งที่รู้กันว่า ภาคเกษตรญี่ปุ่นมีอิทธิพลทางการเมืองสูง และไม่เห็นด้วยมาตลอด แต่ด้วยการมองว่าความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศมีความสำคัญสูงสุด จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะเข้าร่วมใน TPP
สำหรับไทย ถ้าต้องพิจารณาเรื่อง TPP คงไม่ใช่เป็นเรื่องยุทธศาสตร์อย่างสหรัฐฯ เพราะไทยเป็นประเทศเล็ก ที่มีขนาดเศรษฐกิจเพียง 0.5% ของอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) โลก เท่านั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออก ต้องการเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ และคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯที่ใกล้ชิดกันมายาวนานด้วย
- ในกรณีที่มีการพูดกันว่า หากไทยเข้า TPP เป็นการเลือกข้างสหรัฐฯมากกว่าประเทศอื่น ประเด็นนี้คงไม่ใช่ประเด็นหลักในการพิจารณา เพราะเรามีนโยบายต่างประเทศในเรื่องความเป็นกลาง การเจรจา TPP เป็นเรื่องปกติ แต่ควรให้ความสำคัญต่อการพิจารณาถึงผลดี-ผลเสียในเชิงความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
เตือนรัฐบาลตัดสินใจให้รอบคอบ
นายปานปรีย์กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอให้รัฐบาลศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วยว่า ทำไมมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และล่าสุดอินโดนีเซีย ที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะขอร่วมเป็นสมาชิกใน TPP อะไรคือปัจจัยสำคัญที่พวกเขาใช้ในการตัดสินใจ เพราะหากพิจารณาจากหัวข้อในข้อตกลงทั้ง 30 หัวข้อเจรจาที่กำลังจะเปิดเผยเร็วๆนี้ ทั้ง 5 ประเทศ แต่อาจยกเว้นสิงคโปร์ที่มีระดับการเปิดเสรีเกือบ 100% ในเกือบทุกสาขา ก็อาจมีหลายประเด็นที่จะมีผลกระทบเช่นเดียวกับไทย โดยเฉพาะในรายการสินค้าที่อ่อนไหว และทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเช่นเรื่องสิทธิบัตรยา หรือผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และอื่นๆ
ดังนั้น ความท้าทายใหม่ของประเทศไทย คือ เราจะยอมรับเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP หรือการเข้าร่วมกับกลุ่มการค้าอื่นๆก็ถือว่าเพียงพอแล้ว และแนวคิดแบบใดที่จะให้ประโยชน์สูงสุดกับไทย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วม จะรับมือกันอย่างไร เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจด้วยความรอบคอบ การนิ่งเฉยรอเวลาไปอีก 1-2 ปี ไม่ใช่คำตอบที่หลายฝ่ายคาดหวัง ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะกลุ่มธุรกิจ การค้า การลงทุน จะต้องเตรียมตัววางแผนธุรกิจล่วงหน้าเป็นปี พวกนี้คงอยากเห็นความชัดเจนในทิศทางการตัดสินใจของรัฐบาลตั้งแต่วันนี้
“จากนี้ไปต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งต้องดูไปพร้อมกับแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ว่าทั้งสองส่วนนี้จะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทย ได้อย่างไร มีความยืดหยุ่นทางนโยบายเพียงพอหรือไม่ ผมยังหวังว่า จากนี้ไปรัฐบาลจะช่วยปรับแนวทางของประเทศไทยให้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการค้าโลกในปัจจุบันได้”.
https://www.thairath.co.th/content/539894
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ