สัมมนากระตุ้นชาวหมูโคราชคึกคัก ฟาร์มใหญ่ให้ความรู้ แบงค์รัฐร่วมสนับสนุน

สัมมนากระตุ้นชาวหมูโคราชคึกคัก ฟาร์มใหญ่ร่วมให้ความรู้ แบงค์รัฐร่วมสนับสนุน

7 พฤษภาคม 2565 นครราชสีมา - สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด นครราชสีมา และกรรมการสมาคมฯ ในพื้นที่ เร่งระดมให้ความรู้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเพื่อฟื้นฟูการเลี้ยง หลังหลายอำเภอในจังหวัดนครราชสีมาตอนบนได้รับความเสียหายจาก ASF ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีธนาคารของรัฐทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รอให้การสนับสนุน

              เริ่มการสัมมนาโดยท่านปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาคุณพศวีร์ สมใจ ได้กล่าวถึงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากับปัญหาโรคระบาดของจังหวัดทั้งในโคกระบือ ม้า และสุกรมากันอย่างพร้อมหน้า ซึ่งท่านได้เน้นในเรื่องของสุขอนามัย หรือ 1 ใน 5 ส  ที่ต้องมาเป็นอันดับแรก ถึงแม้จะมีหรือไม่มีวัคซีนป้องกันก็ตาม โดยได้ให้คำแนะนำในเรื่องของการฆ่าเชื้อว่า ก่อนที่จะทำการฆ่าเชื้อต้องทำความสะอาดให้สมบูรณ์ที่สุด ก่อนที่จะลงยาฆ่าเชื้อเพื่อผลสูงสุด และได้พูดถึงการป้องกันแมลงซึ่งเป็นพาหะที่สำคัญตัวหนึ่ง ที่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเกษตรกรที่มีการหยุดพักการเลี้ยงไป ก็ขอให้เน้นทำความสะอาดเล้าเป็นระยะๆ อย่าปล่อยให้เล้าทิ้งว่างไว้ โดยที่ไม่ทำอะไรเลย ต้องมีความพร้อมเสมอที่จะกลับมาเลี้ยงใหม่

              สุดท้ายได้เห็นถึงความกลมเกลียวของทุกภาคส่วนในวงการสุกรที่พยายามผลักดันการเลี้ยงให้เดินหน้า ซึ่งเป็นภาพที่ประทับใจ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในโคราชจะกลับมาอย่างมั่นคงยั่งยืนอีกครั้ง

              รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงดร.กชกร ดิเรกศิลป์ กลุ่มอายุรศาสตร์ปศุสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาอัพเดท ให้ความรู้ด้านการพัฒนาวัคซีนในแต่ละแนวทาง ลักษณะของตัวเชื้อ การใช้ส่วนต่างๆ ของเชื้อ วิธีการต่างๆในการทดสอบที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเป็นทางการสำหรับวัคซีน ASF โดยสำหรับความคืบหน้าที่เห็นชัดที่สุดก็จะเป็นการร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับเวียดนาม ที่ได้มาร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนในพื้นที่ของการระบาด และในห้องปฏิบัติการ ถึงแม้ปัจจุบันสหรัฐอเมริกายังไม่มีการระบาดของ ASF การเลี้ยงสุกรในสหรัฐเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง จากการเลี้ยงทั้งหมดและการส่งออก  ทำให้สหรัฐห่วงเรื่องดังกล่าวจึงลงพื้นที่ที่มีการระบาดในเอเชีย เพื่อทำการวิจัยร่วมกัน

              นอกจากนี้ยังมีฟาร์มขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการระบบ Bio Security การป้องกัน สำหรับฟาร์มที่ไม่ได้รับผลกระทบอันใดเลย

              เริ่มจาก สพ.ญ.อริยา สถิรเกียรติ สัตวแพทย์อาวุโสบริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  นำเสนอการจัดเรื่องยุทธศาสตร์การป้องกัน ASF โดยเรื่องเด่นจะอยู่ที่การได้เรียนรู้อะไรบ้างจากปี 2564 โดยเฉพาะสถานการณ์ตามช่องทางเสี่ยงติดเชื้อทั้ง 86% ที่ 43% สุกรติดเชื้อจากคนเข้าฟาร์ม ประกอบด้วย
              1. ไม่อาบน้ำเปลี่ยนชุด ห้องอาบน้ำไม่ได้มาตรฐาน

              2. ไม่แยกพื้นที่พักอาศัย ออกจากพื้นที่เสี่ยง มีการเข้าออกฟาร์มระหว่างการเลี้ยง

              3. คนเลี้ยงไปพื้นที่เสี่ยง เช่น ไปซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากตลาดสด

โดยข้อมูลการนำเสนอทั้งหมดเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางนำไปประยุกต์ใช้ตามแนวทางของกลุ่มซีพีเอฟ ที่ถือว่าแนวทางของซีพีเอฟ เป็นประโยชน์มากจากการนำเสนอสำหรับการสัมมนาในครั้งนี้

              คุณศราวุธ รัตนวณิชย์โรจน์รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารรุ่นสองจาก RMC ฟาร์ม  มีการแนะนำหลังวิกฤต ASF จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งแนวทางของ RMC ฟาร์มเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย กับ “ฟาร์มเปิดในระบบปิด”ของสมาชิกโครงการจ้างเลี้ยง  มีการเชิญคุณศราวุธ  รัตนวณิชย์โรจน์ ไปให้ความรู้กับเกษตรกรในหลายเวที  แนวคิดของ RMC คือ พัฒนาฟาร์มสมาชิกโครงการจ้างเลี้ยงกว่า 100 โครงการเข้าสู่ระบบ Good Farming Management(GFM) ทุกฟาร์ม พร้อมปฏิบัติตามแนวคู่มือฟาร์มของ RMC มีทีมงาน Audit เฉพาะของ RMC เวียนตรวจสอบฟาร์มสมาชิกเสมอๆ  เน้นให้เกษตรกรดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพทั้งภายนอกและภายใน  และระบบค่าตอบแทนเพิ่มเติมกับผลสำเร็จของเกษตรกรในโครงการจ้างเลี้ยง ซึ่งลักษณะของโครงการจ้างเลี้ยงจะเป็นโครงการสำหรับความยั่งยืนของการเลี้ยงสุกรไทยที่ฟาร์มทุกขนาดจะเดินหน้าไปด้วยกันพร้อมกับคุณภาพของผลผลิตที่ได้มาตรฐาน  

              คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ต กับ หัวข้อฟาร์มรายย่อยจะอยู่อย่างไรจึงรอดพ้น ASF โดยนำประสบการณ์จริงที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก ASF เลย นับจากการระบาด โดยคุณอุดมศักดิ์นำเสนอแนวทางตามระบบ GFM กับฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม ของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย  ที่จะคล้ายกับ “ฟาร์มเปิดในระบบปิด”ของสมาชิกโครงการจ้างเลี้ยงของ RMC ฟาร์ม ที่เน้นปรับขนาดของระบบไบโอเซคเคียวริตี้ให้เล็กลงตามขนาดของการลงทุน แต่คุณภาพต้องได้

              ปิดท้ายด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญหน้าสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนซึ่ง ในการสัมมนาครั้งนี้อาจารย์ได้พูดถึงในเรื่องของการใช้สารเสริมและกรดไขมันต่างๆ แบบผสมผสาน ที่จะเป็นตัวมาประกอบเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันเนื่องจากปัญหาวัคซีนยังไม่มีจำหน่าย หรือแม้แต่เพื่อการต้านไวรัส ที่ให้สารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์สามารถแทรกซึมเข้าไปในชั้นไขมันที่ห่อหุ้มไวรัส ซึ่งเป็นการให้ความรู้ทุกหัวข้อในงานสัมมนาอย่างครบวงจรจากวิทยากรแต่ละท่านที่พูดถึง ตั้งแต่ BioSecurity การจัดการต่างๆ ในฟาร์ม ฟาร์มเปิดในระบบปิด การรอดพ้นจาก ASF ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันของฟาร์มหมูยโส ความรู้ด้านวัคซีน ให้คำแนะนำดีๆ จากท่านปศุสัตว์จังหวัด

              ปัจจุบันนับตั้งแต่มีการระบาดของโรค ASF ในสุกร เป็นต้นมา มีการประเมินความเสียหายไปถึง 40-50% แต่การผลิตสุกรที่มีลักษณะเป็นพลวัต ที่มีการเคลื่อนตัวของทุกกิจกรรมตั้งแต่การเตรียมแม่พันธุ์สุกรสาว การผสมเทียม การเข้าคลอด การจำหน่ายลูกพันธุ์สุกร การนำสุกรเข้าขุน จนถึงการนำออกจำหน่าย การเชือดและการแปรรูป  เมื่อบางจุดของวงจรใดหายไป ก็จะมีการทดแทนของฟาร์มที่มีความพร้อม ทำให้จำนวนผลผลิตสุกรในปัจจุบันของไทยลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลผลิตในปีก่อนเกิดการระบาดของโรค ASF ในสุกร โดยมีการย้ายฐานการผลิต ในประเด็นนี้คุณศราวุธ รัตนวณิชย์โรจน์รองกรรมการผู้จัดการ จาก RMC ฟาร์ม ได้มีการนำเสนอว่ารายใหญ่ทราบช่องว่างนี้และเตรียมตัวขยายรอไว้เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวถึงแม้ประเทศจะกลับมามีความปลอดภัยในด้านความมั่นคงทางอาหาร มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น แสดงรายได้ต่อหัวของประชาการเฉลี่ยสูงขึ้น แต่จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจกระจุกตัวตามมาและเกิดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ โดยต้องพิจารณา GDP per capita ร่วมกับ Gini Index

              ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รายกลาง ได้กลับมาประกอบอาชีพอีกครั้ง จะเป็นผลดีต่อการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งรายย่อย รายกลาง ต้องมีการปรับตัว ปรับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมมากมายแต่ประการใด เช่นเดียวกับที่วิทยากรส่วนหนึ่งได้นำเสนอ 

              ล่าสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) หลังจากผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี กำหนดแผน 5 ปี ภายใต้แผนนี้กำหนดเป้าหมายไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะรายได้ต่อหัวคนไทย (GDP per capita) ต้องขยับไปเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี หรือขึ้นไปถึงปีละ 300,000 บาท จากการพิจารณาตัวเลขรายได้ต่อหัวคนไทยในปัจจุบันพบว่า ยังคงมีอัตราที่ค่อนข้างต่ำ โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบข้อมูลย้อนหลังในแต่ละปี มีรายละเอียด ดังนี้

  • ปี 2562 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 243,705 บาทต่อคนต่อปี
  • ปี 2563 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 224,962 บาทต่อคนต่อปี
  • ปี 2564 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ประมาณ 227,000 บาทต่อคนต่อปี (ข้อมูลล่าสุดรายงานคณะรัฐมนตรี 3 พฤษภาคม 2565)
  • ปี 2565 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 244,838 บาทต่อคนต่อปี (ประมาณการ)

GDP per capita เป็นค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งหมด ซึ่งความเลื่อมล้ำก็ต้องนำไปพิจารณากันต่อกับดัชนีตัวอื่น ในที่นี้คือ สัมประสิทธิ์จีนี (อังกฤษ: Gini coefficient) หรือ Gini Index เป็นวิธีวัดการกระจายของข้อมูลทางสถิติอย่างหนึ่งที่นิยมใช้เป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวย

              การสัมมนาในหัวข้อ “หลังเว้นวรรค…เตรียมความพร้อมอย่างไร?...ให้ปลอดภัย ASF”จะจัดขึ้นครั้งต่อไป ครั้งที่ 6 ในวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่จังหวัดชัยภูมิ เป็นจังหวัดภูมิลำเนาของนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ แห่งสิทธิพันธ์ฟาร์ม(SPF) ซึ่งได้รับการประสานงานจากปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีการเลี้ยงสุกรหนาแน่นเช่นกัน โดยเบื้องต้นได้รับการตอบรับจากผู้เลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นงานอีกหนึ่งงานที่จะมีเกษตรกรให้ความสนใจอย่างล้นหลามอีกเช่นเคย

Visitors: 395,713