จัดการโรงเรือนแม่อุ้มท้องอย่างไรไม่ให้เสียโอกาส

จัดการโรงเรือนแม่อุ้มท้องอย่างไรไม่ให้เสียโอกาส

โดย หมอเซ นายสัตวแพทย์นำชัย มินะสิงห์ ที่ปรึกษาฟาร์มหมู


          ผมเขียนบทความนี้เกี่ยวกับแม่หมูในโรงเรือนอุ้มท้อง เพราะตอนนี้เข้าสู่ฝนแล้ว จึงต้องฝากเกษตรกรชาวหมูทุกท่าน โปรดดูแลเอาใจเขามาใส่ใจ ตรวจการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเรือนแม่อุ้มท้องให้เยอะๆ เป็นพิเศษนะครับ ตรวจดูว่าอุปกรณ์ต่างๆ ทำงานตรงตามค่าต่างๆ ที่เราให้ไว้หรือไม่ และเหมาะสมกับอายุ ความเป็นอยู่ของแม่สุกรอุ้มท้องในแต่ละช่วงอายุในโรงเรือนนั้นๆ หรือไม่

          ท่านเกษตรกรอย่าลืมนะครับว่า แม่หมูจะป่วยไม่ป่วย หอบไม่หอบ กลับสัดหลังผสมหรือไม่ กลับสัด ลูกจะดกหรือไม่ดก การผสมติดตามเปอร์เซ็นต์ที่เราตั้งไว้หรือไม่ เป็นมัมมี่หรือไม่ ตายตัวขาว ไม่ตายตัวขาว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีฐานของต้นเหตุปัญหาจากโรงเรือนทั้งนั้นนะครับ

          ซึ่งโรงเรือนอุ้มท้องนี้แหละ...เราต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดนักแล ท่านคิดดูง่ายๆ สมมุติว่าถ้าเรามีกำลังผลิต 1,200 แม่ ใช้งานในฟาร์มต้องผสม แม่หมูใน 1 สัปดาห์ ที่ 5.5% ของแม่ใช้งาน นั่นคือ 66 แม่/สัปดาห์ คิดอัตราการเข้าคลอดที่ 90% ของแม่ที่ผสม/สัปดาห์ นั่นก็คือ 66 x 90%=59.4-60 แม่/สัปดาห์ ถ้าอัตราการเข้าคลอดต่ำกว่านี้เหลือแค่ 85% ต่อสัปดาห์ นั่นก็คือ 66 x 85% = 56.1 แม่/สัปดาห์ หากคิดลูกเกิดทั้งหมดเฉลี่ยต่อแม่ที่ 15 ตัว จะได้ลูกหมูทั้งหมดที่แตกต่างระหว่างการเข้าคลอด ในอัตราการเข้าคลอดที่ 85% กับ 90%  ใน 1 สัปดาห์นี้ หรือประมาณ 60 ตัว/สัปดาห์ ถ้า 1 ปี จะเสียโอกาสประมาณ 52 x 60 = 3,120 ตัว/ปี ถ้าคิดเป็นต้นทุนลูกสุกรในประสิทธิภาพลูกหย่านม/แม่ใช้งาน ที่ 30 ตัว/แม่/ปี ราคาตัวละ 1,100 บาท เราจะมีค่าเสียหายโอกาส 3,432,000 บาท/ปี (แม่หมู 3,120 ตัว x ราคา 1,100 บาท)

          ดังนั้น ถ้าแม่ใช้งานในฟาร์ม 12,000 แม่ คิดต้นทุนหย่านมที่ 30 ตัว/แม่/ปี ที่ 1,100 บาท สัปดาห์หนึ่งเสียโอกาสลูกหมูไป 600 ตัว 600 x 52 = 31,200 ตัว/ปี จะเสียโอกาส คือ 1,100 x 31,200 = 34,320,000 บาท/ปี เลยนะครับ

          ดังนั้น ฟาร์มจึงต้องคิดถึงค่าเสียโอกาสกับสุขภาพกายของแม่และลูกที่จะขึ้นคลอดให้ดี ถ้าเรายังให้ความสำคัญกับโรงเรือนอุ้มท้องน้อยไปสภาพโรงเรือน และสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะกับแม่อุ้มท้อง และยังไม่นับโรคต่างๆ ที่จะสร้างปัญหาให้แม่หมูและลูกหมูที่เกิดมาอีก ผมจึงขอแนะนำว่า โปรดดูแลเอาใจใส่โรงเรือนผสมอุ้มท้องให้ดี แล้วท่านจะเลี้ยงหมูที่สุขภาพดี เลี้ยงได้ง่ายๆ ตลอด 52 สัปดาห์ หรือ 365 วัน

          เลี้ยงหมูไม่มีคำว่า หมู หมู นะครับ ถ้าเจ้าของฟาร์มให้ความสุขดูแลสุขภาพเขาดีๆ เดี่ยวหมูเขาก็จะตอบแทนเรา ดังนั้น ผมจึงต้องการให้ทุกท่านที่ทำงานเกี่ยวกับฟาร์มหมูนำข้อเสนอแนะของผมนี้ไปพิจารณาดูครับ ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมไปฟาร์มหมูที่ไหนๆ ไม่ว่าจะไทย ลาว และ เวียดนาม ก็ตามในส่วนของโรงเรือนผสมอุ้มท้องแล้วผมจะย้ำให้ทุกท่านเห็นความสำคัญของอากาศอยู่สม่ำเสมอ เพราะท่านอย่าลืมนะครับ ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นไม่ว่าคนเราหรือสัตว์ต่างๆ แล้วขาดอะไรส่งผลกระทบต่อชีวิตจริงตายเร็วสุดครับผม เราคิดได้คิดออกเราต้องทำสิ่งนั้นให้หมูเราก่อนครับ

          อย่าลืมนะครับว่า “แม่สุกรที่ใช้ผลิตสุกรขุนในประเทศเรา ปู่ย่าทวดเขามาจากที่ไหน มาจากประเทศที่มีภูมิประเทศภูมิอากาศเช่นไร เราควรทำสิ่งนั้นให้เหมาะสมกับในประเทศไทย และประเทศแถบเพื่อนบ้านเรา เพื่อให้หมูพร้อมที่จะสร้างผลงานผลผลิตให้ได้เต็มศักยภาพของสายพันธุ์นั้นๆ

          ผมจึงต้องการให้ฟาร์มหันมาพิจารณาตรงจุดนี้กันให้มากๆ เพราะผมไปฟาร์มหมูไหนๆ ก็จะพบคำถามเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้เยอะครับผม   เราให้แม่หมูเขาอากาศดี นอนสบาย กินดี น้ำดี เลี้ยงดี สุขภาพก็ดี ไม่นานแม่หมูเขาตอบแทนก็ดี คือลูกดกดี ผสมติดดี เลี้ยงลูกดี

          ส่วนตัวผมในฐานะที่ทำงานในส่วนงานภาคปฏิบัติเป็นที่ปรึกษาฟาร์ม ผมขอขอบพระคุณทีมงานฟาร์มทุกภาคการผลิตการเลี้ยงการจัดการฟาร์มหมูทุกส่วน  ที่ช่วยกันพัฒนาเอาใจใส่งานในการดูแลระบบการเลี้ยงการจัดการฟาร์มสุกร แล้วยังสามารถรักษามาตรฐานการเลี้ยงการจัดการได้ตามคำแนะนำมาโดยตลอด สามารถนำประสิทธิภาพศักยภาพทางสายพันธุ์ที่มาจากเขตภูมิภาคเย็นแห้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเหมาะสมตามภูมิภาคเขตการเลี้ยงร้อนชื้นสูงเช่นบ้านเราได้  ซึ่งสามารถให้ลูกเกิดทั้งหมดเฉลี่ย 16.9 ตัว/รอบ/แม่คลอด

          ได้...โปรดจงรักษามาตรฐานการเลี้ยงหมูเช่นนี้ต่อไปครับ ด้วยฝีมือทีมงานของเราคนไทยเราฝีมือคนไทยเราจะได้พิสูจน์ให้คนทั่วโลกเห็นว่า ลูกสุกรหย่า/แม่ใช้งาน/ปี  ได้จำนวนที่ 33-35 ตัว น้ำหนักหย่านม 6.5-7.0 กิโลกรัม/ตัว ที่อายุ 21-23 วัน หย่านมในฟาร์มขนาด 5,000 แม่พันธุ์ขึ้นไป คนไทยเราก็สามารถทำได้ไม่ต้องไปดูงานในประเทศเดนมาร์ก อเมริกา แคนาดา หรือประเทศอื่นในยุโรปก็ได้

          ขอบพระคุณครับผม จากใจหมอเซ นายสัตวแพทย์นำชัย มินะสิงห์ ที่ปรึกษาฟาร์มหมู ลูกข้าวเหนียวเสี่ยวพเนจรจากลุ่มน้ำโขงเมืองหนองคาย โทร.081-7897888

ขอขอบพระคุณ : สาสน์ไก่ & สุกร ปีที่ 19 ฉบับที่ 218 เดือนกรกฎาคม 2564 หน้า 53-54

 

Visitors: 396,319