สุรินทร์ย้ำ เผชิญหน้า กับ TPP ไทยต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน

สุรินทร์ย้ำ เผชิญหน้า กับ TPP ไทยต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน


“Now, it’s more important than ever!”

การเสียโอกาสใน TPP คือปัจจัยเร่งใหม่ให้ไทยต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน

กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองจากสังคมเป็นอย่างมากถึงการเกิดขึ้นของเขตการค้าเสรีที่สำคัญของโลกอย่าง TPP (Trans – Pacific Partnership) หลังจากการเจรจาอย่างเข้มข้นเป็นเวลาหลายปี สำหรับประเทศไทยเองทุกภาคส่วนได้แสดงถึงความกังวลว่าการเกิดขึ้นของ TPP โดยปราศจากไทยเป็นสมาชิกจะเป็นผลลบต่อประเทศไทยอย่างไร หรือ ว่าจะช้าเกินไปหรือเปล่าหากประเทศไทยจะเข้าร่วม หรือ ถ้าเราไม่เข้าร่วมแล้วจะเกิดผลเสียอะไรบ้าง ซึ่งความจริงแล้วความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในรูปแบบ TPP ได้ถูกริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2004 หรือ 11 ปีมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาความร่วมมือนี้กลับไม่ได้เป็นที่สนใจมากเท่าที่ควรด้วยเหตุผลต่างๆ อาทิ ความไม่พร้อมของประเทศไทยในประเด็นข้อบังคับที่กำหนดขึ้นในกรอบ TPP หรือการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอยู่แล้ว หรือ การที่ไทยเราไม่ต้องการที่จะเข้าไปเป็นหมากในความขัดแย้งของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและจีน ในส่วนของ ASEAN (Association of Southeast Asian Nation) เองนั้นการเกิดขึ้นของ TPP จะเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศสมาชิกต้องร่วมมือกันมากขึ้น ร่วมกันผลักดันกรอบความร่วมมือต่างๆ ของอาเซียนโดยเฉพาะ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีร่วมกันของ ASEAN กับอีก 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

 

ไม่ว่าเหตุผลของการไม่ได้เข้าร่วม TPP จะเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยและประชาคมอาเซียนอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ ความหมายของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ในกลุ่มสมาชิก TPP นั้นมีประเทศในอาเซียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกถึง 4 ประเทศ ประกอบด้วย สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และ เวียดนาม ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าประเทศเหล่านี้ มองข้ามการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในอาเซียนไปสู่ความร่วมมือนอกกลุ่มอาเซียน ในขณะที่ทุกวันนี้ประเทศไทยกลับยังเพียงครุ่นคิดว่าเราจะเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างไร

TPP นั้นเป็นคู่แข่งที่สำคัญของกรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีของ ASEAN + 6 หรือ RCEP ซึ่งจะเปรียบเทียบได้อย่างสูสีในหลายแง่มุม

1. ถึงแม้ประชากรรวมกันของ กลุ่ม RCEP จะมีมากกว่า กลุ่ม TPP กว่า 4 เท่า แต่ผลรวมของ GDP นั้น TPP กลับมีค่าที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2014 สมาชิก 12 ประเทศของ TPP นั้นมี GDP รวมกันเป็นมูลค่าถึง USD 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ 16 ประเทศจากกลุ่ม RCEP นั้นมี GDP รวมเป็นมูลค่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งคือการที่ กลุ่ม TPP มีประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาด GDP สูงที่สุดในโลก

2. ปริมาณการค้าภายในแต่ละกลุ่มชี้ให้เห็นถึงจำนวนเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันมาก ในปี 2011 ในรายงานจาก Federation of American Scientists ชี้ให้เห็นว่าในกลุ่มประเทศ TPP มีมูลค่าการค้าภายในกลุ่มสูงถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ภายในกลุ่ม ASEAN+6 ในปีเดียวกัน จากรายงานของ ASEAN Statistics แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการนำเข้า-ส่งออกภายในกลุ่มมีเพียง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

แต่ถ้าพิจารณาถึงมูลค่ารวมของการค้าระหว่างประเทศของทุกประเทสมาชิกในแต่ละกลุ่มรวมกันในปี 2014 จะพบว่าตัวเลขของทั้ง TPP และ RCEP มีมูลค่าสูสีกัน โดยในส่วน RCEP นั้นมูลค่าการค้าของทุกประเทศรวมกันจะมีมูลค่าถึง 10.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉือนชนะ TPP ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 9.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งหมดนี้บ่งชี้ถึงความเข้มข้นของการแข่งขันระหว่างกลุ่มความร่วมมือสองกลุ่มนี้ เพื่อสร้างความสำคัญให้กับกลุ่มตัวเอง และสร้างอำนาจต่อรองร่วมกันภายในเศรษฐกิจโลก

สำหรับ 4 ประเทศอาเซียนที่เข้าร่วม TPP นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ สิงคโปร์และบรูไนซึ่งเป็นประเทศที่มีระดับรายได้สูง เทียบได้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว และอาจมีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนทั่วไป จึงไม่แปลกหากทั้ง 2 ประเทศจะมองข้ามความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอย่างอาเซียนไปสู่ความร่วมมือนอกภูมิภาคอย่าง TPP แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าคือการที่สมาชิกอาเซียนอีก 2 ประเทศ อันได้แก่ เวียดนามและมาเลเซีย ที่มีพื้นฐานและฐานะทางเศรษฐกิจในระดับที่ไม่แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก หรือในบางแง่มุมสองประเทศนี้อาจจะมีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ที่ยังไม่ทัดเทียมกับประเทศไทย ตัวอย่างแง่มุม (ทั้งมากกว่าและน้อยกว่าเรา) เหล่านี้ เช่น

1. ระดับรายได้ของประชาชน ประเทศไทยมีรายได้ประชากรต่อหัว (GDP per capita) เป็นอันดับที่ 4 รองจาก สิงคโปร์ บรูไน และ มาเลเซีย ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศเวียดนามนั้น อยู่เป็นอันดับที่ 7 ของอาเซียน

2. การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินั้น ประเทศไทยยังถือว่าได้เปรียบประเทศเวียดนามและมาเลเซียอยู่ในปัจจุบัน โดยต่างชาติยังเชื่อมั่นและลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบันที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจไทย อาจส่งผลให้การเติบโตของเม็ดเงินลงทุนในไทยอาจไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร และเป็นที่น่ากังวลว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศเวียดนามและมาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองที่สุดอาจรุกแซงหน้าเราไปได้

ในส่วนการจัดอันดับประเทศที่มีโอกาสดึงดูดนักลงทุนมากที่สุด ของ Global Opportunity Index โดยให้คะแนนจาก 4 ปัจจัยสำคัญได้แก่ พื้นฐานเศรษฐกิจ ความคล้องตัวในการทำธุรกิจ คุณภาพของหลักเกณฑ์ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งประเทศสิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดและเป็นที่ 1 ของโลก ในขณะที่ประเทศไทยนั้นถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 44 หรือเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ซึ่งถ้านับในด้านจุดแข็งแล้วประเทศไทยยังเป็นที่เชื่อมั่นมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน หากแต่ว่าเราจะชะล่าใจไม่ได้ เพราะประเทศไทยเองก็ยังถูกทิ้งห่างจากคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศมาเลเซียที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม TPP

เพื่อไม่ให้ประเทศไทยที่ผมเคยกล่าวว่า ตกหลุมดำ ต้องมาตกขบวนรถไฟการพัฒนาอีก เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ชะล่าใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ใช้โอกาสที่สังคมเกิดการตระหนักรู้กับการพลาดโอกาสในเรื่องนี้ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นที่จะเร่งเกียร์ ยกเครื่ององคาพยบใหม่ของประเทศอย่างเร่งด่วน ปรับปรุงกลไกภายในเพื่อสร้างความเข้มแข็งทดแทนความเสียเปรียบจากการเสียโอกาสในการเข้าร่วม TPP

ในมุมมองของประชาคมโลกประเทศไทยยังมีความหวังและเป็นที่จับตามองในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติ หรือ Foreign Direct Investment (FDI) ที่ต่างชาติยังให้ความสนใจลงทุนในไทยเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน ด้วยมูลค่ากว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2013 ซึ่งสูงกว่าประเทศมาเลเซีย (12,300 ล้านเหรียญ) และ เวียดนาม (8,900 ล้านเหรียญ) ในด้านของความพร้อมสำหรับการพัฒนาและการลงทุนนั้น ประเทศไทยมีสาธารณูปโภค (Infrastructure) ที่เอื้ออำนวยมากกว่าประเทศเวียดนามมาก และ มีแผนการลงทุนโครงข่ายคมนาคมอย่างชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งย่อมส่งผลให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติ ตลอดจนเสริมสร้างพื้นฐานการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดีประเทศไทยเองยังจำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงเครื่องยนต์ภายในที่เปรียบเสมือนเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อต่อยอดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถยืนหยัดต่อสู้ภายใต้กระแสการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกวัน ประเทศเราจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะในอีกไม่กี่เดือนเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว สิ่งแรกที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคือ แรงงานที่มีคุณภาพที่พร้อมจะทำงานในมาตรฐานระดับนานาชาติ ในขณะเดียวกันภายในประเทศไทยเองย่อมจำเป็นที่จะต้องสร้างฐานรากที่มั่นคง ทั้งในส่วนระบบการทำงานของภาครัฐที่มีมาตรฐานและมีความโปร่งใส ความเป็นเลิศของคุณภาพข้าราชการ รวมทั้งการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

การเข้าร่วมกลุ่ม TPP ได้ก้าวเข้ามาเป็นตัวเลือกของสมาชิกอาเซียน ทำให้ความหมายและบทบาทของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถูกลดทอนความสำคัญลง อาเซียนเองจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างให้เกิดความร่วมมือภายใต้กรอบ RCEP เพื่อป้องกันไม่ให้ TPP เป็นทางเลือกที่จะเข้ามาแย่งชิงความสำคัญจากกรอบความร่วมมือของอาเซียนเดิมนี้ และจำกัดการขยายวงของ TPP ในการดึงดูดสมาชิกอาเซียนอื่นที่เหลือเข้าสู่กรอบความร่วมมือ TPP ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นแล้วท้ายที่สุดจะส่งผลลบต่ออำนาจต่อรองและอิทธิพลทางการค้าของอาเซียนในประชาคมโลก

สำหรับประเทศไทยนั้นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งคือไทยเราจะต้องไม่ปล่อยให้การสูญเสียโอกาสในการเข้าสู่ TPP มาลดทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในการดึงดูดนักลงทุนและโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นไทยเราจำเป็นต้องสร้างรากฐานที่แข่งแกร่งในทุกด้านเพื่อขับเคลื่อนองคาพยบทั้งหมดไปข้างหน้าด้วยเกียร์ที่สูงขึ้น เพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และไม่ตกขบวนแห่งการพัฒนานี้

Visitors: 431,776