สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ แนะเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ช่วงอากาศเปลี่ยน เน้นดูแลใกล้ชิด
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ แนะเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ช่วงอากาศเปลี่ยน เน้นดูแลใกล้ชิด-จัดการฟาร์มดี
3 กรกฎาคม 2558 นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติห่วงสถานะการณ์โรค PRRS ระบาดในบางพื้นที่ ฝากคำแนะนำถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเรื่องอากาศเปลี่ยน และให้ความสำคัญกับการจัดการฟาร์มอย่างเข้มงวด
ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของปศุสัตว์ โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของฤดูกาล ที่ในหนึ่งวันมีอากาศแปรปรวนร้อนสลับกับเย็น ทำให้สัตว์ต้องปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน จึงเกิดความเครียดและเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น กลายเป็นความเสี่ยงของเกษตรกรที่อาจต้องประสบปัญหาสุขภาพสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีคำแนะนำสำหรับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรว่า ต้องให้ความสนใจและดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ โดยคำนึงถึงสุขภาพสัตว์ที่ต้องแข็งแรงและมีภูมิคุมกันโรคที่ดี ต้องเข้มงวดในการให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคที่เหมาะสม ควบคู่กับการจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้มีการระบายอากาศทีดีไม่ก่อความเครียดให้กับสุกร ในกรณีเลี้ยงสุกรในโรงเรือนปิดแบบอีแวป ควรสำรวจหลังคาและผ้าม่านด้านข้างให้อยู่ในสภาพดี และปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับสุกรในแต่ละช่วงอายุ กรณีเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนเปิด ในช่วงที่อากาศร้อนจัดควรติดพัดลมระบายอากาศเพิ่มเติม หรือเพิ่มน้ำหยดให้กับแม่สุกร หรือติดตั้งสเปรย์น้ำในโรงเรือนเป็นช่วงๆ เพื่อช่วยบรรเทาความร้อน แต่ไม่ควรเปิดตลอดเวลา เพราะจะทำให้อากาศชื้นจนเป็นสาเหตุให้สุกรป่วยได้ อาจทำการขังน้ำในรางอาหาร เพี่อให้สุกรได้ดื่มอย่างสะดวกและเพียงพอ รวมถึงเพิ่มวิตามินละลายน้ำให้สุกรกิน และเพิ่มอาหารที่มีโภชนะสูงสำหรับสัตว์ป่วย
ที่สำคัญต้องมีการจัดการสุขาภิบาลป้องกันโรคที่ดีด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการป้องกันเชื้อก่อโรคเข้าสู่ฟาร์ม ด้วยการควบคุมการเข้าออกของบุคคลและยานพาหนะ ต้องทำการฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าพื้นที่การเลี้ยง รวมถึงมีการป้องกันสัตว์พาหะนำเชื้อโรคต่างๆ เช่น หนูและนก
นอกจากนี้ต้องตรวจเช็คสุขภาพสัตว์อย่างเข้มงวด ระวังโรคในสุกรที่มักพบบ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS: Porcine Reproductive and Respiratory syndrome) ซึ่งเป็นโรคหรือกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในหมู และเป็นเฉพาะในหมูเท่านั้นไม่ติดสู่คน (zoonosis)
ทั้งนี้เกษตรกรต้องมีการจัดการหมูสาวก่อนเข้าฝูง ด้วยการแยกเลี้ยงหมูสาวประมาณ 1-2 เดือน และต้องนำแม่หมูแก่หรือหมูจากฝูงเดิมมาคลุกเลี้ยงด้วย ในอัตราส่วนหมูเดิม 1 ตัว ต่อหมูสาว 10 ตัว เพื่อให้เชื้อไวรัส PRRS ที่ซ่อนอยู่ในหมูเดิม มากระตุ้นภูมิคุ้มกันของหมูสาวให้รู้จักต่อสู้กับเชื้อโรคที่ไม่เคยเจอมาก่อน เท่ากับเป็นการให้วัคซีนแบบธรรมชาติกับหมูสาวก่อนนำเข้ารวมฝูงเดิม และแนะนำให้ทำวัคซีนป้องกันโรค PRRS เชื้อเป็นแก่หมูสาวก่อนนำเข้าฝูงในฟาร์ม เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันโรคด้วย นายกสุรชัยกล่าวทิ้งท้ายฝากผู้เลี้ยงสุกรหลังมีข่าวการระบาดของ PRRS ในภาคเหนือและมีข่าวออกหลายสื่อทั้งในและต่างประเทศ