ผู้เลี้ยงสุกรไทยจัดงานขอบคุณรัฐบาล หลังผนึกกำลังป้องกันโรค ASF ในสุกร กับ กรมปศุสัตว์มากว่า 2 ปี โดยไทยยังคงสถานะปลอดการระบาด

ผู้เลี้ยงสุกรไทยจัดงานขอบคุณรัฐบาล หลังผนึกกำลังป้องกันโรค ASF ในสุกร กับ กรมปศุสัตว์มากว่า 2 ปี โดยไทยยังคงสถานะปลอดการระบาด

24 ธันวาคม 2563 ร.ร.สุโกศล กรุงเทพฯ - กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรไทยจัดงานขอบคุณภาครัฐเอกชนตลอด 2 ปี ร่วมกันรับมือโรค ASF ในสุกร สร้างการส่งออกหมูไทยเติบโตก้าวกระโดดทั้งสุกรขุน สุกรพันธุ์และเนื้อสุกรแปรรูป

            การจัดงานในครั้งนี้ใช้ชื่องานว่า งานแสดงความขอบคุณและเป็นกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงานที่ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มแข็งต่อไป” จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 13.00 น. ณ โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร โดยในงานจะมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน อธิบดีกรมปศุสัตว์พร้อมผู้บริหารและผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผู้บริหารกลุ่มบริษัทเกษตรครบวงจรที่สนับสนุนเงินทุนสำหรับทุกกิจกรรมในการเฝ้าระวังป้องกันโรค ASF ในสุกร นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ

            จากอดีตจนถึงปัจจุบัน การเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพเกษตรปศุสัตว์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทย ที่มีความแน่นอนของผลผลิต เกิดการสร้างอุปสงค์ให้กับห่วงโซ่ต่อเนื่องที่ในกลุ่มของผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นพืชอาหารสัตว์ของไทย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ผลพลอยได้จากข้าว เช่น ปลายข้าว รำข้าว ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการเป็นอาหารโปรตีนหลักของคนในชาติ อุตสาหกรรมสุกรยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมแล้วกว่าสองแสนล้านบาทต่อปี

            ปี 2563 การเลี้ยงสุกรของไทยมีผลผลิตประมาณ 22 ล้านตัว มีระบบฟาร์มมาตรฐาน หรือ GAP“การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี”(Good Agricultural Practices)สำหรับฟาร์มเชิงพาณิชย์ และมาตรฐานฟาร์มรายย่อย หรือ GFM “ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม” (GOOD FARMING MANAGEMENT) โดยมีจำนวนผู้ประกอบการฟาร์มสุกรครบวงจรและเกษตรกรรายย่อยทั้งประเทศร่วม 200,000 ฟาร์ม ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศชาติโดยรวม

            จุดเริ่มต้นของการร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันโรค ASF ในสุกรเกิดขึ้นหลังช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2561รัฐบาลกลางของจีนได้มีการประกาศการระบาดของโรค ASF ในสุกรอย่างเป็นทางการ ที่ฟาร์มสุกรแห่งหนึ่งในเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งเป็นการระบาดครั้งแรกของโรค ASF ในสุกรที่ระบาดสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน  และ เอเชียตะวันออกหลังจากนั้นได้มีการกระจายตัวไปยังเมืองและมณฑลอื่นๆ อย่างรวดเร็ว

            กรมปศุสัตว์ ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในสุกรในสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างใกล้ชิด โดยมีการประชุมด่วนครั้งสำคัญในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งได้เชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์แพทย์ชั้นนำของประเทศ จากสถาบันการศึกษา  บริษัทเกษตรครบวงจร  สมาคม และผู้ประกอบการในวงการสุกร เพื่อร่วมหารือแนวทางป้องกัน จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติ และการให้ความรู้เรื่องโรค การเฝ้าระวังและการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์ม พร้อมทั้งแนวทางเฝ้าระวังป้องกันของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ

            ในช่วงเวลาดังกล่าวสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค บริษัทเกษตรครบวงจร และผู้ค้าเวชภัณฑ์ต่างกระจายการจัดสัมมนาในประเด็นความรู้เรื่องโรค ASF ในสุกร มาตรการป้องกันในระดับฟาร์มที่เป็นเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อไม่ให้เข้าสู่ฟาร์มอย่างเด็ดขาด 

            สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยังเป็นผู้สนับสนุนหลักของงานสัมมนาระดับนานาชาติในแถบภูมิภาค โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการปศุสัตว์จาก กัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ และเวียดนาม ในงาน Seminar On African Swine Fever Risk Preparedness โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์และความเสี่ยงของโรค ASF ในสุกร ที่มีต่อประเทศในแถบภูมิภาค สร้างเครือข่ายและความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันการเกิดโรค  โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในขณะนั้นได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือดำเนินงานการควบคุมป้องกันและเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรร่วมกันให้กับ กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยร่วมมือในเรื่องของการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานการทำลายสุกรซากสุกรที่ติดโรค ASF ในสุกร ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

            ภาคเอกชนโดยสมาคมผู้เลี้ยงแห่งชาติที่ประกอบด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศได้ริเริ่มในการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ตามแนวบริเวณชายแดน 5 แห่ง และ 2 แห่งในภูมิภาค

            นอกจากนี้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรยังช่วยกันการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากประเทศรอบบ้าน บริเวณทุกจุดขนถ่ายสุกรขุนเพื่อการส่งออกสุกรไปประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้ปรับปรุงระบบขนถ่ายสุกรให้มีความปลอดภัย เพื่อป้องกันการนำเข้าโรคสุกรเข้าสู่ประเทศ ที่เรียกว่า “แท่นทอยหมู” ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นมาตรการที่เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นในขณะที่อีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยตามแนวชายแดน หลังกรมปศุสัตว์จึงได้ชี้แจงให้เกษตรกรรายย่อยที่ยังขาดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่ดี ให้หยุดการเลี้ยงสุกรไว้ก่อน  โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ระดมรับเงินบริจาคจากเกษตรกรทุกภาคส่วน บริษัทผู้ค้าเวชภัณฑ์ เพื่อจ่ายชดเชยให้กับเกษตรการผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยสำหรับการพักการเลี้ยง เมื่อรวมกับเงินที่ได้รับการสนับสนุนในการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมด เป็นจำนวนเงินกว่า 120 ล้านบาท 

            ตั้งแต่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแผนรับมือโรค ASF  ในสุกรเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ทั้งภาครัฐ เอกชนทุกฝ่าย ต่างระดมทั้งความคิด ระดมแรงกาย สละเวลา ระดมทุนกันหลายรอบ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงปลอดการระบาดของโรค ASF ในสุกร  นอกเหนือจากการสร้างความปลอดภัยทางอาหารให้กับผู้บริโภคในประเทศแล้ว ยังสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าจากสุกร ทั้งสุกรพันธุ์ สุกรขุนมีชีวิต เนื้อสุกรชำแหละ มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปีที่ผ่านมาจนถึงปีปัจจุบัน ที่ทุกฝ่ายยังคงต้องเดินหน้าปฏิบัติภารกิจอันหนักนี้กันต่อไป/-

Visitors: 396,451